เมืองเก่าสุโขทัย ติดอันดับสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพพร้อมกระจายรายได้สู่ชีวิตคนท้องถิ่น

by ESGuniverse, 6 เมษายน 2567

เมืองสุโขทัย ได้รับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ๑๐๐ แห่งของโลก (Green Destinations Top 100) จากการผนวกกลไกมาตรฐานสากล ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อปกป้องแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria, GSTC)

 

สุโขทัย เป็นต้นแบบในการจัดการปัญหาสถานที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการจัดการสัตว์รุกรานแหล่งท่องเที่ยว อาทิ ปลาดุกรัสเซีย และจัดหาแหล่งอาศัยให้นกยางอพยพออกจากพื้นที่ โดยไม่กระทบและเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ คงคุณค่าความเป็น “เมืองเก่า สุโขทัย” มรดกสืบทอดภูมิปัญญา อารยธรรมสืบต่อให้คนรุ่นหลังได้ภาคภูมิใจเมื่อได้มาเยือนแหล่งท่องเที่ยวในเวทีโลก

  

 

ด้วยความหมายของเมืองสุโขทัย “รุ่งอรุณแห่งความสุข” มนต์เสน่ห์อัตลักษณ์ประจำถิ่นของคนสุโขทัย ที่แสดงออกทางการต้อนผ่านรอยยิ้ม ความมีอัธยาศัยไมตรี ของคนท้องถิ่น ได้เป็น พลังอ่อนนุ่ม (Soft Power) ของ จ.สุโขทัย

ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้เปิดเผยถึง การสร้างคุณค่าแห่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของไทยอย่างสุโขทัย ควบคู่กับเทรนด์การท่องเที่ยวยั่งยืน ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิกฤติภาวะโลกร้อน ว่า จ.สุโขทัย ถูกยกให้เป็นต้นแบบจุดหมายปลายทาง การท่องเที่ยวระดับโลก การันตีด้วยรางวัล “Green Destinations Top 100 Stories” หรือรางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ๑๐๐ แห่งของโลก การตัดสินมีการพิจารณาองค์ประกอบด้านความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria, GSTC) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และมีเป้าหมายพันธสัญญาสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จะต้องขับเคลื่อนการพัฒนายั่งยืน 17 ข้อ ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ.2573)

“ แผนงานที่ อพท.เข้าไปส่งเสริมและแก้ไขปัญหา เริ่มต้นจากการวิจัยพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ พบว่า มีความเสี่ยงต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวในระยะยาว เพราะมีการขยายพันธุ์ปลาดุกรัสเซีย จนกลายเป็นปัญหาทำลายตลิ่งสระน้ำวัดตระพังทอง และทำลายระบบนิเวศดั้งเดิมของแหล่งน้ำ จึงได้ร่วมจัดเวทีประชาคมสร้างการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่”

โดยให้ผู้เชี่ยวชาญนำเสนอประเด็นปัญหาของปลาดุกรัสเซียให้กับพระสงฆ์ คณะกรรมการวัด และประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบได้รับรู้และเข้าใจ ตลอดจนรับคำแนะนำองค์ความรู้ด้านการจัดการประมงที่ดี เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา

ปรับทัศนียภาพ สระน้ำโบราณ
ตลาดนัดรถไส กระจายรายได้สู่ชุมชน

พร้อมประสานความร่วมมือไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย บูรณาการทั้งบุคลากรและงบประมาณในการปรับปรุงตลิ่งสระน้ำวัดตระพังทอง และย้ายปลาดุกรัสเซียออกจากสระน้ำ มีการปรับปรุงทัศนียภาพ แหล่งน้ำ พร้อมเพิ่มพันธ์ุปลาท้องถิ่น ปลูกบัว เพื่อฟื้นฟูแหล่งน้ำ ส่งผลทำให้กลับมามีสภาพดีขึ้น
นอกจากนี้ได้มีการจัดทำตลาดรถไส (รถเข็นขายของโบราณ) ปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่น่าเข้าไปพักผ่อน เรียนรู้ สร้างประโยชน์ให้คนในพื้นที่โดยรอบ

