ไม่แพ้ใครในโลก! สตาร์ตอัปไทย ReLIFE พัฒนากระจกตาชีวภาพ ความหวังเปลี่ยนกระจกตาไม่ต้องรอรับบริจาค

by ThaiQuote, 12 กันยายน 2565

ปัจจุบันมีผู้พิการทางสายตาทั่วโลกกว่า 10 ล้านคน กำลังเผชิญกับความยากลำบาก อันเนื่องมาจากการสูญเสียการมองเห็นด้วยอาการบาดเจ็บของกระจกตา หนทางเดียวในการรักษาคือการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา โดยอาศัยกระจกตาบริจาคจากผู้เสียชีวิต ทว่าผู้โชคดีที่จะได้รับโอกาสในการกลับมามองเห็นมีเพียง 15% เท่านั้น

 

เพื่อคืนแสงสว่างจากความมืดมิดให้แก่ผู้พิการทางสายตาจากโรคกระจกตา ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์ นักวิจัยทีมวิจัยไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ไบโอเทค สวทช. และ CEO บริษัทรีไลฟ์ จำกัด (ReLIFe Co., Ltd.) หนึ่งใน NSTDA Startup ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนา “กระจกตาชีวภาพจากจากสเต็มเซลล์ (Stem Cell)” เพื่อใช้ทดแทนกระจกตาบริจาค และลดความเสี่ยงจากการใช้กระจกตาจากผู้อื่นหรือวัสดุเทียม

กระจกตาชีวภาพจากสเต็มเซลล์
จุดเริ่มต้นในการวิจัยและพัฒนากระจกตาชีวภาพจากสเต็มเซลล์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ยุคที่นักวิจัยเริ่มพัฒนาอวัยวะเทียมกันอย่างแพร่หลาย แต่มีนักวิจัยน้อยคนที่จะสนใจวิจัยและพัฒนากระจกตาเทียม เพราะเชื่อว่าเป็นอวัยวะที่รอรับบริจาคได้

 

ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์ นักวิจัยทีมวิจัยไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ไบโอเทค สวทช. และ CEO บริษัทรีไลฟ์ จำกัด (ReLIFe Co., Ltd.)

ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์ นักวิจัยทีมวิจัยไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ไบโอเทค สวทช. และ CEO บริษัทรีไลฟ์ จำกัด (ReLIFe Co., Ltd.)

 

ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์ อธิบายว่า ตั้งแต่เริ่มต้นทำวิจัยเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ‘กระจกตาเทียม’ ยังคงเป็นที่ต้องการของหลายประเทศทั่วโลก เพราะในหลักการแล้ว แม้กระจกตาจะเป็นอวัยวะที่สามารถรับบริจาคได้ มีผลข้างเคียงต่ำ แต่ในทางปฏิบัติ การรับบริจาคเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการแพทย์ไม่พร้อม เนื่องจากกระจกตามีอายุสั้น หากมีการจัดเก็บจากผู้เสียชีวิตล่าช้าหรือจัดเก็บด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสมจะทำให้กระจกตาเสื่อมสภาพทันที และด้วยสาเหตุนี้แม้ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศจะไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนกระจกตา แต่ก็ไม่สามารถบริจาคไปช่วยเหลือประเทศที่มีความต้องการได้

 

Fiber-reinforced hydrogel

Fiber-reinforced hydrogel

 

Fiber-reinforced hydrogel

Fiber-reinforced hydrogel

 

การพัฒนา “กระจกตาชีวภาพ” ได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของทีมวิจัย ที่ไม่เพียงเป็นความหวังสร้างชีวิตใหม่ให้แก่ผู้เฝ้ารอรับบริจาคกระจกตา แต่ยังเป็นโอกาสในการบุกเบิกสร้างสรรค์นวัตกรรมกระจกตาชีวภาพรายแรกของโลก

