“โอกาสดีที่เราจะยกเครื่องประเทศ” (3)

by ThaiQuote, 19 มกราคม 2559

Engine ตัวอื่นเรื่องของท่องเที่ยว ปีที่ผ่านมาท่องเที่ยวถือเป็นพระเอก มันมีช่องทางอีกเยอะมากที่ท่องเที่ยวนี่จะช่วยผลักดันให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้ ผมคุยกับท่านกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมต.ท่องเที่ยวฯคุยกับททท.ว่า เดี๋ยวจะไปนั่งกินกาแฟที่ททท.เอาทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องไปนั่งคุยกันว่าปีนี้ท่องเที่ยวจะเร่งได้อย่างไร ตัวสำคัญตัวที่สามคือตัว G คือการใช้จ่ายของรัฐบาลเป็นที่รู้กันแล้วในครม.ว่าปีนี้จะต้องมีการเร่งการเบิกจ่ายให้เร็วที่สุด ผมได้ยินว่าภาคเอกชนจะช่วยเหลือรัฐบาลอย่างหนึ่งก็คือว่า งบอะไรทั้งหลายที่สามารถลงได้ให้ลงก่อนในช่วง 2 ไตรมาสแรก ไม่ว่างบสัมมนา งบจัดอะไรก็แล้วแต่เพื่อประคองเศรษฐกิจให้มีโมเมนตั้มก้าวขึ้นไป

                ผมฝากคุณบุญชัยที่นั่งอยู่ตรงนี้ด้วย แล้วท่านสุพันธุ์ คือเรากลับไปดูภาคเอกชนว่าอะไรที่ลงทุนได้ให้เร่งการลงทุน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องทำให้เครื่องยนต์ทุกเครื่องนี่วิ่งเต็มสตรีม อันนี้คือการใช้เครื่องยนต์ทุกเครื่องให้เป็นประโยชน์ อย่างที่ผมเรียนเมื่อสักครู่นี้ถ้าโลกใบนี้มันเริ่มแผ่วเราจะอาศัยแต่ปัจจัยข้างนอกอย่างเดียวไม่ได้ก็ต้องหันกลับมามองภายในประเทศ ซึ่งอันนี้นี่แหละผมจะเรียนว่าเป็นโอกาสของเมืองไทยเลย เวลาที่เศรษฐกิจดีไม่เคยมีใครคิดจะยกเครื่องประเทศไทย เศรษฐกิจไม่ดีนี่แหละจะเป็นโอกาสสำคัญ ฉะนั้นไอ้การเติบโตจากภายในที่เราเคยพูดกันเมื่อปีที่แล้ว แล้วเราเริ่มไปบางส่วนแล้วปีนี้ท่านจะได้เห็นที่เข้มข้นขึ้น ถามว่าการเติบโตจากภายในมันจะทำยังไง ผมอยากจะตอบว่าจะต้องไม่ใช่การเอาง่ายเข้าว่า ไม่ใช่แค่การแจกเงินเพราะอย่างนั้นง่ายมาก

                ผมเรียนท่านตรงไปตรงมาเลยนะครับรัฐบาลของท่านนายกฯจริง ๆแล้วมีทางเลือก ทางที่ง่ายกับทางที่ยาก ทางที่ง่ายถ้าจะให้คนเขาชมกันทุกคนชอบหมดเลยก็คือฉีดเงินเข้าระบบอย่างเดียวเลย ฉีดได้ด้วยนะไม่ใช่ฉีดไม่ได้ เพราะหนี้ต่อ GDP ยังแค่ 43 เปอร์เซ็นต์ในโลกนี้เขาไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ยังฉีดได้อีกเยอะเลย แต่ฉีดไปแล้ว บริโภคไปแล้วมันก็หมดภาระมันก็อยู่ที่รัฐบาลหน้า ฉะนั้นถ้าคิดว่าฉีดเงินลงไปเอาเงินอัดเข้าไปรับรองว่า GDP มันไม่อยู่แค่ 3.5 แต่ว่ามันเหมือนกับคุณไปเอาอนาคตมาใช้กับปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่ตัวแก้ปัญหาหรอก ฉะนั้นผมถึงเรียนว่ารัฐบาลนี้ต้องการเน้นไปที่ว่าต้องการให้มีโมเมนตั้มการเติบโตที่พอสมควร แต่เลือกเข้าไปช่วยอุดรูในส่วนซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างมากในสังคมแล้วถ้าหากจะต้องมีการอัดฉีดเงินเข้าไปต้องเป็นการอัดฉีดเงินในเชิงของการพัฒนา โดยเฉพาะในหลาย ๆตัวแปรซึ่งไม่เคยทำมาก่อน

