หนุ่มสาวโรงงานเฮ กลุ่มเสี่ยง ตรวจโควิดฟรี

by ThaiQuote, 9 มกราคม 2564

รมว.แรงงาน เผยตัวเลขช่วยลูกจ้างถูกเลิกจ้างจากผลกระทบโควิดแล้วกว่า 2,900 คน รับเงินช่วยเหลือกว่า 264 ล้านบาท พร้อมให้ลูกจ้างกลุ่มเสี่ยงที่มีประกันสังคมตรวจโควิดฟรี

นายสุชาติ ชมกลิ่น เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้ให้การช่วยเหลือลูกจ้างจำนวนมากที่ถูกบริษัทเลิกจ้างกะทันหันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบก่อน อาทิ บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ที่เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 2,500 คน บริษัท ยูนิสันแพน (เอเชีย) จำกัด เลิกจ้างลูกจ้าง จำนวน 658 คน โดยให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เร่งรัด ติดตามการช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิลูกจ้างอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้รับสิทธิอย่างครบถ้วนและรวดเร็ว เพราะปัญหาค่าใช้จ่ายในเรื่องความเป็นอยู่ และปากท้องของแรงงานในปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญ


โดยได้ดำเนินการประสาน บริษัท วิงสแปนฯ จำกัด และผู้ทำแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ทราบว่านายจ้างได้นำแคชเชียร์เช็คมาจ่ายให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างแล้วจำนวน 2,441 คน รวมเป็นเงิน 258,309,031.87 บาท และยังคงมีลูกจ้างที่ยังไม่ได้มารับแคชเชียร์เช็คอีกจำนวน 59 คน ซึ่งได้แนะนำให้บริษัทฯ โอนเงินตามสิทธิที่ลูกจ้างพึงจะได้รับเข้าบัญชีธนาคารตามรายชื่อของลูกจ้างทั้ง 59 คนแล้ว


สำหรับลูกจ้างบริษัท ยูนิสัน แพน (เอเซีย) จำกัด ที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานภายในระยะเวลาที่กำหนด กรมฯ ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อนายจ้างฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แล้ว และได้อนุมัติเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายเงินค่าชดเชยให้ลูกจ้างจำนวน 426 คน เป็นเงินจำนวน 6,743,750 บาท ซึ่งมีลูกจ้างมายื่นขอรับเงินกองทุนสงเคราะห์ฯ แล้ว จำนวน 175 คน เป็นเงินจำนวน 2,713,750 บาท

 


ในขณะที่มีลูกจ้างจำนวน 252 คน ได้ทำสัญญากับนายจ้างที่ยื่นข้อเสนอว่าจะจ่ายเงินค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ลูกจ้างพอใจ และได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญาเพื่อเป็นหลักฐาน ส่วนลูกจ้างที่ยังไม่ได้เข้ามายื่นขอรับเงินกองทุนฯ จะได้มีการประสานให้ลูกจ้างเข้ามารับเงินดังกล่าวต่อไป

 


ขณะที่ในวันนี้ (9 ม.ค.63) รัฐบาลได้เริ่มมาตรการตรวจคัดกรองแรงงานในสถานประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้แก่แรงงานทั้งคนไทยและต่างด้าว โดยเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกันสังคมได้มีการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีคัดกรองการติดเชื้อโควิด - 19 ให้ผู้ประกันตนได้รับบริการทางการแพทย์เชิงรุก

ทั้งนี้เพื่อการค้นหาผู้ประกันตนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในสถานประกอบการ และ เป็นการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ ให้ดำเนินธุรกิจไปต่อโดยไม่ต้องหยุดการผลิต

สำหรับค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองนั้นสำนักงานประกันสังคม จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ในจังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามระดับความรุนแรงที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด -19 มีคำสั่ง

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