มหาสงกรานต์ คลื่นมหาชนสาดน้ำชุ่มฉ่ำ เงินสะพัดเกือบ 3 พันล้าน พร้อมกับกองขยะเกือบ 200 ตัน

by ESGuniverse, 16 เมษายน 2567

ปิดฉากความภาคภูมิใจ มรดกทางวัฒนธรรมไทยอวดสายตาก้าวสู่มรดกโลก งานเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 2567 คลื่นมหาชนร่วมสาดน้ำชุ่มฉ่ำกว่า 7.8 แสนคน เงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจกว่า 2.8 พันล้านบาท หลังม่านความสนุกสนานบันเทิง กลับพบขยะถูกทิ้งในสีลม และถนนข้าวสารกว่า 200 ตัน 

 

เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” เทศกาล ประเพณี สาดน้ำ สาดความสุขสนุกสนานอย่างไทย ไม่ได้มีเพียงคนไทยเท่านั้นที่ชื่นชมความภาคภูมิใจมรดกทางวัฒนธรรมของไทย เพราะองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้”สงกรานต์ในประเทศไทย" เป็นรายการในบัญชีมรดกทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ถือเป็นหนึ่งในมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้ ในปลายปี 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาล จึงนำเอาจุดแข็งตรงนี้มาเสริมทัพ พลังอ่อนนุ่ม (Soft Power)ของไทย จัดงานเฉลิมฉลอง เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ ปี 2567 สร้างเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้าไทยร่วมสนุกสนานประเพณีอันดีงามของไทย จนนับเป็นปีที่ได้รับการตอบรับสูงสุดในรอบ 5 ปี

 

 

 

รัฐบาลปลาบปลื้ม นักท่องเที่ยวแห่เที่ยวกท.ชั้นใน
7.8 แสนคน เงินสะพัด 2,800 ล้านบาท
โฆษกรัฐบาลขอบคุณคนไทยที่เป็นเจ้าภาพอย่างดี

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยตัวเลขผลสำเร็จจากการจัดงาน เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 2567  ระหว่างวันที่ 11 – 15 เมษายน 2567 บริเวณถนนราชดำเนินกลางและพื้นที่ท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นบริเวณกรุงเทพชั้นใน โดยข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่ามีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมงานถึง 785,000 คน มียอดขายร้านค้าภายในงาน รวม 9,334,335 บาท สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแล้วถึง 2,886.82 ล้านบาท 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยผลการจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่พึงพอใจ

 

 

 

"รัฐบาลชื่นชมความร่วมมือในการจัดงาน เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 2567 ขอบคุณทุกความร่วมมือที่ช่วยกันจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ และขอบคุณมิตรไมตรี ที่คนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดีในกิจกรรมวันสงกรานต์ 2567 ทั่วประเทศไทย เชื่อว่าความทรงจำ ที่เกิดจากการร่วมงานสงกรานต์ในไทย จะทำให้นักท่องเที่ยวติดใจเสน่ห์ความเป็นไทย และอยากเข้าร่วมงานสงกรานต์ปีต่อๆ ไปที่ประเทศไทย ” นายชัย กล่าว

 

 

 

ขยะหลังงานสงกรานต์กว่า 200ตัน

อย่างไรก็ตาม ผลพวงภายหลังจาการหลั่งไหลของคลื่นมหาชน ก็ตามาด้วยขยะภายหลังการจัดงานเล่นน้ำ ในบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นใน 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามการทำความสะอาด ด้วยการระดมเจ้าหน้าที่กว่า 250 คน เข้าไปทำความสะอาด บริวณเขตพระนคร โดยเริ่มต้นจากคืนวันที่ 15 เมษายน ได้ระดมเจ้าหน้าที่ช่วยเก็บขยะ และใช้หัวฉีดแรงดันน้ำล้างทำความสะอาดบริเวณทางเท้าตลอดจนบริเวณถนนรถสัญจร เพื่อคืนพื้นที่จราจรให้สะอาดกลับเป็นปกติ หลังจบงานสงกรานต์ ณ บริเวณถนนข้าวสาร ท้องสนามหลวง และพื้นที่โดยรอบ รวมถึงย่านสีลม โดยรวมพบว่ามีขยะรวมทั้งสิ้น 195 ตัน

 

 

 

สำหรับปริมาณขยะถนนข้าวสารและพื้นที่โดยรอบรวมทั้งสิ้น 162 ตัน มีดังนี้
ถนนข้าวสาร

– วันที่ 12 เมษายน จำนวน 12 ตัน
– วันที่ 13 เมษายน จำนวน 15 ตัน
– วันที่ 14 เมษายน จำนวน 15 ตัน
-วันที่ 15 เมษายน จำนวน 16 ตัน

รวมจำนวน 58 ตัน

พื้นที่โดยรอบถนนข้าวสาร รวม 104 ตัน

-ถนนสีลม สงกรานต์ 2 วัน กว่า 33 ตัน

สงกรานต์ถนนสีลม 2 วัน ยอดปริมาณขยะ วันที่ 13 เม.ย. รวม 14,250 กก. และในวันที่ 14 เม.ย.รวม 19,260 กก. และมีนักท่องเที่ยวผู้เข้าร่วมงานวันที่ 13 เม.ย. ประมาณ 58,000 คน และ วันที่ 14 เม.ย.ประมาณ 79,000 คน

 

 

 

 

