ส.อ.ท.ยื่นแนวทางคลี่ปมโรงงาน ซุกแคดเมียมบานปลาย จัดระบบโรงงานกำจัดสารพิษ เดินสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

by ESGuniverse, 17 เมษายน 2567

ส.อ.ท.เสนอแก้ไขปัญหา โรงงานกำจัดสารพิษซุกแคดเมียม และสังกะสี แนะจัดทำระบบโรงงานกำจัดสารพิษมาตรฐาน วิธียั่งยืนที่สุดคือการยกระดับกระบวนการจัดการสารพิษสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน แปลงสารพิษเป็นวัตถุดิบ

 

หลังจากข่าวการค้นพบการขนย้ายแร่ธาตุอันตราย แคดเมียม ทำให้คนไทยตื่นตระหนก กับการขนไปยังพื้นที่จ.ตาก เพราะเป็นแร่ธาตุโลหะหนัก ที่เป็นอันตรายต่อการเกิดโรคได้อย่างเฉียบพลันเมื่อเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะมะเร็ง โรคไต และโรคทางกระดูก

บ่อยครั้งที่เกิดความหละหลวมต่อการบริหารจัดการสารพิษเป็นอันตราย โดยที่ขาดความรับผิดชอบ ที่มีโอกาสส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน เพราะนักธุรกิจที่ขาดธรรมาภิบาล ขาดความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้กระทำ แทนกำจัดมีการขนย้ายไปขายต่อ เพราะมุ่งคิดถึงเพียงผลการทำกำไรจากการขายโลหะหนักที่นำไปผลิต เป็นแบตเตอรี่ได้ แต่ต้องมีการจัดการอย่างถูกวิธีมีมาตรฐานระดับสากล ต้องทำให้แคดเมียม กลายเป็นก้อนบริสุทธิ์ก่อน

 

 

เปิดประเด็นปัญหา

ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จึงได้สรุปประเด็นปัญหา พร้อมกันกับข้อเสนอการแก้ไขปัญหา และหาทางออก กับปัญหากากแคดเมียมได้อย่างยั่งยืน ดังนี้

     1. โรงงานถลุงแร่สังกะสีและแคดเมียม จังหวัดตาก เป็นผู้ก่อกำเนิดของเสีย และมีภาระความรับผิดตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมปี 2566 จากการดำเนินการดังนี้

     -โรงงานได้ขออนุญาตให้นำของเสียออกนอกโรงงานและอุตสาหกรรมในพื้นที่นั้น เพื่อการจัดการของเสียอย่างเหมาะสม
     -การขนส่งกากแคดเมียมจากโรงงานถลุงแร่สังกะสีและแคดเมียม ในจ.ตากที่ขุดขึ้นมาจากหลุมฝังกลบกากอันตรายของโรงงานต้นทาง ไปยังโรงงานที่ได้รับอนุญาตหลอมหล่ออลูมิเนียมในจังหวัดสมุทรสาคร 106 ที่ ซึ่งเป็นผู้รับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการเพื่อการจัดการของเสียอย่างเหมาะสม โดยจำนวนกากที่ถูกขนส่งมีจำนวน 13,xxx ตัน
การการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment - EIA) ได้รับจากโรงงานถลุงแร่สังกะสีในจังหวัดตาก มีการระบุว่ากากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอันตราย และควรถูกฝังกลบแบบถาวรตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

ยกระดับโรงงานจัดการขยะ
มีธรรมาภิบาล จัดการตามหลักสากล

     2. โรงงานประเภท 106 ผู้รับบำบัดจำกัด และโรงงานประเภท 60 ทำหน้าที่รับหลอมหล่ออลูมิเนียม ในจ.สมุทรสาครได้เป็นจุดโฟกัสในการจัดการของเสียและการดำเนินการตามกฎหมาย

     2.1 ในปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมต้องอนุญาตมีการจัดการกากของเสียฯ และต้องทำปรับสมดุลมวลสาร (Mass Balance) เพื่อป้องกันการสูญหายจากกระบวนการรีไซเคิล ต้องมีระบบรายงานที่ทันเหตุการณ์มากกว่าระบบที่ดำเนินการในที่ตั้ง (offline)
     2.2 ร้านค้าของเก่าไม่สามารถรับของเสียอันตรายจาก โรงงาน 106 ได้ตามกฏหมาย ต้องมีการสื่อสารและการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับของเสียอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับร้านค้าของเก่าที่อาจไม่มีความรู้เกี่ยวกับการจัดการกากของเสียอย่างถูกต้อง การสื่อสารและการดูแลเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความตระหนักและความเข้าใจในมากยิ่งขึ้น
     2.3 นักลงทุนต่างประเทศที่นำกากของเสียไปหลอมหรือส่งออกไปในช่องทางที่ไม่ถูกต้อง จำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันการกลายเป็นต้นเหตุของปัญหาหลายอย่างนอกจากเรื่อง กากแคดเมียม ที่เป็นที่รู้จักในปัจจุบัน การดำเนินการที่เข้มงวดนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในอนาคต รวมทั้งเป็นปลายทางให้กับร้านค้าของเก่าในข้อ 2.2
     2.4 ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชนและภาครัฐทุกระดับตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ต้องตระหนักและยึดหลัก “การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance: CG)” ในการปฎิบัติงานที่มีความใสสะอาดตรวจสอบได้ และต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เป็นธรรม เพื่อสามารถติดตามเส้นทางและป้องกันการสูญหายระหว่างทาง และสามารถควบคุมผลกระทบที่อาจจะมีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้มีประสิทธิภาพขึ้น

