เปิดใจนายกเภสัชกร ‘ค้านกฎหมายยา เพราะความปลอดภัยของ ปชช.’

by ThaiQuote, 17 ตุลาคม 2561

เชื่อว่า คนในสังคมอย่างต่างมีความสงสัยอยู่ไม่น้อยว่า  ที่เภสัชกรออกมาคัดค้านกันนั้น ค้านเพราะอะไร  แน่นอน ข้อมูลทางวิชาการทางกฏหมาย ออกมาให้เห็นให้ทำความเข้าใจกันแล้วในระดับหนึ่ง แต่ในอีกแง่ ดร.ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม ได้สะท้อนอีกมุมที่น่าจะเป็นคำตอบให้กับสังคมได้ ซึ่งใจความสำคัญที่นายกเภสัชกรท่านนี้ กล่าวคือ ยาไม่ใช่อาหาร ยาไม่ใช่เครื่องสำอาง  ยาไม่ใช่อาหารเสริม  และยามีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์เช่นกัน

ดังนั้น จึงมีกฏหมายที่ควบคุมยาไว้ ไม่ให้ใช้กันพร่ำเพรื่อ ซึ่งจุดนี้คือโจทย์ใหญ่ “ถ้าคุณไม่เข้าใจโจทย์ใหญ่ ยาก็จะกระจัดกระจายและเข้าไปเต็มกระจุกในร้านสะดวกซื้อ มีโจทย์ใหญ่ก็จะมีโจทย์เล็ก  ยาใดเชื่อว่า ประชาชนโดยสามัญสำนึกทั่วไปสามารถดูแลตัวเองได้ ยาเหล่านี้มีโทษก็จริง แต่ถ้าได้ดูแลตามสามัญทั่วไป  โทษเหล่านี้จะป้องกันได้ มีความปลอดภัย ถ้าเรายอมรับยาที่มีความปลอดภัยในลักษณะนี้  เราให้เป็นยาที่ขายได้ทั่วไป  แต่เจตนาที่แท้จริง  อยากให้ขายในร้านขายยา แต่ไม่ต้องปรึกษาเภสัชกร เพราะยาไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า  มีวันหมดอายุ ถ้าสินค้าทั่วไปหมดอายุ คุณก้แค่คืน แต่ถ้ายาหมดอายุ คนทั่วไปเอาไปบริโภค มันจะไม่หาจากโรค”

ในเรื่องของการเก็บรักษายาที่จัดจำหน่ายจึงกลายมาเป็นประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายเภสัชใช้ในการคัดค้าน ซึ่ง นายกเภสัชก็ได้อธิบายว่า  การเก็บรักษายาเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งโดยปกติแล้ว ยามีอายุ 2 ปี  เกินจากนี้ต้องห้ามใช้ อีกอย่าง หากการเก็บรักษายาตามร้านทั่วไปไม่ถูกต้อง อายุของยาจะสั้นกว่าที่ระบุไว้ในฉลาก แล้วถ้าไปเจอยาอายุสั้นเหล่านี้ ประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่า ยามันหมดอายุแล้ว เพราะมันไม่ได้เขียนไว้บนฉลากว่าหมดอายุ แต่ยาข้างในหมดอายุไปแล้ว 

เพราะการเก็บรักษาที่ไม่ถูกต้อง สังเกตดูว่า ที่เราเขียนไว้หน้าร้านว่า ร้านยาคุณภาพ จะเป็นร้านที่ติดกระจก ที่มีการเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา เพราะเป็นขั้นตอนในการควบคุมคุณภาพยาไม่ให้เสื่อม เป็นเงื่อนไขของสภาพอากาศที่เปิดภายในร้านยา เพื่อให้ยาหมดอายุตามฉลาก หากฉลากกำกับอายุของยาเอาไว้สองปี ก็ต้องมีเงื่อนไขการเก็บรักษาที่ถูกต้องเขียนเอาไว้ด้วย และจะใช้ข้อมูลความรอบด้านนี้เพื่อใช้ในการขึ้นทะเบียนยา" นายกเภสัชกรสะท้อนข้อกังวล โดยเฉพาะเรื่องความรู้ในการเก็บรักษายาให้เป็นไปตามคุณภาพที่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าเก็บรักษาไม่ดี คนที่นำไปใช้ก็ไม่หายจากโรค”

ล่าสุด ดร.ภก.นิลสุวรรณ ฉายภาพทิ้งท้ายว่า การที่ต้องเน้นให้ซื้อยาในร้านขายยาแทนการที่จะให้ไปอยู่ในร้านสะดวกซื้อแบบที่คาดการณ์กันนั้น เป็นแนวทางที่วางไว้ในระยะสั้น แต่อีกประเด็นที่สำคัญคือ การมีเภสัชกรอยู่ประจำร้าน นับเป็นเรื่องที่ยังจำเป็น เพราะถึงแม้จะมียาที่ประชาชนคนทั่วไปรู้จักและคุ้นเคย แต่ถ้ามีความจำเป็นที่ต้องใช้ยาตัวอื่นๆ ที่เกินขอบเขตคามเคยชิน ก็สมควรที่จะมีเภสัชกรประจำร้านเพื่อให้สามารถสอบถามได้ อย่างนี้จะปลอดภัยกับประชาชนมากกว่าการที่ปล่อยยาไปขายที่ไหนก็ได้ โดย..วรกร เข็มทองวงศ์

Tag :