“ปัจจุบันสระน้ำ วัดตระพังทอง อยู่ระหว่างการฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำและระบบนิเวศ มีการปล่อยพันธุ์ปลาท้องถิ่นและมีอาสาสมัครมาปลูกบัวท้องถิ่น เพิ่มออกซิเจนและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ทำให้ทุกคนในพื้นที่ ได้ใช้ประโยชน์พื้นที่รอบสระน้ำวัดตระพังทองที่ปรับปรุงจนมีทัศนียภาพที่สวยงาม แล้วจัดตลาดรถไส”

รอบพื้นที่สระน้ำ จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้มาค้าขายอาหารและสินค้าที่ระลึก เป็นการกระจายรายได้ให้หมุนเวียนอยู่ในท้องถิ่น เกิดเป็นรายได้ประมาณ 300,000 บาทต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 1,200,000 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้ยังมีการวางแนวทางป้องกัน การแพร่กระจายปลาดุกรัสเซีย จากวัดตระพังทอง มายังอุทยานประวัติศาสตร์ เนื่องจากแหล่งน้ำเชื่อมต่อกัน เป็นระบบการจัดการน้ำตั้งแต่ยุคสุโขทัยนั้น

่”อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ยังคงเฝ้าระวังไม่ให้มีการเพิ่มจำนวนปลาดุกรัสเซีย โดยการติดป้ายห้ามปล่อยปลาทุกชนิด และมีป้ายสื่อสาร สร้างความรู้ความเข้าใจถูกต้อง รวมถึงสื่อสารเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพในอุทยานประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับนักท่องเที่ยว ในการอยู่ร่วมกันระหว่างโบราณสถานและธรรมชาติ”

 

 

 

ใช้ภูมิปัญญา อพยพนก
โดยไม่เบียดเบียนชีวิต

อีกปัญหาที่ อพท.เข้าไปช่วยจัดการ คือ การอพยพนกยาง ที่เข้ามาอาศัยในโบราณสถานจำนวนมาก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ณ วัดสระศรี และบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีฝูงนกยางประมาณ 300-600 ตัว อพยพเข้ามาอยู่อาศัยและไม่ยอมย้ายออกไปตามฤดูกาล ทั้งยังมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี ส่งผลให้มูลนก ปกคลุมทางเดินของโบราณสถาน ใบเสมาโบราณ สร้างความเสียหายทางทัศนียภาพ
ซึ่ง อพท. ได้ดำเนินการสนับสนุนข้อมูลจากการสำรวจโดยผู้เชี่ยวชาญ จึงทราบว่านกยางชนิดนี้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองห้ามทำลายไข่และทำร้ายตัวนก อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยจึงได้ตัดแต่งกิ่งไม้ในวัดสระศรี เพื่อลดการสร้างรังวางไข่ของนกยาง

“ปัจจุบันจำนวนนกยาง ลดลงเรื่อยๆ แต่ยังต้องติดตามเฝ้าระวังต่อไป เนื่องจากลักษณะพื้นที่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีสระน้ำโบราณจำนวนมากและมีต้นไม้เยอะ ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของนก”

  

 

ปรับโฉมเมืองเก่า
ด้วยพลังศรัทธาสามัคคี

นายณัฎฐพงศ์ สุขวิสิฏฐ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เปิดเผยว่า เมืองที่ได้รับรางวัลนี้จะเป็นที่รู้จักในระดับโลก เป็นผลบวกในเชิงการตลาดซึ่ง “เมืองเก่าสุโขทัย” ได้รับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ๑๐๐ แห่งของโลก (Green Destinations Top 100 Stories) ครั้งแรกในปี 2564 และปีที่ 2 ในปี 2566 เป็นผลพวงของความสำเร็จในความสามัคคี ความร่วมมือ ร่วมใจในการวางเป้าหมายร่วมกันของหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยว ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ตามหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria, GSTC) ที่มีองค์ประกอบทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อร่วมขับเคลื่อนตอบโจทย์ในทุกมิติของการพัฒนาเมือง

จังหวัดสุโขทัยและภาคียังคงเดินหน้าบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อยกระดับสถานะความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวต่อไป โดยหวังผลการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก นำมาซึ่งการเพิ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ขณะที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมและลดผลกระทบทางลบของสิ่งแวดล้อมเอาไว้ได้อย่างยั่งยืน