ระดมเครือข่ายธุรกิจอาเซียน ใช้EPR ผลิตบนความรับผิดชอบ มากกว่า ‘เกมส์ธุรกิจ”

by ESGuniverse, 5 เมษายน 2567

ดับวิกฤติขยะล้น ระดมผู้ผลิตอุตฯไทยสมัครใจนำ EPR มาใช้ พร้อมร่างกฎหมายภายใน 3-5 ปีพลิกโฉมอุตสาหกรรม ด้านนักวิชาการชี้ ไทยยังตามหลัง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เผยจุดแข็งคือผู้ผลิต จุดอ่อน ผู้บริโภคปลายทางยังขาดตระหนักรู้ไม่ปรับตัว ลดพลาสติก ค้นนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ย่อยสลาย กระตุ้นผู้บริโภคเลือกใช้คู่รับผิดชอบวงจรชีวิตสินค้า และขยะ

  

 

ปัญหาการบริหารจัดการขยะและของเหลือทิ้ง เป็นปัญหาเรื้อรังของไทยที่แก้ยังไงก็ไม่มีวันหมดไป เพราะผู้ผลิตรับผิดชอบเพียงการผลิตแค่ในขอบเขตความปลอดภัยในโรงงาน ส่วนผู้ขายดูเพียงแค่ยอดขายให้ขายได้ ผู้บริโภคก็ไม่รู้ว่าการซื้อสินค้าการบริโภคราคาถูก โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ที่ห่อหุ้มสินค้าผลิตจากพลาสติกราคาถูก มีความคงทนยาวนาน ใช้เวลาย่อยสลายหลายชั่วอายุคน ขณะที่หน่วยงานภาครัฐผู้มีหน้าที่ออกกฎหมาย และผู้รับผิดชอบจัดการขยะ อย่างองค์กรปกครองท้องถิ่น ทั้งทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ยังขาดปัจจัยในการบริหารจัดการขยะที่ล้นเกินทรัพยากรที่มีจำกัด กับการเก็บค่าการจัดการขยะเพียง คนละ 20 บาท จึงไม่เพียงพอในการที่จะเข้าไปจัดการขยะภายหลังการบริโภค ทางด้านผู้บริโภค

นี่คือปัญหาที่ทุกฝ่ายทั้งผู้ผลิต ภาครัฐ องค์การบริหารส่วนปกครองท้องถิ่น และ ผู้บริโภคจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ผ่านการทำความเข้าใจในหลักการ ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ครอบคลุมตลอดทั้งชีวิตสินค้า และดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ให้สอดคล้องกันกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ทางบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยเบฟ ในฐานะผู้ผลิตสินค้าเครื่องดื่มและอาหาร ในปริมาณจำนวนมาก จึงนำหลักการ การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ครอบคลุมตลอดทั้งชีวิตวงจรผลิตภัณฑ์ หรือ EPR (Extended Producer Responsibility) มาเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ มาใช้ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์จนถึงการคำนึงถึงการใช้หลังการบริโภค ได้จัดจัดงาน C asean Forum (CaF) ในหัวข้อ "ASEAN Action Towards Circular Economy: Move Forward with Extended Producer Responsibility" เพื่อต้องการกระตุ้นให้ภาคการผลิตด้วยความรับผิดชอบ คู่ขนานกันกับการทำงานร่วมกันกับภาครัฐ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศไทย และขยายไปสู่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งภายในเวทีเสวนามีการแลกเปลี่ยนความเห็นจากเครือข่ายธุรกิจต่างๆ กว่า 300 ราย เข้ามารับฟังพร้อมนำวิทยากรชั้นนำระดับโลกเข้ามาถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงแนวคิดการบริหารจัดการ EPR จากทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้จนขยะเป็นศูนย์

สำหรับหลักการสำคัญของ EPR เป็นแนวคิดองค์รวมที่เพิ่มจาก องค์ประกอบ 3 Rs (Reduce การลดปริมาณขยะที่สร้างขึ้น, Reuse การนำกลับมาใช้ใหม่ ค้นหาวิธีใหม่ๆ ในการใช้สิ่งต่างๆ ที่แทนการถูกโยนทิ้งไป และ Recycle การเปลี่ยนสิ่งที่เก่าและไร้ประโยชน์ ให้เป็นสิ่งใหม่ที่มีประโยชน์) โดยการคิดถึงวงจรการผลิตตั้งแต่ต้นทาง

ทั้งนี้ หลักการ EPR ได้ถูกนำมาใช้แล้วในสหภาพยุโรป (EU) มีกาารกำหนดมาตรการให้ผู้ผลิตต้องเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการซากผลิตภัณฑ์และจำกัดการใช้สารอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อการรีไซเคิลตลอดทั้งชีวิตผลิตภัณฑ์ ซึ่งแนวคิดนี้ถูกขยายนำไปบริหารจัดการการผลิตทั่วโลก เพื่อลดปริมาณขยะจากอุตสาหกรรม

EPR ห่วงโซ่การผลิตบนความรับผิดชอบ

ความคิดเห็นจากดร.ไค ฮอฟแมน ( Dr. Kai Hofmann) ผู้อํานวยการโครงการ โครงงานการพัฒนาและการวัดผลการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (Advancing Sustainable Consumption and Production: SCP) ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้,องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ( GIZ Thailand) ได้ถ่ายทอดมุมมองเกี่ยวกับประสบการณ์การร่วมขับเคลื่อน EPR ให้เกิดการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืนว่า การเผยแพร่ EPR ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญคือ ภาคเอกชนก็พยายามที่จะแพร่กระจายความรู้ เพราะภาคเอกชนไทย มีความพร้อมในการเข้าไปสนับสนุนและรับผิดชอบในธุรกิจในสิ่งที่เริ่มต้นจากภาคการผลิตอย่างรับผิดชอบ โดยสร้างกระบวนการทำงานร่วมกับภาครัฐ จากในประเทศ ขยายไปสู่ภูมิภาคอาเซียน

เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เดินหน้านำ EPR มาใช้
ส่วนไทยอยู่ระยะตั้งไข่ ร่างกฎหมาย

ทั้งนี้ทุกประเทศในอาเซียน เผชิญกับปัญหาบรรจุภัณฑ์และพลาสติกคล้ายกัน แต่ละประเทศที่กระบวนการจัดการปัญหาและบริบทที่แตกต่างกัน แต่ประเทศที่นำระบบ EPR มาใช้และมีความก้าวหน้า ประเทศแรกในอาเซียนคือ เวียดนาม ต้องยอมรับว่าได้นำหน้าประเทศอื่น ๆ อยู่จริงๆ หรือประเทศฟิลิปปินส์ที่แม้ว่าจะเข้าร่วมทีหลังแต่ก็มีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว

ในส่วนของประเทศไทย มีบริบทที่แตกต่างกัน ได้มีการออกร่างพระราชบัญญัติมากมายและนี่เป็นสิ่งที่ค่อนข้างมีรายละเอียดเยอะอย่างมากในการนำไปสู่การบังคับใช้ทางกฎหมาย

จุดแข็งของประเทศไทยเป็นประเทศที่ภาคเอกชนมีการจัดระเบียบได้อย่างดีมาก และนี่เป็นข้อได้เปรียบอย่างมากของประเทศไทยที่จะเดินหน้าด้วยความร่วมมือกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แต่ต้องยอมรับว่าเกี่ยวข้องกับหลากหลายภาคส่วน และหลากหลายปัจจัย และบริบทอันซับซ้อน ที่จะหาทางออกในการวางระบบการบริหารจัดการขยะ (Waste Management)

“เป้าหมายของเราคือต้องการทำงานร่วมกันกับภาครัฐและเอกชนในการนำระบบ EPR มาใช้ในอาเซียน ซึ่งมีแนวโน้มที่มีและหลายประเทศในอาเซียนมีความก้าวหน้า โดยเฉพาะในเวียดนามเป็นผู้นำ ตามมาด้วย ฟิลิปปินส์ เริ่มมีการพัฒนาระบบแล้ว สำหรับประเทศไทย มีองค์ความรู้และมีองค์กรที่เก่งในด้านการบริหารจัดการ โดยเฉพาะภาคเอกชน ถือว่ามีความพร้อมในกระบวนการผลิต สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อคือการบริหารจัดการระบบองค์รวมการผลิตและการใช้ โดยมีภาครัฐเข้ามาสนับสนุนวางกรอบกติกา ซึ่งเป็นระบบที่มีความยุ่งเหยิงอย่างมาก ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน”

