ราคาพา “ฉงน”

by ThaiQuote, 10 พฤษภาคม 2560

ชาวบ้านชาวเมืองที่ชีพจรลงเท้าไปเตร็ดเตร่แถวสิงคโปร์ แล้วบังเอิญไปจ๊ะเอ๋กับกระทะยี่ห้อดังเข้าอย่างจัง และอดไม่ได้ที่จะปรี่เข้าไปส่องป้ายราคา แต่พอเห็นป้ายราคาชัด ๆแล้วต้องถึงกับเกิดอาการ “อึ้ง-ทึ่ง”...ทำไมมันช่างต่างกันราวฟ้ากับเหว ??? กระทะยี่ห้อเดียวกันติดราคาขายในสิงคโปร์ เมื่อคิดคำนวณออกมาเป็นเงินบาทแล้วแค่ “หลักร้อย” แต่ที่นี่ประเทศไทย ตั้งราคาขายไว้ “หลักหมื่น”….แตกต่างห่างกันลิบลับถึง “สองหลัก” ผู้ค้าที่อยู่เบื้องหลังกระทะมหัศจรรย์ยี่ห้อนี้ ดูจะมีหน่วยพิเศษคอยติดตามความเคลื่อนไหวของปฏิกิริยามหาชนบนโลกออนไลน์ และรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึก “บ่จอย” ของชาวบ้านบนโลกออนไลน์ ที่มีต่อความเหลื่อมล้ำของราคาที่ต่างกันลิบลิ่ว จึงได้สำแดงปฏิกิริยาหยุดความหงุดหงิดแบบฉับไว ด้วยกลยุทธ์สุดง่าย “กระดาษแผ่นเดียว” เนื้อหาสาระสำคัญที่มุ่งหวังผลหยุดความรู้สึกไม่ดี ต่อความแตกต่างระหว่างราคากระทะในเมืองไทยกับสิงคโปร์ เน้นชี้แจงให้ชาวบ้านเชื่อสนิทใจว่าเป็นกระทะต่างรุ่นกัน โดยกระทะรุ่นที่ขายในเมืองไทย มีคุณภาพดีกว่าจึงขายในราคาแพงกว่า อย่างไรก็ตามเมื่อมาดูกลยุทธ์ราคาของกระทะยี่ห้อดังรายนี้ ที่ใช้เป็นเครื่องมือดูดทรัพย์จากกระเป๋าชาวบ้านในเมืองไทย จะชัดเจนว่ามีการชูกลยุทธ์กำหนดราคาไว้ “สูงเสียดฟ้า” ใบละเฉียด 20,000 บาท แต่ขายกันจริง ๆเหลือแค่ใบละ 1,500 บาท โดยอ้างเป็นตุเป็นตะ และเป็นการถาวรว่าเป็นราคาส่งเสริมการขาย หรือราคาโปรโมชั่น ซึ่งก็ยังคงแพงกว่ากระทะคนละรุ่นที่ขายในสิงคโปร์อยู่กว่าเท่าตัวอยู่ดี หลายคนสงสัย “ตั้งราคาแบบนี้ก็ได้เหรอ? ”....“ไม่มีหน่วยงานไหนกำกับดูแลให้การตั้งราคาเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลเลยหรือ?” กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งคาดหวังว่าน่าจะมีบทบาทในการกวดขันดูแลให้การกำหนดราคาสินค้าและบริการเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล ก็ออกอาการ “อิดออด -บ่ายเบี่ยง” ว่ากันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พุทธศักราช 2542 แล้วมีบทบัญญัติระบุชัดเจนว่ากรณีดังกล่าว อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซึ่งมีเลขาธิการทำหน้าที่หัวหน้าสำนักงาน และบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉบับนี้ ก็คือ “อธิบดีกรมการค้าภายใน” กรณีการกำหนดราคาของกระทะแบบพิศวงชวนตะลึง น่าจะเข้าข่าย “กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ถือว่าเป็นการทำให้ราคาต่ำเกินควร หรือสูงเกินควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วน ซึ่งราคาขายสินค้าหรือบริการ” ตามบทบัญญัติของกฎหมาย ขณะเดียวกันอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ก็ยังน่าจะเข้าข่ายตามบทบัญญัติของกฎหมายที่มีใจความสำคัญระบุ... “พิจารณาเรื่องที่มีการร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย เนื่องจากการกระทำอันมีผลกระทบกระเทือนต่อราคา” อาการอิดออดของอธิบดีกรมการค้าภายในต่อการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อสร้างความสมเหตุสมผลในการกำหนดราคาสินค้าและบริการ จึงน่าจะเป็นความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกหวย มาตรา 157 ฐานละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
Tag :