พณ.เผยเตรียมถก “คุมค่ายา” ชู 3 มาตรการกำกับดูแล

by ThaiQuote, 30 มกราคม 2562

“พาณิชย์” แย้มมาตรการคุม “ยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์” จ่อประกาศราคาของโรงพยาบาลแต่ละแห่งให้เปรียบเทียบ เปิดช่องทางผู้บริโภคร้อง พร้อมเสริมความรู้สิทธิ์ในการซื้อยานอกโรงพยาบาล มั่นใจดึงราคาลงมาได้แน่

ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ในวันที่ 31 มกราคม 2562 ที่มีกรรมการจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สมาคมประกัน ตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีการเสนอมาตรการที่จะนำมาใช้ในการกำกับดูแล เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคที่เข้าไปใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชน โดยมีมาตรการหลักๆ ที่จะดำเนินการ 3 มาตรการ คือ 1.การดูแลในเรื่องราคายาและเวชภัณฑ์ 2.การเพิ่มช่องทางการร้องเรียนกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และ3.การกระตุ้นให้ผู้บริโภครู้จักสิทธิ์ของตัวเองในเรื่องการซื้อยา

ทั้งนี้ ในด้านการดูแลราคา จะมีการนำราคาของยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ซึ่งเบื้องต้นจะมีประมาณ 1,000 รายการ และส่วนใหญ่เป็นยาและค่ารักษาพยาบาลที่ประชาชนต้องใช้บริการกันเป็นจำนวนมาก โดยจะนำขึ้นเผยแพร่ในเว็บไซต์กลางและเว็บไซต์ของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่ง เพื่อให้เปรียบเทียบราคาได้ จากนั้นจะเพิ่มรายการที่เหลือเข้าไปอีก

นอกจากนี้ การเพิ่มช่องทางการร้องเรียน จะใช้ช่องทางผ่านสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 เพราะเดิมกระทรวงพาณิชย์ไม่มีอำนาจในการเข้าไปดูแล แต่เมื่อเป็นสินค้าและบริการควบคุมแล้ว ก็สามารถที่จะเข้าไปดูแลได้ โดยหากประชาชนที่เข้าไปใช้บริการแล้วพบว่ามีการคิดราคาที่สูงเกินจริง ก็สามารถร้องเรียนเข้ามาได้ และหากเห็นว่ามีราคาสูงจริง ก็จะเข้าไปตรวจสอบ และขอให้โรงพยาบาลทำการชี้แจงต้นทุนได้ หากพบว่าไม่เหมาะสม ก็จะมีมาตรการทางกฎหมายเข้าไปจัดการต่อไป

สำหรับการกระตุ้นให้ผู้บริโภครู้จักสิทธิ์ของตัวเองในการซื้อยา จะเป็นการรณรงค์ให้ผู้บริโภครู้ว่าในการเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล และหากต้องใช้ยาเพื่อการรักษา สามารถที่จะขอให้แพทย์เขียนใบสั่งยา เพื่อให้ผู้ป่วยไปซื้อยานอกโรงพยาบาลได้ แต่ที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีใครกล้าปฏิเสธ ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ และไม่ได้มีกฎหมายห้ามไว้ ซึ่งหากรณรงค์ทำให้ผู้บริโภครู้จักสิทธิ์ของตัวเอง ก็จะทำให้โรงพยาบาลเอกชนไม่กล้าคิดราคายาที่แพงกว่าปกติ เพราะหากแพง ผู้ป่วยก็สามารถที่จะไปซื้อยาข้างนอกได้

โดยมาตรการที่จะนำมาใช้เหล่านี้ เป็นมาตรการเบื้องต้น ที่ประเมินแล้ว จะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคที่ใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ให้ได้รับการดูแลในเรื่องราคา และโรงพยาบาลเอกชน ก็ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่นำมาใช้กำกับดูแล เพราะเป็นสิ่งที่สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว แต่หากมาตรการที่นำมาใช้ ไม่ได้ผล ก็จะมีการพิจารณามาตรการที่จะนำมาใช้ในการกำกับดูแลเพิ่มเติมต่อไป

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การประชุมนัดแรก จะพิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆ ให้รอบด้าน และจะมีการพิจารณาโครงสร้างราคายาและค่าบริการว่าโรงพยาบาลเอกชนคิดจากฐานอะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร และจะดูว่าผู้ป่วยมีทางเลือกในการซื้อยานอกโรงพยาบาลหรือไม่ เพราะปัจจุบันใบสั่งยาของโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ แพทย์จะเขียนเป็นรหัสที่รู้กันเองในโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยไปซื้อยานอกโรงพยาบาลไม่ได้

อนึ่ง เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้นำยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เข้าเป็นสินค้าและบริการควบคุมตามที่กระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เสนอ เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่าปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชน มีการคิดราคาแพง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

Tag : ยา