จี้ค้าปลีก แก้วิกฤติขยะ
หนึ่งเมล็ดพันธ์ุใหญ่ เพาะพลาสติกขยายตัว

ดร.ไค ได้แนะนำ วิธีการที่จะขับเคลื่อนแนวคิดการสร้างระบบ EPR ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในไทย จะต้องมีกระบวนการสนับสนุนทางการเงินให้เกิดการบริหารจัดการอย่างครบวงจร โดยการส่งเสริมผู้ประกอบการปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วยความรับผิดชอบตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ภาครัฐจะต้องมีการช่วยเหลือในต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จะช่วยสร้างกระบวนการรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งไม่ใช่เพียงผู้ผลิต แต่รวมไปถึง ผู้จัดจำหน่ายสินค้า ร้านค้าปลีก สะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า

“ไม่ใช่เพียงผู้ผลิต แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ เช่น ผู้จำหน่ายร้านค้าสะดวกซื้อ ค้าปลีกอย่างเช่น เซเว่น อีเลฟเว่น (7-11) ที่เป็นต้นทางใหญ่ (Big Seed) นำพลาสติกไปสู่ผู้บริโภค ควรจะมีบทบาทในการเข้ามาแก้ไขรับผิดชอบร่วมกัน นี่คือความหวังว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อน ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบตรงที่มีผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ และสินค้าครบวจร จึงเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือการสร้างห่วงโซ่การผลิตที่ยั่งยืน “

EPR ครบวงจร ไม่ใช่แค่ รีไซเคิล
ผู้ผลิตก้าวข้ามเกมส์ธุรกิจ
ปลายทาง ลด ละ เลิก พลาสติกใช้ครั้งเดียว

นอกจากนี้ สร้างระบบ EPR ในไทย สิ่งแรกที่ต้องปรับปรุง คือการบริหารจัดการขยะ การรีไซเคิล ที่ส่งผลทำให้เกิดขยะรั่วไหล จนกลายเป็นปัญหาขยะล้น จนเกิดพลาสติกที่ไหลลงไปสู่ท้องทะเลบริเวณอ่าวไทย ส่งผลกระทบทำลายชีวิตของสัตว์น้ำ

พื้นที่ชายหาดยังคงเต็มไปด้วยขยะพลาสติก ดังนั้นการวางระบบการจัดการขยะบนบกคือจุดเริ่มต้น ในการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขยะในท้องทะเล รวมไปถึงการสร้างความตระหนักรู้และรับผิดชอบร่วมกันให้กับทุกฝ่ายและทุกคน โดยเฉพาะผู้ผลิตโรงงานขนาดใหญ่ โดยการสร้างความไว้วางใจให้บริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ทำเพียงฉาบฉวย แต่ต้องลงมือวางระบบที่แข็งแกร่งตลอดห่วงโซ่การผลิต ร่วมกันรับผิดชอบสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ใช่ “เกมส์ทางธุรกิจ” ตลอดจนผู้บริโภคปลายทาง โดยไม่ต้องคิดถึงเพียงแค่รีไซเคิลเป็นเพียงหนึ่งในแก้ไขปัญหา

สิ่งสำคัญที่สุดคือปลายทาง(Downstream) การใช้น้อยลง (Reduction) ต้องเข้าไปแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ เริ่มจากการไม่ใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastic) ไม่ไปปรากฎในโรงอาหาร โรงเรียนอนุบาล และสถาบันการศึกษา ในพื้นที่สาธารณะ ไม่ควรใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ควรมีทางเลือกอื่นๆ เช่นขวดแก้ว หรือ การหาพลาสติกที่ย่อยสลายได้ (Compostable Plastic) พลาสติกจากพืช (Biodegradable Plastic) ที่หวังว่าจะเข้ามาช่วยลดการใช้พลาสติลงได้ แต่มันไม่ใช่เลย เราไม่สามารถแก้ปัญหาเรื้อรังจากสิ่งของเหล่านี้ได้

