“มานะ ตรีรยาภิวัฒน์”มอง “เฌอปราง-การเมืองบนโลกออนไลน์”

by ThaiQuote, 17 กันยายน 2561

ในยุคที่ โลกสื่อสารออนไลน์ มีอิทธิพลเหนือโลกความเป็นจริง เราควรรับมืออย่างไร โดยเฉพาะเมื่อการเมืองบนโลกออนไลน์ แบ่งแยกความคิด ตามศรัทธาและความเชื่อ ไม่ใช่เหตุผล ?   ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า กรณีคนสาธารณะอย่าง “เฌอปราง” แห่งวง BNK 48 ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง ภายหลังช่วยโปรโมทงานรัฐบาล เป็นเรื่องที่โยงกับประเด็นการเมือง จึงทำให้มีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เฌอปรางทำ  อย่างไรก็ตามการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด ต้องคำนึงถึงการไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ต้องไม่ใช้ข้อมูลข้อเท็จหรือบิดเบือน ที่สำคัญไม่ควรจะไปด่าทอด้วยถ้อยคำที่รุนแรง เชื่อว่าทั้ง 2 ฝ่ายมีเหตุผล และความเชื่อที่แตกต่างกัน  แต่ไม่ควรใช้อารมณ์กล่าวหากัน   เมื่อพูดถึงกรณี ดารา กับ การเมือง  คณบดีท่านนี้กล่าวว่า  ดารากับการเมืองเป็นเรื่องที่คุ้นชินกันอยู่แล้วในทุกยุคสมัย เพียงแค่ว่าในอดีต โซเชียล มีเดีย ยังไม่มีบทบาทเด่นชัดและมีพลังแสดงความคิดเห็นถกเถียงกันอย่างทุกวันนี้     “ในอดีตเราเห็นภาพ ดารา ช่วยเดินแจกใบปลิวกับนักการเมืองบางท่าน หรือพรรคการเมืองต่างๆ ส่วนจะส่งผลต่อการเมืองอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับคนที่เป็นแฟนคลับของดารานั้นๆ จะรู้สึกอย่างไร บางคนอาจจะมีความรู้สึกดีที่จะเลือก หรือไม่เลือกตามดารานักแสดงที่ตนชื่นชอบ กรณีของดารากับการเมืองในปัจจุบันก็เช่นกัน”   อย่างไรก็ตาม การวิพากษ์วิจารณ์กรณีนี้ อยากให้ทุกฝ่ายมองให้ลึกถึงเบื้องหลังด้วย เช่น ในอดีตดาราอาจจะมีอิสระในการจะเลือกหาเสียงให้นักการเมืองคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะช่วยด้วยใจหรือเป็นการจ้างวานก็ว่าไป แต่ปัจจุบันศิลปินอยู่ในรูปแบบของธุรกิจสื่อ บางครั้งศิลปินก็ไม่ได้มีอิสระมากนักในการเลือกรับงาน ขึ้นอยู่กับต้นสังกัดที่จะเลือกงานให้      ดร.มานะ  บอกต่อว่า ประเด็นวิพากษ์วิจารณ์หรือถกเถียง เรื่องดารากับการเมือง น่าจะเพิ่มมากขึ้นอีก โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงนี้ นอกจากดาราแล้วก็จะมีผู้ที่มีอิทธิพลหรือมีชื่อเสียงในโลกโซเชียล มาช่วยหาเสียงให้นักการเมืองหรือพรรคการเมืองต่างๆ   เพราะเป็นยุคสมัยนี้คนให้ความเชื่อถือกับคนที่มีอิทธิพลในโลกโซเชียล อย่างมาก แม้ว่าจะไม่รู้จักตัวตนแท้จริงเลยก็ตาม   อย่างไรก็ตาม มองว่าบรรดานักการเมือง ที่ใช้ช่องทางสื่อโซเชียลเป็นเครื่องมือในขณะนี้ ยังใช้ในรูปแบบเดิมแบบเหมือนสื่อดั้งเดิม คือสื่อสารทางเดียว  อยากจะพูดอะไรก็บอกไป ทั้งที่สื่อออนไลน์มีข้อดีคือสื่อสาร 2 ทาง ดังนั้นควรจะใช้เป็นพื้นที่นี้ ในการรับฟังความเห็นประชาชน แล้วนำไปพัฒนาเป็นนโยบายของพรรค จะเป็นประโยชน์มากกว่า   ทุกคนรู้ว่าโซเชียล มีเดีย มีทั้งคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับวิธีการหรือแนวคิดที่แต่ละคนนำมาใช้ โดยเฉพาะการเมืองบนโลกโซเชียล มีเดีย หากใช้ถูกทางก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่หากใช้ในทางผิด ยิ่งก่อผลกระทบร้ายแรงทั้งส่วนบุคคลและสังคม …แล้วเราควรเลือกทางไหน