มอบ ม.44 “ของขวัญ”จัดระเบียบจนท.รัฐ

by ThaiQuote, 7 มกราคม 2559

ล่าสุดกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ครั้งที่ 1/2259 เรื่องการประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 3 จำนวน 59 รายชื่อ แบ่งเป็น 5 กลุ่มสำคัญ ได้แก่กลุ่มที่ 1 ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 2 คน กลุ่มที่ 2 ข้าราชการพลเรือน (จํานวน 2 ราย)  กลุ่มที่ 3 ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(จํานวน 44 ราย) กลุ่มที่ 4 ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(จํานวน 4 ราย) และกลุ่มที่ 5 กรรมการกองทุนสนับสนนการสร้างเสริมสุขภาพ (จํานวน 7 ราย) เป็นการใช้กฏหมายมาตรา 44 ครั้งล่าสุด ที่ถูกเรียกว่า เป็น“ปฏิบัติการครั้งสำคัญ” ที่ทางทหารเรียกว่า “แยกปลาออกจากน้ำ”

แม้ว่าในเวลาต่อมานายกรัฐมนตรีจะออกมายืนยันชัดว่า รายชื่อที่ออกมานั้นยังไม่ได้เป็นการชี้ชัดว่าเป็นการทุจริต แต่เป็นเรื่องของการแจ้งข้อมูลมาและเพื่อให้เกิดความสะดวกในการสอบสวน เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะมีมาตรการ 2 อย่างคือให้เจ้ากระทรวงหรือผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด ซึ่งตอนนี้เป็นการตรวจสอบก่อนเพราะมีกฎหมายมีกติกาอยู่แล้ว หากพบว่ามีการกระทำผิด ก็จะนำไปสู่กระบวนการอื่นๆ ต่อไป

“ผมต้องการให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนด้วยเท่านั้นเอง ผมไม่ได้ว่าผิดหรือถูก ก็ต้องตรวจสอบต่อไปเพียงแต่ว่าถ้ายังอยู่ตรงนั้นมันตรวจสอบไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ขัดขวางการตรวจสอบและให้โอกาสกับผู้ที่มีรายชื่อได้มีการเตรียมตัว เตรียมหลักฐานข้อมูลของเขาเอง อย่าเพิ่งว่าผิดหรือถูก หรือไปให้ร้ายเขาขนาดนั้นนายกฯกล่าวย้ำชัด

การใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อจัดการบริหารคน ที่ถูกระบุว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่น ครั้งนี้ที่กำลังเป็นประเด็น “ทอลค์ออฟเดอะทาวน์” ไม่ใช่เป็นครั้งแรก หากแต่เกิดมาแทบจะตลอดการเข้ามาเป็นรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นภาพสะท้อนความเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น ที่บางครั้งกลับถูกมองข้ามไป และที่สำคัญประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่โพลหลายสำนักระบุไว้ชัดว่าประชาชนเรียกร้องให้ดำเนินการ  

ก่อนหน้านี้มีประกาศคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 16/2558  กำหนดกรอบอัตราชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 100 อัตรา เพื่อรองรับการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลจำนวน 2 กลุ่ม (1) ข้าราชการที่ถูกสั่งพักราชการตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ กรณีที่เป็นข้าราชการหรืออยู่ในหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือในบัญชีรายชื่อซึ่งหัวหน้า คสช.อาจประกาศเพิ่มเติมอีก และ (2) ผู้ซึ่งมิได้อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบ แต่ ครม.ให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจราชการพิเศษหรือผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกฯ

ตามมาด้วยการสั่งพักราชการของข้าราชการจำนวน 45 คน ซึ่งแบ่งเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ข้าราชการ (24 ราย) และ กลุ่มที่ 2 หน่วยงานอื่นของรัฐ (1 ราย) กลุ่มที่ 3 นายกและรองนายกองค์การบริหารส่วนตําบล (14 ราย) และ กลุ่มที่ 4 นายกเทศมนตรี (3 ราย)  และยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2558 เรื่อง แต่งตั้งและให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อื่น ซึ่งสาระสำคัญ ก็คือ การใช้อำนาจพิเศษโยกย้ายหรือพักงานข้าราชการหรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการทุจริต อีกจำนวน 71 คน ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว 2 คำสั่งดังกล่าวนี้ถือเป็นการใช้กฏหมายตามมาตรา 44 เพื่อจัดการกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ก่อนจะมาถึงคิวของ คำสั่งคสช.ครั้งที่ 1/2259

แต่จุดที่น่าสังเกตก็คือในคำสั่งหัวหน้าคสช.หรือ การใช้มาตรา 44 ครั้งล่าสุด มีองค์กรที่ไม่ได้เป็นหน่วยราชการอย่าง สสส.ติดอยู่ในโผรวมอยู่ด้วย จึงไม่แปลกที่จะกลายเป็นที่กล่าวขานถึงมากกว่าครั้งก่อน ๆ มา ซึ่งการใช้มาตรา 44 จะอยู่เฉพาะข้าราชการ องค์กรท้องถิ่น เป็นหลัก

ซึ่งหากพิจารณาย้อนหลังกลับไป การใช้มาตรา 44 กับการบริหารจัดการคนหลายครั้งที่ผ่านมา ย่อมเป็นเครื่องการันตีได้เป็นอย่างดีถึงความจริงจังและตั้งใจจริงที่จะจัดการกับปัญหาการเข้าไปเกี่ยวพันกับการทุจริตคอรัปชั่น ที่แน่นอนว่าจากคำสั่งล่าสุดโดยหัวหน้าคสช.ครั้งที่ 1/2259 อาจไม่ใช่คำสั่งสุดท้าย และการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่น  ก็มีแนวโน้มขยายวงออกจากส่วนราชการในระดับต่างๆ ลึกลงไปสู่หน่วยงาน ในวงการอื่นๆ