แผนที่ในพระหัตถ์ อาวุธปราบทุกข์เข็ญราษฎรของในหลวง ร.9

by ThaiQuote, 11 ตุลาคม 2562

ทุกครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ไปยังสถานที่ใด สิ่งของประจำพระองค์นอกจากกล้องถ่ายรูปและดินสอแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่อยู่ในพระหัตถ์ตลอดเวลาคือ “แผนที่”

อาจกล่าวได้ว่าไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลกที่ทรงใช้ประโยชน์จากแผนที่เท่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ของไทยอีกแล้ว แผนที่คืออุปกรณ์สำคัญที่ทรงใช้ในการพิจารณาวางแผนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาแหล่งน้ำ

 

 

แผนที่ต่างๆ ที่ทรงใช้ นอกจากจะทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทำมาถวายแล้ว แผนที่จำนวนมากพระองค์ได้ทำขึ้นด้วยพระองค์เอง

แผนที่ของในหลวง ร.9 จึงเป็นเสมือนแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยม หากแผนที่แผ่นใด เสื่อมสภาพเพราะถูกฝนและทรงใช้มานาน พระองค์ก็จะทรงย้ายข้อมูลจากแผ่นเก่ามาไว้ที่แผ่นใหม่ โดยต้องทรงทำด้วยพระองค์เองอีกเช่นกัน ในระยะหลังนอกจากแผนที่แล้วพระองค์ใช้ภาพถ่ายทางอากาศมาช่วยด้วย

ในการทำงานนั้น ถ้าพระองค์ประทับเฮลิคอปเตอร์ก็จะทอดพระเนตรสภาพพื้นที่จริงเบื้องล่าง เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับแผนที่ตลอดทาง เมื่อเสด็จฯ ไปถึงที่นั้นๆ แล้ว พระองค์จะทรงถามชาวบ้านว่า ชื่อหมู่บ้าน แม่น้ำ ลำคลอง หรือถนน ตรงกับแผนที่ไหม ทำให้พระองค์ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง

 

 

แผนที่ที่ทรงนำติดพระองค์ไปด้วยเสมอ มักเป็นเป็นที่มาตราส่วน 1 : 50,000 โดยจะทรงนำแผนที่หลายระวางมาต่อกันด้วยพระองค์เอง งานตัดต่อแผนที่เข้าเป็นแผนที่ขนาดใหญ่แบบที่ไม่มีจำหน่ายที่ไหน พระองค์จะทรงทำอย่างพิถีพิถัน โดยประทับบนพื้นห้องทรงงาน และไม่โปรดให้ผู้ใดช่วยเหลือ

ก่อนเสด็จฯ ไปยังพื้นที่ใด จะทรงเตรียมทำแผนที่และศึกษาแผนที่นั้นโดยละเอียด เมื่อเสด็จฯ ไปถึงพื้นที่นั้น จะทรงตรวจสอบว่าข้อมูลในแผนที่ถูกต้องหรือไม่ จากการทอดพระเนตรสภาพพื้นที่จริง โดยมีอุปกรณ์ช่วยอีกสองอย่างคือ เข็มทิศ และเครื่องวัดระดับความสูง นอกจากนี้ยังทรงให้ความสำคัญกับการสอบถามข้อมูลจากชาวบ้านแล้วทรงใช้ดินสอจด ทำเครื่องหมายหรือระบายสีลงแผนที่

 

 

 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยพระราชทานสัมภาษณ์ในรายการ “พูดจาประสาช่าง” ออกอากาศทางสถานีวิทยุจุฬาฯ ว่า

“ท่านสอนแม้กระทั่งการพับแผนที่ เพราะว่าเวลาเรานั่งในรถ ที่มันก็แคบ กางแขนกางขาออกไปมากไม่ได้เวลาเตรียมก่อนเดินทาง เราต้องพับแผนที่ให้ถูกทาง ว่าตอนแรกไปถึงไหน และพอไปถึงอีกที่จะต้องคลี่ให้ได้ทันท่วงที...”

“ถ้าใครมากราบบังคมทูลว่าขอพระราชทานอ่าง เขื่อน ฝาย อะไรที่ไหน จะต้องถามจนผู้กราบบังคมทูลแทบจะจนตรอกว่า อยู่ที่ไหน การเดินทางไปเป็นอย่างไร ทิศเหนือจดอะไร ทิศใต้จดอะไร บริเวณนั้นมีลักษณะอย่างไรแล้วจึงทรงกำหนดลงในแผนที่ ดูระดับ ดูความสูง การจะเลือกทำที่ไหนนั้น นอกจากจะเลือกให้ไม่เกิดความเดือนร้อนแก่ราษฎรจำนวนมาก ยังต้องคำนึงถึงงบประมาณ ความประหยัดด้วย”

 

 

พระองค์ทรงมีพื้นฐานความรู้ด้านแผนที่จากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยพระมารดาทรงสอนให้พระองค์รู้จักการใช้แผนที่ และแผนภูมิประเทศไทย โดยทรงโปรดให้โรงเรียนเพราะช่างทำแผนที่ประเทศไทยเป็นรูปตัวต่อ เลื่อนเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ เพื่อให้ทรงเล่นเป็นจิกซอว์ ตัวอย่างที่กล่าวมาได้เป็นพื้นฐานที่มั่นคงให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีความรู้ด้านแผนที่และภูมิศาสตร์ได้อย่างดียิ่ง

นำมาซึ่งภาพที่คนไทยคุ้นตา คือภาพที่พระองค์ท่านกับแผนที่ในพระหัตถ์ ซึ่งทรงใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการทรงงานเพื่อพสกนิกร

 

เรียบเรียงจาก : หนังสือตามรอยพ่อ ก-ฮ, หนังสือ ๙๙ เรื่องที่ยิ่งใหญ่ ในหลวงรัชกาลที่ ๙

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
กษัตริย์ที่ไม่เคยถือพระองค์ ในหลวง ร.9 กับ “ชาวเขาและเหล้าต้ม”