“สิ่งที่ผมเน้นย้ำอยู่เสมอสำคัญที่สุดคือการไม่ใช่การนำมารีไซเคิล แต่เป็นการแก้ไขปัญหาปลายทาง หาทางออกในการทำให้มีการลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ให้ออกไปจากระบบ จากแหล่งต่างๆ โรงอาหาร โรงเรียนอนุบาล สถาบันการศึกษา ไม่ควรจะมีพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งอีกต่อไป รวมไปถึงพื้นที่สาธารณะจะต้องมาตรการควบคุม โดยดึงผู้ประกอบการเจ้าของพื้นที่ โดยเน้นการวางระบบใช้บรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ที่ใช้ซ้ำได้ เช่น แก้ว หากทุกคนช่วยกันเราจะไม่คิดถึงรีไซเคิลอีกต่อไป”

พลิกโฉมวงการบรรจุภัณฑ์
หลังร่างกฎหมาย EPR มีผลใน 3-5 ปี

ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้ากลุ่มวิจัย Circular Economy for Waste-free Thailand (CEWT) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้ทำงานใกล้ชิดกับโครงการ EU SWITCH-Asia Programme กล่าวในเวทีเสวนา หัวข้อ “Promoting EPR Across ASEAN” ว่า การนำแนวคิด EPR มาใช้ในระบบการจัดการขยะในประเทศไทย เป็นต้นแบบนำไปสู่การร่างกฎหมายที่จะเข้ามาบริหารจัดการของเสีย และขยะจากอุตสาหกรรม โดยใช้จุดแข็งจากการไทยมีระบบการผลิตครบวงจรภายในประเทศ และถือเป็นมาตรฐานชั้นนำระดับโลก ที่มีความพร้อมในการวางแผนจัดการขยายขอบเขตความรับผิดชอบการผลิตไปถึงการจัดการปลายทาง จึงทำให้เกิดการพัฒนาขยายความร่วมมือผู้ผลิตร่วมมือกันรับผิดชอบจัดการของเสีย เพื่อช่วยสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปบริหารจัดการ อาทิ องค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาช่วยจัดการ ไม่ให้ของเสียและขยะไหลลงสู่ทะเล

“ประเทศไทยมีผู้ผลิตครบวงจร เป็นจุดแข็งในการเริ่มต้นวางระบบการจัดการห่วงโซ่การผลิต ที่จะนำไปสู่การขยายขอบเขตไปสู่ปลายน้ำ ไม่ให้กลายเป็นขยะ อย่างเช่น พลาสติก ควรหาวิธีการพัฒนาการผลิต เพราะพลาสติกเป็น วัสดุที่มีคุณสมบัติดีมาก มีความคงทน ต้นทุนต่ำ แต่ผลิตมาเพื่อใช่ไม่กี่นาที แล้วโยนทิ้ง ใช้เวลาย่อยสลายเป็นเวลา 500 ปี กระบวนจัดการตรงนี้ ไม่มีใครต้องมาจ่ายและรับผิดชอบ เป็นต้นทุนการจัดการมหาศาล EPR จะนำไปสู่การร่างกฎหมายหาผู้รับผิดชอบจัดการของเสีย ทุกภาคส่วน จะต้องมีต้นทุนจ่ายให้กับการจัดการขยะพร้อมกันกับพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยจัดการ รวมไปถึงมีมาตรการเป็นกฎหมายในการนำ 3R(Reduce -Reuse-Recycle) มาใช้”

สำหรับแนวทางการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับEPR มีการร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการเข้าไปศึกษาในรายละเอียด เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทำงานบูรณาการร่วมกันอย่างครบวงจร ที่จะก่อให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ ที่เข้ามาช่วยจัดการพลาสติก ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยการคิดค้นการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ รีไซเคิล สร้างมูลค่าสินค้า