     3. มาตรการของ ส.อ.ท. เพื่อป้องกันปัญหาระยะยาว

จากบทเรียนนี้ประเด็นสำคัญ คือ โรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม (Waste Generator–WG) มีภาระความรับผิดในระยะยาวตามกฎหมาย ดังนั้น จึงต้องเลือกผู้รับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม (Waste Processor–WP) ที่น่าเชื่อถือและมีระบบการจัดการที่ได้มาตรฐาน

 

 

ส.อ.ท.จับมือ กนอ.
หนุนโรงงานจัดการขยะสู่ระบบ 80% ในปี 2568


     3.1 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยการกำหนดมาตรฐานและการมอบตราสัญลักษณ์ Eco Factory for Waste Processor เพื่อช่วยให้ผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรมสามารถแยกแยะระหว่างผู้ประกอบการโรงงานรับบำบัดกำจัดและรีไซเคิลของเสียที่มีคุณภาพและไม่มีคุณภาพออกจากกันได้อย่างชัดเจน

โรงงานรับบำบัดกำจัดและรีไซเคิลของเสียที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor จำนวน 16 แห่งแล้ว และยังมีการเตรียมขอการรับรองอีก 16 แห่ง
โรงงาน 101, 105 และ 106 จะเข้าระบบนี้ภายในปี 2568 ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของโรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมและโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (จำนวน 76 แห่ง) อีกทั้งจะเข้าสู่ระบบนี้ทั้งหมด ซึ่งเกินกว่า 80% ของผู้ให้บริการบำบัดกำจัดและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมในตลาดปัจจุบันทำใหัโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียสามารถคัดเลือกเป็นผู้รับบำบัดกำจัดและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพได้ง่ายขึ้น และช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้มาก

 

 

ยก 4 ธุรกิจบิ๊กเนม
ต้นแบบจัดการขยะมาตรฐาน

ส.อ.ท. และกนอ. ได้เชิญชวนบริษัทชั้นนำในประเทศไทย 4 องค์กร (SCGC, IRPC, PTTGC, TCMA) และสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมในส.อ.ท. ร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการสนับสนุนการใช้บริการ Waste Processer ที่ได้รับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor เพื่อสอดคล้องกับนโยบายการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Supply Chain)

     3.2 การรวมกลุ่มธุรกิจสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยเข้าสู่สมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อสร้างศูนย์การพัฒนา สื่อสาร ส่งเสริม และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
โรงงานประเภท 101, 105 และ 106 มีความอ่อนไหวต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน จึงจำเป็นต้องมีศูนย์กลางที่รวมการพัฒนา สื่อสาร และการส่งเสริม พร้อมกับการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในด้านต่างๆ

ทั้งนี้ ส.อ.ท. มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางในเรื่องนี้ เพื่อลดภาระการกำกับดูแลของภาครัฐลงได้ และยังมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ จัดการการผลิตควบคู่กับ สิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องตามกฎหมายและมาตรการต่างๆของภาครัฐ

 

 

พัฒนาวงจรเศรษฐกิจหมุนเวียน
ปิดจบ ปัญหาซุกซ่อนขยะมีพิษไม่เป็นระบบ

     3.3 การผลักดันให้เกิดการนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้าสู่การปฏิบัติจริงๆ กำลังเป็นที่สนใจอย่างมากในช่วงนี้ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาวัสดุหมุนเวียน (Circular Materials) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์จากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว โดยมีคุณสมบัติของการสิ้นสุดความเป็นของเสีย (End of Waste) ซึ่งรวมถึง

     1.เป็นวัสดุที่มีวัตถุประสงค์การใช้งานเฉพาะ
     2. มีตลาดหรือความต้องการใช้
     3. เป็นไปตามกฎหมายหรือมาตรฐานที่มีคุณสมบัติทางเทคนิคตามข้อกำหนด 
     4. ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัยหรือสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น การนำแนวคิดการบริหารจัดการของเสียไปต่อยอดจึงต้องมีการวิจัยและพัฒนา เพื่อหาวิธีช่วยลดการนำกากของเสียไปฝังกลบอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาสร้างความหลากหลายและมีคุณค่าในการใช้งานอย่างยาวนาน ถือเป็นก้าวสำคัญ จะนำไปสู่การสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคต