สสว.- SME D Bank ช่วยร้านอาหาร-ท่องเที่ยว ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เริ่ม 11 ส.ค.นี้

by ThaiQuote, 10 สิงหาคม 2564

เปิด“โครงการสนับสนุน SMEsรายย่อย” วงเงิน 1,200 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% ต่อปี” ช่วยเอสเอ็มอีสมาชิก สสว. กลุ่มท่องเที่ยว 10 จังหวัดนำร่องเปิดการท่องเที่ยว ร้านอาหาร 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม วงเงินกู้บุคคลธรรมดาสูงสุด 3 แสนบาท นิติบุคคลสูงสุด 5 แสนบาท เปิดลงทะเบียนออนไลน์ ตั้งแต่เวลา 13.00 น. วันที่11 ส.ค. 64

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลออกมาตรการ “ล็อกดาวน์” พื้นที่จำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ 29 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในพื้นที่ โดยรวมไปถึง 10 จังหวัดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว

โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ห้องพัก เกสต์เฮ้าส์ สปา ภัตตาคาร และร้านอาหาร ดังนั้น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงได้ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เตรียมปล่อยสินเชื่อ “โครงการสนับสนุน SMEsรายย่อย” วงเงิน 1,200 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% ต่อปี”

“วีระพงศ์ มาลัย” ผู้อํานวยการ สสว. ได้ขยายความถึงคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการว่า จะต้องเป็นสมาชิก สสว. กรณียังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สสว. สามารถขอขึ้นทะเบียนก่อนได้ ( http://members.sme.go.th/newportal/ ) โดยต้องเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มรายย่อย (Micro) และขนาดย่อม (Small) ในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ห้องพัก เกสต์เฮ้าส์และธุรกิจสปาที่ตั้งอยู่ในโรงแรม ห้องพัก เกสต์เฮาส์ ใน 10 จังหวัด พื้นที่นำร่องเปิดการท่องเที่ยว ประกอบด้วย

1.ภูเก็ต 2.กระบี่ 3.พังงา 4.สุราษฎร์ธานี 5.เชียงใหม่ 6.ชลบุรี 7.เพชรบุรี 8.ประจวบคีรีขันธ์ 9.บุรีรัมย์ และ 10.กทม.หรือที่จะมีประกาศเพิ่มเติม

รวมถึง กลุ่มธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ใน 29 จังหวัด พื้นที่สีแดงเข้ม ได้แก่ 1.กทม.2. กาญจนบุรี 3.ชลบุรี 4.ฉะเชิงเทรา 5. ตาก 6. นครปฐม 7. นครนายก 8. นครราชสีมา 9. นราธิวาส 10.นนทบุรี 11.ปทุมธานี 12.ประจวบคีรีขันธ์ 13.ปราจีนบุรี
14.พระนครศรีอยุธยา 15.เพชรบุรี 16.ปัตตานี 17.เพชรบูรณ์ 18.ยะลา 19.ระยอง 20.ราชบุรี 21.ลพบุรี 22.สงขลา
23.สิงห์บุรี 24.สมุทรปราการ 25.สมุทรสงคราม 26.สมุทรสาคร 27.สระบุรี 28.สุพรรณบุรี และ 29.อ่างทอง หรือที่จะมี
ประกาศเพิ่มเติม

ทั้งนี้ต้องไม่เคยได้รับความช่วยเหลือเงินทุนในโครงการพลิกฟื้นฯ โครงการฟื้นฟูฯ หรือกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ รวมถึง ต้องไม่เป็นหนี้ NPLs ไม่ถูกดำเนินคดี และไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

สำหรับ วงเงินกู้สำหรับบุคคลธรรมดา สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท พิจารณาจากการชำระภาษี ภ.ง.ด.90 ในปี 62 หรือ 63 หากจำนวนเงินที่ชำระภาษี 0-10,000 บาท วงเงินกู้สูงสุด 100,000 บาท , ชำระภาษี 10,001-20,000 บาท กู้สูงสุด 200,000 บาท และชำระภาษีมากกว่า 20,000 บาทขึ้นไป กู้สูงสุด 300,000 บาท

กรณีมีสถานประกอบการเป็นของตัวเองหรือบุคคลในครอบครัว ให้วงเงินเพิ่มอีกลำดับละ 50,000 บาท แต่รวมแล้วสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท

สำหรับนิติบุคคล ไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายในงบการเงินปี 62 หรือ 63 ที่สูงกว่า โดยมีวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
ในส่วนของหลักประกัน กรณีบุคคลธรรมดา ใช้บุคคลที่น่าเชื่อถือค้ำประกัน ส่วนกรณีนิติบุคคล ใช้กรรมการผู้มีอำนาจแทนนิติบุคคลค้ำประกัน

“นารถนารี รัฐปัตย์” กรรมการผู้จัดการ SME D Bank กล่าวเสริมว่า ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถลงทะเบียนยื่นกู้ได้ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยสแกน QR Code หรือผ่านทางเว็บไซต์ https://qrgo.page.link/VF6Ka รวมถึง เว็บไซต์ SME D Bank (https://www.smebank.co.th/) , Line OA : SME Development Bank และแอปพลิเคชัน : SME D Bank ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ในวันที่11 ส.ค.64 เป็นต้นไป

 

เรื่องที่น่าสนใจ

เผยเคล็ดลับ “อู่ฮั่น” ตรวจโควิด 11 ล้านคน เสร็จภายใน 5 วัน