EPR ในไทย อยู่ระดับสมัครใจ ต่ำกว่า 50%

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มีการพัฒนาระบบEPR มาใช้ในแบบภาคสมัครใจสัดส่วนต่ำกว่า 50% ก่อนที่จะมีกฎหมายเข้ามาในการกำกับดูแลให้ทุกภาคส่วน ขยายขอบเขตไปสู่การปฏิบัติ

“เวียดนามและฟิลิปปินส์ค่อนข้างแอคทีฟ ในการนำกฎหมายEPR มาใช้ แต่ไทย ยังอยู่ในขั้นตอนทดลอง จึงยังอยู่ระดับสมัครใจ โดยเอกชนร่วมมือนำร่องกันเอง แต่คาดว่าเมื่อนำกฎหมายมาบังคับใช้อย่างจริงจัง จะมีความคืบหน้า และเปลี่ยนตลาด รวมถึงปรับพฤติกรรมของคนอย่างรวดเร็วภายใน 3-5 ปี “

EPR จุดพลิกปรับพฤติกรรมคนไทย
พกแก้ว ภาชนะซื้อก่อนบริโภค

เขามองว่า ภายใน 3-5 ปี ช่วงระหว่างนำกฎหมายมาบังคับใช้ ในประเทศไทย จะเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน จากพฤติกรรม และการผลิต การตลาดแบบเดิม ซึ่งในไม่ช้า เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมาย จะทำให้ทุกฝ่ายรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ที่ทุกคนใช้ ยกอย่างชัดเจน คือการใช้พลาสติก บรรจุภัณฑ์ในแต่ละวัน อย่าง แก้วกาแฟ และการซื้อกับข้าวแกงถุง ทุกคนจะเริ่มพกภาชนะไปใส่อาหาร ไม่เช่นนั้นจะมีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบการบริหารจัดการขยะร่วมกัน

“เมื่อกฎหมายบังคับใช้จะเริ่มเห็นแรงจูงใจ ให้คนเอากระบอกน้ําเอาบรรจุภัณฑ์ไปใช้ซ้ำ เช่น แก้วกาแฟ แกงถุง เครื่องปรุงต่างๆ ที่ใช้ทุกวัน ทุกคนจะเริ่มเลิกใช้แก้วใช้ครั้งเดียวทิ้ง จึงต้องมีเงินบางส่วนที่ถูกกันไว้เพื่อเอาไปสนับสนุนการเก็บกลับมารีไซเคิลไม่ใช่ทิ้งออกไปให้กลายเป็นขยะอยู่ในหลุมฝังกลบหรือลงไปอยู่ที่ทะเล กฎหมายจะช่วยปรับพฤติกรรมผู้บริโภคและผู้ผลิตให้เกิดการสร้างวงจรการบริโภคยั่งยืนขึ้น เกิดการหมุนเวียนการใช้บรรจุภัณฑ์มากขึ้น ส่วนหนึ่งของ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)"

วางระบบEPR
ก้าวข้ามความท้าทาย
วิกฤติทรัพยากร


“คุณต้องใจ ธนะชานันท์” กรรมการผู้จัดการ ซี อาเซียน กล่าวว่า EPR มีผลต่อการนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในอาเซียน เช่น การบริหารจัดการของเสียและการลดลงของทรัพยากรอย่างรวดเร็ว จึงต้องสร้างความร่วมมือ ทำให้เกิดผู้บุกเบิกการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย ให้เกิดความร่วมมือกันอย่างเต็มกำลังเพื่อผลักดันหลักการ EPR และบทเรียนต่าง ๆ ไปสู่นโยบายระดับประเทศ สู่มาตรฐานอุตสาหกรรม และสู่โครงการในระดับชุมชน
“ปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศกำลังพิจารณาถึงการนำหลัก EPR มาใช้ตามบริบทของตัวเอง การแบ่งปันประสบการณ์จะช่วยผลักดัน EPR ให้ใช้ได้จริงและเกิดผลสัมฤทธิ์ ในขณะที่หลายประเทศกำลังผลักดัน”