ฟื้นประเพณี ปรับวิถีรื่นเริงบนความยั่งยืน

สอดรับกับมรดกทางวัฒนธรรม: หลังจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ (ยูเนสโก) ประกาศให้เทศกาลสงกรานต์ประเพณีปีใหม่ไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว (2023) ซึ่งมีการเน้นย้ำในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของเทศกาลสงกรานต์ โดยผู้คนจำนวนมากเลือกเฉลิมฉลองตามประเพณีดังกล่าวผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ สรงน้ำพระ เล่นเกมพื้นบ้าน หรือจัดเลี้ยงสังสรรค์ภายในครอบครัว ซึ่งนอกจากแสดงออกถึงสัญลักษณ์ของการชะล้างสิ่งไม่ดีออกจากชีวิต ความโชคดี หรือความมีสัมมาคารวะแล้ว ยังส่งเสริมความสมัครสมานสามัคคีของประชาชนคนไทยอีกด้วย

ความพยายามในการอนุรักษ์น้ำ: ในช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้ง ได้มีการสนับสนุนวิธีการอนุรักษ์น้ำแบบดั้งเดิม อาทิ การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่หรือใช้ปืนฉีดน้ำขนาดเล็กในการเล่นสงกรานต์เพื่อประหยัดน้ำแทนการใช้ถังน้ำ นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หลีกเลี่ยงการเปิดก๊อกน้ำหรือสายยางทิ้งไว้

การส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม: แนวคิดดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการความรับผิดชอบในการกำจัดขยะ การรีไซเคิล และการตระหนักในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งความพยายามเหล่านี้ช่วยลดผลกระทบทางนิเวศวิทยาของเทศกาลสงกรานต์ และช่วยส่งเสริมความยั่งยืนทางวัฒนธรรม โดยสามารถสร้างแคมเปญง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หากมีการซื้ออาหารหรือเครื่องดื่ม ผู้บริโภคนำหลอด ช้อนส้อม กล่อง และถุงที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เอง ขณะเดียวกัน ผู้ขายสามารถช่วยส่งเสริมในเรื่องนี้ด้วยการใช้ภาชนะที่นำกลับมาใช้ใหม่หรือภาชนะที่สามารถรีไซเคิลได้ เพื่อช่วยลดขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นจำนวนมาก

 

 

 

ทางกทม. ต้องเผชิญศึกหนักรับมือกับการบริหารจัดการขยะกองขยะมหึมา ที่จะต้องระดมเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ภายหลังจบกิจกรรมความสนุกสนานของคลื่นมหาชน เริ่มต้นจากการจัดวางถังคัดแยกขยะ ต่อมาก็ระดมเจ้าหน้าที่ไปกวาดขยะมากองรวมกัน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะคัดแยกประเภทขยะให้เหมาะสม ให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียวเป็นการลดมลพิษจากขยะ

จากข้อมูลของ กรุงเทพมหานคร พบว่า เขตที่มีกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เช่น ถนนข้าวสาร สร้างขยะประมาณ 5 ตันต่อวัน ขณะที่ถนนสีลม สร้างขยะมากกว่าเป็น 2 เท่า ขยะที่พบส่วนใหญ่ในเขตกิจกรรมดังกล่าว เช่น ขวดพลาสติก ถ้วยพลาสติก บรรจุภัณฑ์อาหาร เป็นต้น

การส่งเสริมการคัดแยกเศษอาหารและขยะอินทรีย์ ออกจากขยะชนิดอื่นๆ จะทำให้การปนเปื้อนของขยะลดลง สามารถจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดเวลาและทรัพยากร ในการคัดแยกโดยการใช้คนและทำให้ขยะแห้ง ส่งผลให้ขยะที่คัดแยกได้มีคุณภาพที่เหมาะสมในการนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือนำไปใช้เป็นพลังงานหรือเชื้อเพลิงขยะต่อไป

 

 

 

นอกจากวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ควรมีการเก็บรวบรวมและส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลอย่างถูกต้องแล้ว ขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ โดยเฉพาะขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง สามารถนำไปกำจัดอย่างเหมาะสมก่อนเข้าบ่อขยะหรือจุดฝังกลบ การเปลี่ยนเป็นพลังงานเชื้อเพลิงขยะ (RDF) สามารถเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกสําหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เตาเผาปูนซีเมนต์ เป็นต้น

สรุปแล้ว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นอกจากจะขอให้รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามนี้แล้ว เราจะมุ่งมั่นให้เทศกาลสงกรานต์ เป็นเทศกาลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยการตอบรับแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน และการรักษามรดกทางวัฒนธรรม เพื่อให้เรามั่นใจได้ว่า ในรุ่นต่อ ๆ ไป เทศกาลสงกรานต์จะยังคงได้เฉลิมฉลองพร้อมๆ กับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติอันยั่งยืนสืบไป

ภาพความประทับใจจากงานสงกรานต์ 2567

 

เด็กน้อยพลัดหลงจากพ่อ เจ้าหน้าที่ช่วยตามหาจนมาเจอกัน นักท่องเที่ยวขอบคุณน้ำใจคนไทย

เด็กน้อยพลัดหลงจากพ่อ เจ้าหน้าที่ช่วยตามหาจนมาเจอกัน นักท่องเที่ยวขอบคุณน้ำใจคนไทย

 

 

 

 

 

 

 

 

ขอบคุณภาพจากทวิตเตอร์