ดร.ข้าว อธิบายว่า ตามธรรมชาติกระจกตาของมนุษย์จะมีลักษณะเป็นเจลลีที่เหนียว แข็งแรง ทนทาน เนื่องจากต้องรับแรงดึงจากการกระพริบหรือกรอกตาตลอดเวลา ความแข็งแรงนี้มาจากโครงสร้างภายในที่มีลักษณะเป็นเส้นใยสานกันแน่นเป็นตาข่าย 300-500 ชั้น ในการออกแบบกระบวนการผลิตกระจกตาชีวภาพ ทีมวิจัยจึงพยายามเลียนแบบลักษณะและโครงสร้างภายในกระจกตาเพื่อให้มีลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด

“ทีมวิจัยได้พัฒนากระจกตาให้มีลักษณะเป็นเจลลีเสริมแรงเส้นใย ‘Fiber-reinforced hydrogel’ ผ่านกระบวนการปั่นเส้นใยด้วยไฟฟ้าแรงสูง (Electrospinning) เพื่อนำเจลลี่ที่มีลักษณะเหมือนกับกระจกตาของมนุษย์มาใช้เป็นโครงเลี้ยงสเต็มเซลล์ สำหรับนำไปผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาให้แก่คนไข้ หลังจากทั้งโครงเลี้ยงเซลล์และ สเต็มเซลล์ เข้าไปยึดติดบนดวงตาของคนไข้แล้ว Stem cell จะค่อยๆ กินโครงเลี้ยงเซลล์เป็นอาหารจนหมด และเติบโตขึ้นมาใหม่เป็นเซลล์กระจกตาตามธรรมชาติที่ลักษณะเหมือนกับโครงเลี้ยงเซลล์ทุกประการ ทำให้มีความปลอดภัยไม่เกิดการต่อต้านจากร่างกาย”

การเปลี่ยนกระจกตาโดยใช้กระจกตาชีวภาพทำให้ผู้ป่วยได้ใช้กระจกตาที่ใสเหมือนกระจกตาของเด็กแรกเกิด แตกต่างจากกระจกตาที่รับบริจาคซึ่งมีความขุ่นมัวตามอายุการใช้งานของผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ทีมวิจัยยังออกแบบการผลิตให้ผลิตได้ทั้งแบบใช้งานทั่วไปและแบบจำเพาะกับลักษณะลูกตาของคนไข้ได้ เหตุผลเหล่านี้ถือเป็นจุดแข็งสำคัญที่แม้แต่คนไข้ในประเทศที่มีกระจกตาบริจาคเพียงพอก็ยังไม่อาจปฏิเสธความสนใจในการใช้งานผลิตภัณฑ์นี้ได้

ดร.ข้าว เสริมว่า การวิจัยและพัฒนากระจกตาชีวภาพนี้นอกจากจะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทีมวิจัยและผู้บริหารของไบโอเทค สวทช. แล้ว ยังได้รับการสนับสนุนด้านการเก็บเซลล์กระจกตา การทดสอบในสัตว์ รวมถึงการทดสอบในมนุษย์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากอาจารย์และบุคลากรคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ปัจจุบันการทดสอบอยู่ในขั้นตอนทดสอบในสัตว์ทดลองโดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการทดลองในสัตว์ทดลองครั้งนี้จะประสบความสำเร็จด้วยดี และสามารถทดสอบในมนุษย์ได้ภายในปีหน้า

Spin off สู่ Start-up บริษัท ReLIFE

จากเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ฝันอยากเป็น CEO จากวิศวกรทางการแพทย์คนหนึ่งที่ฝันอยากสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้คนไข้ได้ใช้ประโยชน์จริง เพื่อทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คือแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เขาก้าวข้ามทุกอุปสรรคจนประสบความสำเร็จขึ้นแท่นสู่การเป็นสตาร์ตอัป ในฐานะ CEO ของบริษัทรีไลฟ์ จำกัด ในปัจจุบัน