ทางด้าน คุณปฏิญญา ศิลสุภดล รองเลขาธิการและคณะกรรมการบริหารสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า EPR คือ หลักการเพื่อให้ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ของตนร่วมกันตลอดห่วงโซ่ ในประเทศไทยเราไม่ได้โฟกัสอยู่ที่การเก็บกลับบรรจุภัณฑ์เท่านั้น แต่คำนึงตั้งแต่การออกแบบ การสื่อสารกับผู้บริโภคเกี่ยวกับการจัดการบรรจุภัณฑ์หลังใช้งาน ระบบการรวบรวมเพื่อคัดแยกและนำบรรจุภัณฑ์กลับมารีไซเคิล

ในปัจจุบันภาครัฐกำลังขับเคลื่อนเรื่องกฎหมาย EPR โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมกันสร้างระบบเก็บกลับที่มีประสิทธิภาพ ถ้าเรามีกรอบกฎหมาย EPR ที่ชัดเจน จะทำให้เห็นผลว่า การเก็บกลับอย่างมีประสิทธิภาพ ได้วัสดุที่มีคุณภาพเข้าระบบ ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตลดลง

“หากไม่มีระบบที่ดี อนาคตเราอาจจะไม่มีวัตถุดิบกลับมาใช้ อาจจะต้องเสียภาษีหรือค่ากำจัด ค่าจัดการบางอย่าง ดังนั้นเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน EPR คือหลักการที่จะทำให้ภาคเอกชนเข้ามาทำงานร่วมกันและสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นครับ”

หลักการ EPR คืออะไร?

เป็นเครื่องมือที่ขยายความรับผิดชอบไปยังภาคการผลิตผ่านวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ โดยหลักการ EPR มีส่วนในการช่วยให้ผู้ผลิตเกิดความตระหนักต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลักการ EPR นั้นมักถูกขับเคลื่อนผ่านตัวกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ผลิตออกมาใช้ระบบเรียกคืน (Take-back system) ในการเรียกคืนขยะบรรจุภัณฑ์หรือซากผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นหลังการบริโภค เพื่อช่วยในการบริหารจัดการขยะ รวมถึงช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลท้องถิ่นที่ต้องจัดการขยะบรรจุภัณฑ์และซากผลิตภัณฑ์อีกหลายชนิด

โดย EPR นั้นมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ผ่านรายงานของ Thomas Lindhqvist และ Professor Karl Lidgren ที่ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ต่อกระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศสวีเดน

สำหรับประเทศไทยมีการพูดถึงประเด็น EPR มาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ที่รัฐบาลยุโรปกำหนดให้ผู้ผลิตต้องเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการซากผลิตภัณฑ์และจำกัดการใช้สารอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อการรีไซเคิล ซึ่งไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตสินค้าออกสู่ยุโรป เลยกลัวว่าหากไม่ดำเนินนโยบายตามก็อาจส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจได้ จึงทำให้รัฐบาลไทย ณ ขณะนั้น สนใจที่จะนำหลักการ EPR มายก ร่างกฎหมายสำหรับซากผลิตภัณฑ์ที่จัดการได้ยากในประเทศไทย

หลักการ EPR ตามแนวทางของ Lindhqvist มีเป้าหมายที่สำคัญอยู่ 3 ประการ ได้แก่

     1. สร้างระบบการรวบรวมและเก็บขนซากผลิตภัณฑ์หรือขยะบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดการทิ้งขยะอย่างไม่เป็นที่เป็นทาง
     2. เพิ่มสัดส่วนการนำวัสดุจากซากผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ ทั้งโดยการใช้ซ้ำ (Reuse) รีไซเคิล (Recycle) และการแปลงเป็นพลังงาน (Energy Recovery)
     3. สร้างแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลอดทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์
ด้วยการพัฒนาของภาครัฐที่พยายามจะทำงานภายใต้ระบบกฏหมาย (Legislative Systems) ที่มีข้อบัญญัติด้วย EPR


source: https://www.seub.or.th/bloging/news/extended-producer-responsibility/