“ดร.สมฤดี” บทสรุปส่งท้าย “Repositioning” ปรับจุดยืน ปรับตำแหน่งสู่ความเข้มแข็ง

by ThaiQuote, 15 สิงหาคม 2560

อย่างไรก็ตาม “ดร.สมฤดี” ยังได้กล่าวต่อว่า สิ่งที่ Jack Trout เตือนให้ระวังคือนักการตลาดต้อง Rethink คิดใหม่ทบทวนใหม่ ว่าสิ่งที่ทำอยู่ปัจจุบันดีแล้วหรือ มีอะไรปรับปรุงได้ไหม ทำหรือเปล่า Refocus เริ่มคิดอย่างจริงจังว่าแบรนด์ที่ทำอยู่จะไปได้นานแค่ไหน ต้องคิดอะไรใหม่ ๆหรือเปล่า ReAssess ประเมินทรัพยากร กำลังขององค์กร จุดแข็งขององค์กร Reposition วางตำแหน่งใหม่ ปรับภาพลักษณ์ เอกลักษณ์ ขององค์กร เเละ Reclaim เรียกความยิ่งใหญ่ความเป็นหนึ่งในอดีตให้กลับคืนมา Repositioning ยุทธศาสตร์ปรับจุดยืน ปรับตำแหน่งใหม่ จาก 3 สาเหตุสำคัญดังกล่าว Jack Trout จึงได้ออกหนังสือเล่มใหม่คือ Repositioning เพื่อเตือนให้นักการตลาดต้องปรับตัวเอง ปรับองค์กร ปรับบุคลิกสินค้า ปรับโฉม ปรับภาพลักษณ์สินค้า หรือออกสินค้าใหม่ ทำธุรกิจใหม่เพื่อปรับฐานธุรกิจของตัวเอง จะเรียกว่าเป็นการปฏิวัติตัวเองเพื่อมิให้ถูกกลืนหายไปจากตลาดหรือก้าวขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ขยายธุรกิจให้รุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก และในการเดินทางไปบรรยายที่ต่าง ๆ ทั่วโลกเขาได้ยกเอาเรื่อง Repositioning นี้มาเป็น Version ใหม่ ที่ขยายความจากยุทธศาสตร์เดิมที่เขากับ AI Ries จุดประกายมากว่า 30 ปีแล้ว ทั้งนี้แนวคิดในการปรับตำแหน่ง ปรับองค์กร ปรับสินค้า ปรับยุทธศาสตร์สินค้านี้อันที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะทุกองค์กรที่ประสบความสำเร็จและยั่งยืนมาถึงทุกวันนี้ บางองค์กรอยู่เป็นร้อยปียังไม่ล้มหายตายจากไปจากวัฏจักร ทั้งที่หลายองค์กรเกิดมาพร้อมกันลาโรงไปหมดแล้ว ถึงแม้มีสินค้าคุณภาพดี แบรนด์ดีติดตลาด มีแฟนประจำที่จงรักภักดี ส่วนบริษัทและสินค้าที่ยิ่งยง ยิ่งทำก็ยิ่งก้าวหน้า ธุรกิจก็เจริญเติบโต แม้สืบทอดมาถึง Generation รุ่นลูกรุ่นหลานก็ยิ่งทำให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ก็เป็นเพราะองค์กรเหล่านี้ รู้จักปรับตัวเอง ปฏิวัติตัวเองไม่ต้องรอใครมาบังคับให้เปลี่ยนแปลง แต่เกิดจากความอัจฉริยะของทีมงานมีผู้นำที่กล้าหาญ มีวิสัยทัศน์ นำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้เสมอ เร่งรัดสนับสนุนให้ทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ ดร.สมฤดี ยังได้กล่าวว่า Jack Trout ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า Repositioning สั้น ๆ ดังนี้“Repositioning is How to Adjust the Perceptions in the Mind of the Prospects” คือ วิธีการปรับจินตภาพ (ความฝังใจ) ในจิตใจของกลุ่มเป้าหมาย Perception is Reality ภาพฝังใจ คือ ความจริง หนังสือ Positioning ของ AI Ries และ Jack Trout นี้ ตอนวางตลาดเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วถือเป็นเรื่องฮือฮาในวงการโฆษณาโดยเฉพาะเอเยนซีทั่วโลกและเมืองไทย นักการตลาดยังไม่เข้าใจมากนักเพราะเป็นแนวความคิดที่เป็นคลื่นลูกใหม่ที่ล้างคลื่นลูกเก่า คือ lmage Era ของ David Ogilvy ซึ่งได้ฉายาว่า “พ่อมดแห่งวงการโฆษณา”อเมริกัน เพราะมาในยุคที่โฆษณาทุกชิ้นจะมุ่งไปในการสร้างภาพลักษณ์และบุคลิกใหม่ให้กับตัวสินค้า แทนยุค USP (Unique Selling Point) เดิม นักโฆษณารุ่นเก่าจะถือคติว่า Perception is not Reality เพราะความเชื่อหรือความฝังใจของลูกค้าก็ไม่ได้แปลว่าเป็นความจริงเสมอไป แต่ลูกค้าเขาเชื่อของเขาอยู่อย่างนั้นก็ต้องตามใจเขาจะไปแก้ไขอะไรเขาก็อาจจะโกรธและไม่ยอม ใครจะพูดอะไรก็ไม่ฟังต้องค่อย ๆตะล่อม โอ้โลม ปฏิโลม แล้วค่อย ๆใส่ความคิดใหม่ลงไป นี่คือ วิธีคิดของนักการตลาดรุ่นก่อน ๆจะไม่มีการทำอะไรหักโหม แต่แนวคิดเรื่อง Positioning นี้มาในมุมกลับกันคือเริ่มด้วยการศึกษาความเชื่อฝังใจที่ลูกค้าถือว่า เป็นความจริงว่ามีมูลฐานมาจากอะไร วางอยู่บนอะไรและถ้าเคลื่อนความเชื่อนั้นจะต้องป้อนข้อมูลอะไรที่เขายอมรับได้และทำให้เขาเปลี่ยนใจได้ จะต้องนำเสนออย่างไร จะต้องมีใครยืนยันหรืออ้างอิงอะไรจึงจะเปลี่ยนความเชื่อและความฝังใจนั้นได้ เป็นการคิดแบบ Outside-In จากลูกค้าผู้บริโภคและมองกลับเข้ามาภายในบริษัท ภายในสินค้า ซึ่งตรงประเด็นกว่าว่าจะสร้างภาพลักษณ์อะไร เหมือนทำหน้าขนมเค้ก ก็หาบทสร้าง หรือภาพลักษณ์ที่น่าสนใจแล้วใส่ลงไปในสินค้า เหมือนแค่เปลี่ยนเสื้อผ้า หรือทรงผมใหม่ ตามแบบของนัก Imagist จนหลายคนนิยมเรียกว่า “สร้างภาพ” ซึ่งไม่ต้องเป็นความจริงก็ได้ ยิ่งแนวความคิดเรื่อง Repositioning ยิ่งไปกันใหญ่เพราะไม่เพียงแต่ปรับเปลี่ยนตำแหน่งจุดยืนของตัวเอง แต่ยังสามารถปรับเปลี่ยนจุดยืนที่คู่แข่งเขายืนอยู่ดี ๆยืนมานานให้กลายเป็นตำแหน่งเสียเปรียบโบราณล้าสมัยได้ ดังเช่นกรณี Pepsi “The New Generation” ที่ศึกษาประวัติเก่าแก่ ตำนานของโค้กที่คู่เคียงกับวิถีชีวิตอเมริกันตั้งแต่สมัยสงคราม ภาพซานตาคลอสยิ้มแก้มใสในเสื้อแดงที่ติดตาตรึงใจตั้งแต่เด็กจนไม่มีใครคิดว่าจะมีอะไรมาแทนได้ “โค้ก” คือเครื่องดื่มที่ดีที่สุดในใจคนอเมริกัน แต่ “เป๊ปซี่”ก็ใช้การศึกษากลุ่มเป้าหมาย คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ไม่ยึดติดกับความโบราณดั้งเดิม มีความเป็นตัวของตัวเอง จากนั้นก็ออกสินค้ารสชาติใหม่ที่ถูกใจวัยรุ่นมากกว่าแล้วก็โหมด้วยแคมเปญ “รสชาติของคนรุ่นใหม่” ประเดิมด้วย “MichaeI Jackson” ซึ่งช็อกคนทั้งโลกเพราะไม่มีใครคิดว่าเป๊ปซี่จะกล้าจ้างและจ้างได้ ตามมาด้วยดารานักร้องอีกมากมาย เป๊ปซี่กลายเป็นขวัญใจของคนรุ่นใหม่และโค้กก็ถูก Reposition ให้กลายเป็นรสชาติของคนรุ่นเก่าไปในตัว ผลคือความสำเร็จเกินคาดฝันและกลายเป็นแคมเปญประวัติศาสตร์การตลาดในสหรัฐอเมริกาที่ต้องแก้เกมกันอย่างหนักต่อสู้กันแบบตาต่อตาฟันต่อฟันต่อมาจนปัจจุบัน

Tag :