การตีความประวัติศาสตร์ ผ่าน “บุพเพสันนิวาส”

by ThaiQuote, 15 มีนาคม 2561

นี่คือหัวใจสำคัญที่ “รอมแพง” หรือคุณ จันทร์ยวีย์ สมปรีดา เจ้าของบทประพันธ์ “บุพเพสันนิวาส” ให้สัมภาษณ์แก่ Thaiquote กล่าวถึงกลวิธีการนำเอาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ล่วงเลยมาแล้วมากกว่า 300 ปี มาร้อยเรียงเป็นนิยายและนำมาเล่นเป็นบทละครที่โด่งดังที่สุดเรื่องหนึ่งในยุคที่สื่อทีวีดิจิทัลมีมากกว่า 36 สถานี รอมแพง กล่าวว่า ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ก่อนที่จะมาทำโครงเรื่อง (พร๊อตเรื่อง) โดยตอนแรกศึกษาทั้งหมดด้วยจะเลือกว่าช่วงไหนเหมาะที่จะนำมาเป็นข้อมูลในการเขียนนิยาย แล้วในที่สุดก็มาสะดุดที่พงศาวดารตอนที่กล่าวถึงการไปเจริญสันถวไมตรีกับทางฝรั่งเศส จึงได้ค้นคว้าลึกลงไปในรายละเอียด แล้วค่อยมาศึกษาประวัติศาสตร์ส่วนประกอบอื่นๆ ก็ค่อยๆ ตามมา ครั้นพอได้ข้อมูลมา รอมแพงบอกต่อว่าต้องนำมาสังเคราะห์ เพราะประวัติศาสตร์มีหลายกระแส มีความดิบ และมีความซับซ้อน หากเขียนตามนั้นก็ไม่ใช่แนวเขียนของตนเอง เพราะสไตล์ของตัวเองเป็นแนวคอมเมดี้ จึงต้องมีการปรับเพิ่มเติมตัวละคร   แล้วข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์กับบุพเพสันนิวาสต่างกันตรงไหน รอมแพงเล่าให้ Thaiquote ฟังว่าพระเอกตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไม่รู้ว่าลูกเต้าเหล่าใคร รู้แต่ว่าพ่อเคยไปโปรตุเกสส่วนตัวเองเคยไปอินเดียเมื่ออายุประมาณ 19 ปี รายละเอียดส่วนอื่นของพระเอกในพงศาวดารมีระบุว่าเป็นคณะราชทูตไปฝรั่งเศส ในครั้งนั้นมีนักเรียนอโยธยาเพื่อไปศึกษาหาความรู้ประมาณ 20 คนร่วมไปอยู่ด้วย แต่เมื่อมาทำเป็นนิยายจึงได้สร้างให้เป็นลูกของออกยาโหราธิบดี ซึ่งตำแหน่งนี้ในสมัยโบราณมีอยู่จริง ส่วนนี้คือส่วนที่นิยายเสริมแต่งขึ้นมา สำหรับศรีปราชญ์ที่เป็นพี่ชายของเดชนั้นในพงศาวดารไม่มีการกล่าวถึง ไม่รู้ว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ มีเพียงตำนานเล่าต่อกันมา แต่ที่นำมาใส่ในเรื่องเพราะอยากเขียน ด้วยที่ว่าตนเองเป็นคนนครศรีธรรมราช และเป็นนักเรียนโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จึงมีความผูกพันกับสระล้างดาบที่ประหารศรีปราชญ์ ทางด้านการตีความในเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไม่ได้ถูกนำมาปรุงแต่งมากนัก ทั้งนี้เพราะประวัติศาสตร์จากพงศาวดารต่างก็ตรงกันว่าท่านเป็นคนฉลาด สุขุม วางตัวดี พูดน้อยแต่รู้จักโต้ตอบ ส่วนเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ก็ตีความเช่นเดียวกับที่ประวัติศาสตร์มีไว้คือเป็นทหารที่เด็ดขาด มีความสนิทสนมกับสมเด็จพระนารายณ์ เป็นแม่ทัพคู่ใจ สำหรับคอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ นับเป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่มีการตีความยาก เพราะมีหลายแง่มุม ทางรอมแพงบอกว่ามีการบิดเรื่องการตีความไปบ้าง แต่ก็พยายามที่จะรักษาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไว้ เช่น มีหลักฐานชัดเจนว่าฟอลคอนได้ส่งจดหมายไปหาพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อส่งทหารเข้ามาช่วยตนในการยึดอำนาจช่วงปลายสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่กำลังประชวรอยู่ แต่นิยายก็ไม่ได้ทำให้เขาร้ายจนเกินไป โดยสร้างให้เขามีความเป็นคน ที่มีความทะเยอทะยาน และมาสำนึกรู้คุณของพระมหากษัตริย์ไทยที่ชุบเลี้ยงให้มีความสุขก็เมื่อสายไป ฉากนี้ต้องการที่จะสร้างความสะเทือนใจให้กับคนอ่านและเป็นการสอดแทรกแง่คิดให้กับคนอ่าน ซึ่งถือว่ามีเพียงไม่กี่จุดในละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” “แนวทางการนำเสนอของ “บุพเพสันนิวาส” นั้น ไม่ได้สร้างในแนวฮีโร่เหมือนกับนิยายประวัติศาสตร์หรือแนวนิยายพีเรียดอื่นๆ การนำประวัติศาสตร์ในช่วงของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมานำเสนอนั้นมีข้อมูลมากจนล้น จึงเลือกที่จะนำเสนอผ่านการเล่าเรื่องจาก “เกศสุรางค์” โดยเธอให้ “เกศสุรางค์” เป็นตัวเอกที่สมมุติขึ้นมาแล้วโยงเรื่องนำเอาบุคคลทางประวัติศาสตร์มาร้อยเรียงลงในนิยายของเธอ การที่เธอเลือกวิธีการเล่าเรื่องเช่นนี้ ต้องการใช้สายตาของคนในยุคปัจจุบันเป็นคนบอกเล่า ทำให้เขียนได้ง่ายกว่าและสนุก เพราะสามารถหยอดความโรแมนติกส์และความเป็นคอมเมดี้ได้ ถ้าหากนำเสนอในเชิงประวัติศาสตร์มากเกินไปจะเป็นเรื่องเครียด” รอมแพงกล่าวในที่สุด ขอบคุณภาพ / https://www.facebook.com/rompaeng/

Tag :