พูดง่าย ๆคือว่าการอัดเงินเข้าไปนั้นต้องสอดรับกับแนวทางการปฏิรูป แล้วก็สร้างความเข้มแข็งในระยะยาวขึ้นมาให้ได้อันนั้นล่ะคือสิ่งที่ต้องการทำ แล้วมันมีการเลือกทางที่ยากไม่ใช่ทางที่ง่ายในรัฐบาลปกติถ้าเป็นรัฐบาลมาจากการเมืองมันไม่มีเวลาที่คิดอย่างนี้หรอก เวลาคนไม่มีเงินเศรษฐกิจไม่ดีเขาก็เปลี่ยนรัฐบาล ฉะนั้นนโยบายอะไรก็แล้วแต่เขาจะเน้นระยะสั้น ขอให้ GDP โตรอบด้านคนก็จะเลือกกลับมาเอง แต่รัฐบาลนี้มีเวลาปีครึ่งแล้วก็คงไม่ไปก่อนปีครึ่ง ฉะนั้นเวลานี้จึงเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ควรเปลี่ยนแปลง ถามว่าเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ผมมีเวลาไม่มากนักผมจะพูดเฉพาะเรื่องที่คิดว่าอยากจะทำให้มันเกิดผลมากเป็นจุดเริ่มต้น แล้วถ้ารัฐบาลต่อไปคิดอยากจะสานต่อก็ให้เขาสานต่อ

สิ่งแรกเลยถ้าหากจะพัฒนาแบบภายใน ผมเรียนเมื่อสักครู่แล้วว่าหัวใจของเศรษฐกินมันคือฐานราก ถ้า 30 ล้านคนไม่ได้รับการพัฒนา เศรษฐกิจเมืองไทยไม่มีทางจะดีได้เลยถึงดีก็ดีบางส่วน แล้วสุดท้ายก็เกิดช่องว่างที่ใหญ่มาก ง่ายมากต่อการปลุกปั่นให้มันเกิดการเมืองเกิดกลียุคง่ายมาก ฉะนั้นสิ่งที่ทุกข์ใจอยู่ในใจผมเมื่อกี้คุยกับนักข่าวว่าคิดแล้วคิดอีกว่าจะช่วยคนจนเหล่านี้ช่วยเกษตรกรได้อย่างไร แล้วผมก็จะเลือกทำวิธีของผมจะลองดูได้แค่ไหนเอาแค่นั้น

เรารู้ได้ยังไงว่าเกษตรกรจะอยู่ได้นั้น ยกตัวอย่างเรื่องข้าวก็แล้วกัน ข้าวหอมมะลิเอย ข้าวเหนียวเอยมันไม่ใช่ตัวปัญหาใหญ่ ตัวปัญหาใหญ่คือข้าวนาปรัง ข้าวขาวซึ่งเวลาน้ำน้อย Productivity ต่ำขายสู้คนอื่นเขาไม่ได้ต้นทุนมันสูง ฉะนั้นมันมีทางเดียวก็คือจะทำยังไงให้เกษตรกรพร้อมใจหรือยินยอมที่จะปรับการเพาะปลูกของตนเองให้มันมีความหลากหลายมากขึ้น เป็นสินค้าซึ่งน่าจะผลิตได้มากขึ้น พูดง่าย ๆก็คือว่าการสร้างความหลากหลายในการผลิตของเกษตรกรเป็นสิ่งจำเป็นมาก บางคนนั่งผลิตแต่ข้าวอย่างเดียวแล้วราคามันตกทุกวันแล้วถ้ารัฐบาลไม่ประกันราคาข้าวประกันรายได้คุณก็จนลงทุกวัน เมื่อคุณจนลงทุกวันเศรษฐกิจก็มีปัญหาไม่ใช่เฉพาะชาวนา เอสเอ็มอีก็มีปัญหา ธุรกิจใหญ่ก็มีปัญหา  ถามคุณบุญชัยซึ่งนั่งตรงนี้สหพัฒน์ฯเคยใหญ่โตตอนชาวนาเขามีตังค์คนซื้อมาม่ามั้ย สมัยก่อนนี่เศรษฐกิจไม่ดีมาม่าจะขายดีนะ เดี๋ยวนี้เศรษฐกิจมันไม่ดีถึงขนาดที่ว่ามาม่าขายได้น้อยลงก็เพราะคนมันจนลง ถามว่าจะให้ชาวนานั้นปรับวิธีการอย่างนี้ได้ยังไง

ผมตั้งใจว่าจะใช้หัวหอกสำคัญคือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ,ธนาคารออมสิน และจะใช้วิธีขับเคลื่อนในแนวนอนคือแนวดิ่งทางกระทรวงเขาทำอยู่แล้ว แต่ผมจะใช้การขับเคลื่อนในแนวนอนร่วมกับสหกรณ์ทั่วประเทศ ใช้กองทุนหมู่บ้านให้เกิดประโยชน์ ใช้สภาเกษตรกรทั้งประเทศร่วมกับเอกชน ร่วมกับทุกฝ่ายผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผมจะคุยกับออมสิน ,ธกส.ว่าให้คิดมาตรการออกมาว่าคุณจะทำยังไง

กำลังเข้มข้นอดใจไว้มาตามกันต่อในตอนหน้า รับประกันว่าสาระยังคงเข้มข้นไม่ต่างจากตอนที่ผ่าน ๆมา แล้วพบกันใหม่ในตอนหน้ากับปาฐกถาครั้งพิเศษของดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี