“บิ๊กตู่” คาดเศรษฐกิจไทยปีหน้าโตได้ 4-5% วาง 4 ยุทธศาสตร์ใช้งบ'64

by ThaiQuote, 1 กรกฎาคม 2563

พล.อ.ประยุทธ์ เสนอแผนใช้งบปี 64 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาทต่อสภา พร้อมคาดเศรษฐกิจไทยปีหน้าโตได้ 4-5% แต่จะขึ้นหรือลง อยู่ที่โควิด-19 ด้วย ตีกรอบแผนใช้เงิน 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ

 

วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เข้าประชุมที่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 หรือร่าง พ.ร.บ.งบ 64 วงเงินไม่เกิน 3.3 ล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวนำเสนอร่าง พ.ร.บ.งบ 64 ระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะต้องใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันนโยบายต่าง ๆ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติแผนการปฏิรูปประเทศ และนโยบายสำคัญของรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จ เป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

โดยรัฐบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกันทั้งเงื่อนไขทางเศรษฐกิจภายในประเทศและผลกระทบจากภายนอก รวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ

ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะปรับตัวลดลงและติดลบ 5-6% เหตุผลสำคัญคือสงครามการค้า ผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ส่งผลมายังแรงขับเคลื่อนอุปสงค์ต่างประเทศและในประเทศปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ที่รัฐบาลสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศในช่วงไตรมาสที่ 2 จนขยับใกล้เคียงกับภาวะปกติ และอีกทั้งการควบคุมการท่องเที่ยวก็น่าจะมีการผ่อนคลายในไตรมาสที่ 4 ซึ่งจะทำให้การปรับลดลงของเศรษฐกิจในประเทศเกิดขึ้นในอัตราที่ช้าลง ซึ่งจะได้รับปัจจัยมาจากการปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลต่อเนื่องมายังไทย ทั้งการระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มที่น่าจะดีขึ้น รวมถึงแรงสนับสนุนการผลิต และการส่งออก ที่สำคัญคือการขับเคลื่อนของการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 4 รวมไปถึงการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งก็จะทำให้ตัวเลขดีขึ้น

นายกฯ กล่าวอีกว่า ในส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะเติบโตได้ 4– 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเทียบกับปี 2563 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากฐานการขยายตัวที่ต่ำกว่าปกติ ในปี 2563 และแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่อนคลายลง รวมถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศตามการเริ่มฟื้นตัวของฐานรายได้จากการส่งออก การท่องเที่ยว การผลิตภาคเกษตร

และแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐทั้งการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ และการเบิกจ่ายภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูงและมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่า

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเหมาะสมเพียงพอ และไม่ส่งผลต่อหนี้สาธารณะจึงกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 3.3 ล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุลโดยกำหนดรายได้สุทธิจำนวน 2.6 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 6.2 แสนล้านบาท

สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีจำนวน 7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ 60% โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาลซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรงและการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 6.5 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 5.1 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมามีความผ่อนคลายมากขึ้น เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 มีแนวโน้มติดลบตามราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ระบบการเงินมีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ลดลงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และพฤษภาคม 2563 สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ สนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า สำหรับกรอบโครงสร้างยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีรายละเอียดการดำเนินงานที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 4.1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 12.6% ของวงเงินงบประมาณ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 12.2% ของวงเงินงบประมาณ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 5.7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 17.5% ของวงเงินงบประมาณ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 7.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 24.1% ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1.1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.6% ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น5.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 16.9% ของวงเงินงบประมาณ

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

"สมคิด" ชี้แบงก์รัฐต้องช่วย SMEs คนตัวเล็กเข้าถึงสินเชื่อ หากไม่ทำ “ลำบากแน่ ๆ”

โควิด-19 ตัวเร่งเอเชียเปลี่ยน "การกิน" มุ่งหาอาหารเสริมสร้างภูมิให้ร่างกาย