ดร.ข้าว เล่าว่า เมื่อตัดสินใจ Spin off ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการ และ ดร.นตพร จันทร์วราสุทธิ์ รองผู้อำนวยการ ไบโอเทค สวทช. ต่างให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ท่านทั้งสองเป็นผู้นัดหมายการนำเสนองานต่อนักลงทุนให้ ซึ่งผลตอบรับก็เป็นที่น่ายินดียิ่ง เพราะ ‘ผลงานการวิจัย’ และ ‘ตัวตนของทีมวิจัย’ มีศักยภาพและแรงดึงดูดมากพอที่คุณรักชัย เร่งสมบูรณ์ ผู้ก่อตั้งและผู้นำทีมวิศวกรรมบริษัทฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด จะร่วมลงทุนตั้งแต่ครั้งแรกที่พบกัน โดยบริษัทรีไลฟ์ จำกัด ได้รับทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 100 ล้านบาท สำหรับใช้สร้างโรงงานผลิตกระจกตาเทียมชีวภาพ

“สิ่งที่ทำให้คุณรักชัยเชื่อว่าเรามีศักยภาพมากพอ คือ เราทำให้เขาเห็นว่าผลงานนี้มีโอกาสทางธุรกิจมากขนาดไหน เป็นผลงานที่เป็น Blue ocean อย่างแท้จริง อีกสิ่งที่เราได้นำเสนอควบคู่กันไปแบบทางอ้อม คือ ตัวตนของเรา เราแสดงให้เขาเห็นถึงทัศนคติ ความมุ่งมั่นตั้งใจ ทักษะความสามารถในการบริหารงาน การทำธุรกิจ และการสื่อสาร ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ก้าวต่อไปของบริษัทหลังจากการทดลองในมนุษย์ซึ่งคาดว่าจะเกิดในอนาคตอันใกล้นี้หากประสบความสำเร็จ ก็จะมีการระดมทุนครั้งต่อไปทันที”

ปัจจุบันบริษัทรีไลฟ์ จำกัด เดินหน้าทำการวิจัย พัฒนา และทดสอบ แบบเต็มกำลังแล้ว “ผลงานนี้จะเปลี่ยนโลก มอบชีวิตใหม่ให้แก่คนหลักสิบล้านคน จากที่คนไข้ไทยเคยต้องรอ 3 ปี 5 ปี ผมสัญญาว่าจะทำให้ต้องรอไม่เกิน 1 เดือน จากที่คุณใช้ชีวิตยากลำบาก คุณจะต้องกลับมามองเห็นได้และใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม และผมสัญญาว่าผมจะทำให้คนไทยได้ใช้กระจกตาเทียมชีวภาพในราคาที่ถูกที่สุดครับ” ดร.ข้าว นักวิจัยไบโอเทค และ CEO บริษัทรีไลฟ์ จำกัด ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าประทับใจ

ผลงานกระจกตาชีวภาพจากบริษัทรีไลฟ์ จำกัด เป็นส่วนหนึ่งของผลงานจาก 9 บริษัทสตาร์ตอัปที่เปิดตัวในงานแถลงข่าว “สวทช. ขยายงานวิจัยสู่โมเดลธุรกิจใหม่ 9 ดีปเทคสตาร์ตอัป” เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

OR ตั้งเป้าเปิดให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้า EV Station PluZ 450 แห่งภายในปี 2565 ส่งเสริม Net Carbon Zero
https://www.thaiquote.org/content/248057

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ชวนคิดใหญ่ แล้วเริ่มทำจากเล็กๆ และขยายผลให้ไว เพื่อพัฒนาเมืองยั่งยืน
https://www.thaiquote.org/content/248051

นักวิจัยจุฬาฯ คิดค้นนวัตกรรมยางพาราผงสู่ผลิตภัณฑ์ผ้าเบรกรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพรับแรงเสียดทานและลดอัตราการสึกหรอ
https://www.thaiquote.org/content/248038