อ่างฯคลองใหญ่ กับวิถีชีวิตชุมชนเล็กที่ต้องหายไป

by ThaiQuote, 25 พฤษภาคม 2562

กรณีศึกษา อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ เปิดแผนการจัดการน้ำในพื้นที่จ.พัทลุง แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง และวิถีชีวิตที่กำลังจะต้องเปลี่ยนไปของชุมชนเชิงเขาบรรทัด

Thaiquote ได้ติดตามการทำงานกรมชลประทาน ในการลงพื้นที่ร่วมทำแผนศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ซึ่งเป็น 1 ในแผนบริหารจัดการน้ำ ป้องกันการเกิดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในพื้นที่ จ.พัทลุง

สำหรับ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งเก็บน้ำต้นทุนสำคัญและช่วยบรรเทาอุทกภัย รวมทั้งลดความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง หวังยกคุณภาพชีวิตราษฎร ในพื้นที่ลุ่มน้ำนาท่อม พื้นที่ชลประทานของ 2 อำเภอ คือ อ.ศรีนครินทร์ และอ.เมือง จ.พัทลุง ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พืชที่เพาะปลูก ได้แก่ ข้าวและยางพารา และมักจะประสบกับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตรเกือบทุกปี

ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีระยะเวลาศึกษา 360 วัน เริ่มตั้งแต่ 18 เมษายน 2562 จนถึง 11 เมษายน 2563 ซึ่งโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาบรรทัด ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม(โซน C) มากกว่า 500 ไร่ และมีพื้นที่อ่างเก็บน้ำบางส่วนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จึงเข้าข่ายประเภทและขนาดโครงการที่จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 54



ภายหลังการลงพื้นที่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 พ.ค.62 ที่ผ่านมา “เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์” รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้น โดยเบื้องต้นจากการพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบเราพบว่า ชาวบ้านมีความกังวล เรื่องของพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย เนื่องจากมีการลงทุนทำสวนยางพาราและสวนผลไม้ในราวๆปี 2549-2550 และเป็นที่ดินทำกินซึ่งสืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษ

โดยในความเป็นจริงนั้น พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาบรรทัด และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ถือครองที่ดินในลักษณะ ภ.บ.ท. 5 ซึ่งเป็นที่ดินซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิใดจากกรมที่ดินให้การรับรองการครอบครองหรือถือกรรมสิทธิ์ และมีการอนุญาตให้ทำกินในลักษณะชุมชนชายขอบป่าสงวนฯ โดยเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและอนุรักษ์ป่า

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวกรมชลประทาน จำเป็นที่จะต้องสื่อสารและทำความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยมองถึงส่วนเสียได้ส่วนเสียของแต่ละภาคส่วน เช่น ภาคประชาชนในจังหวัดพัทลุง คือ การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วม น้ำใช้ในพื้นที่ทำการเกษตร การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จะสร้างรายได้ในกับคนในชุมชนใกล้เคียง ขณะที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เราจะต้องให้ความสำคัญ โดยพร้อมที่จะจัดหาที่อยู่อาศัย หรือที่ทำกินให้ใหม่

ด้านเสียงสะท้อนจากชาวบ้านซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อย่าง ประจวบวิสุทธิ์ จันทร์ตรี อายุ 54 ปี ชาวบ้าน ม.1ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ กล่าวว่า ผมเห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เพราะโครงการนี้จะมีผู้ได้รับผลประโยชน์มากกว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่หากจะทำจะต้องมาพูดคุยเรื่องผลได้ผลเสียกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยพื้นที่บ้านและสวนผลไม้ของผมอยู่ในพื้นที่การก่อสร้างดังกล่าว ซึ่งเป็นพื้นที่ ภ.บ.ท.5 ที่พ่อแม่ ตายาย เข้ามาทำกินตั้งแต่ปี 2498-2500 ชาวบ้านหลายรายเพิ่งจะทราบเรื่องว่าจะมีโครงการนี้เกิดขึ้นในวันนี้ หากทางรัฐต้องการที่จะก่อสร้างก็ควรที่จะให้ผลตอบแทนอย่างสมดุลกับการเสียผลประโยชน์ของชาวบ้าน และ ชาวบ้านจะนัดประชุมเพื่อหารือก่อนที่จะให้ตัวแทนยื่นข้อเสนอต่อกรมชลประทานอีกครั้งหนึ่ง

เช่นเดียวกับ “ไพรัตน์ แก้วเสน” ชาวบ้าน ม.1 ต.บ้านนา กล่าวว่า ผมเข้าใจดีว่าโครงการนี้ได้รับประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ของจังหวัดพัทลุง แต่ก็มีผลกระทบกับคนอีกครึ่งหมู่บ้าน จะต้องมีการตกลงว่า เมื่อเราไม่ได้อยู่ตรงนี้แล้ว จะให้เราไปอยู่ตรงไหน อย่างคนรุ่นผมที่อายุ 60 ปี แล้ว เราไม่อยากจะต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่บนพื้นที่ใหม่ โดยไม่รู้ว่าพื้นที่ตรงนั้นเราจะทำมาหากินอย่างไร

“ข้อเสนอของผมคือ พื้นที่ใหม่จะต้องเหมาะสมกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่มาแต่ดั้งเดิม รัฐอาจจะต้องมีเงินทุนเพื่อเป็นต้นทุนให้เราได้ใช้จ่ายจัดการกับวิถีชีวิตใหม่ ผมยอมได้ แต่ตัวเราและคนในหมู่บ้านต้องอยู่ได้ด้วย” ไพรัตน์บอกกับเราในสวนจำปาดะ ผลไม้พื้นถิ่น ซึ่งอยู่เขตที่จะต้องจมน้ำหากการสร้างอ่างเก็บน้ำเกิดขึ้น

นี่คือพื้นที่หนึ่งซึ่งกำลังจะเปลี่ยนไป หากมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม แต่จะต้องกระทบกับวิถีชีวิตของชุมชนหนึ่ง แม้อาจดูเล็กน้อยในสายตาของคนนอก แต่หากนับคุณค่าของวิถีชีวิต มันคือการพรากความผูกพันของคนไปจากพื้นที่ที่เขาเคยอยู่อาศัยมากกว่าครึ่งชีวิต

อ่างฯคลองใหญ่ กับวิถีชีวิตชุมชนเล็กที่ต้องหายไป

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

“ชัย ชิดชอบ”ใช้วิธีการขานชื่อเพื่อลงมติเลื่อน-ไม่เลื่อนเลือกประธานสภาฯ

Tag : ข่าว