คนและป่า ที่"ดอยตุง" ผลลัพธ์ความสัมพันธ์ก่อเกิด "ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม"

by ThaiQuote, 18 พฤษภาคม 2563

สยายความสัมพันธ์ระหว่าง "คน" และ "ป่า" ให้แนบแน่นมากขึ้น ไปดูคนดอยตุง อยู่กับป่าอย่างไรอย่างราบรื่น จนก่อให้เกิด"ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" ประยุกต์วิถีคนหากินกับป่าให้ทันยุคสมัย

 

“ดอยตุง” ไม่เพียงแต่ผลิตสินค้าหัตถกรรมจากชุมชนเท่านั้น แต่ยังใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาของรางวัล G Green Production ทั้งงานผ้าฝ้ายทอมือผสมผสานด้วยเอกลักษณ์ท้องถิ่น และเซรามิคที่รังสรรค์ก้อนดินให้กลายเป็นเครื่องใช้สุดประณีต

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระราชูปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งทรงมีพระราชปณิธานที่จะสร้างโอกาส พัฒนาชาวไทยภูเขาที่ขาดต้นทุนชีวิต ด้วยการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิต ต่อยอดสู่การสร้างธุรกิจเพื่อสังคม ยกระดับคุณภาพด้วยการพัฒนาป่าและคน

 

 

โดยมีโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) ตามพระราชดำริ เป็นต้นแบบภายใต้แบรนด์ “ดอยตุง” ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามตำราแม่ฟ้าหลวง ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติตามแนวคิด คนอยู่กับป่า

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวถึงแนวคิดในการดำเนินงานของมูลนิธิและแบรนด์ดอยตุงไว้อย่างชัดเจนว่า นโยบายขององค์กรมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งถูกแทรกอยู่ในทุกรายละเอียดของการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบที่เลือกใช้ในงานทอเป็นเส้นใยฝ้ายประหยัดน้ำหรือ Better Cotton

ซึ่งใช้ทรัพยากรน้ำน้อยกว่าในการเพาะปลูก เส้นใยเหล่านี้จะถูกนำมาย้อมสีด้วยวัตถุดิบท้องถิ่น เช่น คราม ดอกทองกวาว หัวหอม กาแฟ หรือฮ่อม ซึ่งนอกจากจะได้จากธรรมชาติแล้วผลผลิตในแต่ละฤดูกาลยังให้สีที่แตกต่างกันอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกด้วย

เส้นใยสีสันสวยงามก็จะถูกถักทอเป็นผืนผ้าบนกี่แบบดั้งเดิมด้วยฝีมือแม่ ๆ ในชุมชน ก่อนจะถูกตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า และของใช้ต่าง ๆ ในขั้นตอนนี้เศษผ้าไม่ว่าเล็กหรือใหญ่จะถูกนำมาแปรรูปใส่ความคิดสร้างสรรค์จนกลายเป็นของใช้ชิ้นเล็ก อย่างพวงกุญแจหรือใช้ประดับตกแต่งลวดลายสินค้าอื่น ๆ ต่อไป

จนเมื่อเศษผ้าเล็กเกินกว่าที่จะงานใช้ได้แล้ว เศษผ้าและเศษด้ายเหล่านี้ พร้อมกับกะลาแมคคาเดเมียจะถูกนำไปเผาเพื่อใช้เป็นพลังงานในการต้มน้ำร้อนสำหรับกระบวนการต้ม ฟอก และย้อมผ้าอีกครั้ง ทำให้ลดการใช้แก๊สหุงต้มได้ประมาณร้อยละ 50

 

 

น้ำเสียจากโรงย้อมผ้าก็จะเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียที่ใช้แนวคิด “ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ” ให้พืชน้ำดูดซับสารพิษและเติมออกซิเจนให้แก่น้ำ น้ำที่บำบัดแล้วก็ใช้ในการรดน้ำต้นไม้ให้พืชพรรณเจริญงอกงามต่อไป จึงเรียกได้ว่าไม่มีของเหลือใช้เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตนี้เลย

ส่วนสินค้าที่ผลิตและผ่านการตรวจเช็คคุณภาพเรียบร้อยแล้วก็จะถูกบรรจุลงในถุงซิปล็อคเพื่อนำส่งไปยังร้านค้า เมื่อผู้บริโภคเลือกซื้อพนักงานก็จะหีบห่อสินค้าลงในกระดาษและถุงกระดาษอย่างบรรจงเพื่อรณรงค์การลดใช้ถุงพลาสติก ส่วนถุงซิปล็อคที่ใช้งานแล้วก็จะถูกส่งกลับมายังโรงทอเวียนกลับมาใช้งานอีกครั้ง

 

 

ดินที่หลากชนิดมาใช้ จะมีการค่อย ๆ นำดินมาผสมขึ้นจนเป็นก้อนดินที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวสำหรับการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์เซรามิค ก้อนดินเหล่านี้จะถูกบรรจงปั้นขึ้นรูปหรือเทลงแบบพิมพ์ให้กลายเป็นภาชนะต่าง ๆ ก่อนถูกนำไปอบแห้งและเผาจนแข็งแรงคงทน พร้อมถูกชุบเคลือบด้วยหินแร่ เพื่อให้เกิดสีที่แตกต่างกันออกไป ใช้อุณหภูมิในการเผาที่ 1,250 องศาเซลเซียส จนกลายเป็นสินค้าเซรามิคที่พร้อมส่งให้ลูกค้า

แน่นอนว่าขั้นตอนเหล่านี้ไม่ง่ายเลย ดินบางส่วนอาจจะบิดเบี้ยวไม่เป็นทรงอย่างที่ใจนึก หรืออาจมีร่องรอยแตกร้าวระหว่างการเผา และแม้เซรามิคจะไม่สามารถรีไซเคิลได้แบบวัสดุอื่น ๆ แต่ทางดอยตุงจะนำชิ้นส่วนเหล่านี้ไปบดเป็นผง ผสมดินในอัตราส่วนที่เหมาะสมเพื่อขึ้นรูปใหม่อีกครั้ง หรือใช้เป็นส่วนผสมในการทำพื้นถนนเพื่อทดแทนการใช้ทรัพยากรอื่น ๆ

สำหรับแม่พิมพ์ของสินค้าเซรามิคที่ต้องอบแห้งก่อนการขึ้นรูป ดอยตุงเลือกใช้พลังงานชีวมวลจากเปลือกแมคคาเดเมียมาทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม โดยใช้เปลือกแมคคาเดเมียมาต้มน้ำร้อน และส่งความร้อนต่อไปที่อากาศแทนการเผาอากาศด้วยก๊าซหุงต้มแบบเดิม ด้วยวิธีนี้ทำให้ลดการใช้แก๊สหุงต้มได้เกือบทั้งหมด

กระบวนการที่พิถีพิถันเหล่านี้เกิดจากการลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน และการช่วยกันคิดค้นหาทางออกใหม่ๆ ไม่ใช่เพียงไอเดียของผู้บริหารและนักออกแบบเท่านั้น แต่การคิดค้นในหลาย ๆ ครั้งยังเกิดจากชาวบ้านที่ปฏิบัติงานและเล็งเห็นปัญหาเหล่านี้เองด้วย เพราะทั้งองค์กร พนักงาน และชุมชนต่างมีเป้าหมายเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมย่อมมาพร้อมกับขั้นตอนมากมายที่เพิ่มขึ้น และแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และแบรนด์ดอยตุงต้องการเป็นต้นแบบของการพัฒนา เพื่อให้คนและธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

ที่มา กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

 

ข่าวที่น่าสนใจ