“ป้าเหงี่ยม” ผู้รักษาภูมิปัญญาการย้อม “ผ้าหม้อห้อม” ต่อยอดให้ฟื้นชีวิตขึ้นมาใหม่ สวยงาม สร้างอาชีพให้ชุมชน

by วันทนา อรรถสถาวร , 21 มกราคม 2566

ใครจะไปเชื่อผ้าหม้อห้อมสีน้ำเงินตุ่น ๆ ที่ชาวบ้านย้อมมาตัดเป็นเสื้อผ้าไว้ใส่ทำนา มาวันนี้ใส่เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และดีไซน์จะสามารถสร้างรายได้เสื้อผ้าจากตัวละ 100 กว่าบาท สามารถขายได้ราคาเป็นหลักหมื่น หลักแสน เรามาดูเส้นทางชีวิตใหม่ที่มีชีวิตชีวาของหม้อห้อมกัน...

 

 

Thaiquote ได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ "ประภาพรรณ ศรีไตร” หนึ่งในปราชญ์สัมมาชีพ ประจำปี 2565 ผู้ฟื้นคืนชีพให้ “ผ้าหม้อห้อม” มีชีวิตบนเส้นทางแห่งแฟชั่นได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

 

อาจารย์ประภาพรรณ ศรีไตร

อาจารย์ประภาพรรณ ศรีไตร

 

อาจารย์ประภาพรรณหรือที่รู้จักกันว่า “ป้าเหงี่ยม” เล่าให้ฟังว่าเดิมประกอบอาชีพเป็นครูภาษาไทยชั้นประถม พอเกษียณอายุมาก็มีสำนักงานวิจัยแห่งชาติลงมาพื้นที่เพื่อทำการวิจัย และต้องการส่งเสริม แต่คนในหมู่บ้านไม่มีใครสนใจ ป้าก็เลยรับมาทำอย่างจริงจังมากขึ้น ช่วยกันสืบสานอนุรักษ์จนสามารถเป็นรูปเป็นร่าง เป็นอาชีพสืบทอดอย่างกว้างขวางขึ้น

 

 

เดิมทีผ้าหม้อห้อมเป็นภูมิปัญญาการย้อมผ้าที่มีมากว่า 200 ปีของชาวไทยพวน ที่เดิมอาศัยอยู่ที่ฝั่งลาวแล้วอพยพตั้งถิ่นฐานมาอยู่ฝั่งไทย รุ่นป้าเป็นรุ่นที่ 3 ตอนนี้ถ่ายทอดจนถึงรุ่นที่ 4 แล้ว

ป้าเหงี่ยมเล่าถึงเทคนิคการย้อมว่า การย้อมหม้อห้อม เป็นการย้อมมาจากต้นห้อม ซึ่งเป็นพืชล้มลุก วิธีทำสีคือต้นตั้งแต่ยอดลงมา 8 นิ้วทั้งต้นและใบ เอามาบดแช่น้ำ 3 วัน 3 คืน หรือ 72 ชั่วโมง กรองเอาแต่น้ำ แล้วใช้ปูนที่กินกับหมากจะเป็นสีแดงหรือสีขาวก็ได้ ใส่ลงไปในน้ำสี แล้วใช้ชะลอมตีสีเหมือนตีไข่ให้เกิดฟอง เพื่อให้สีเข้ามาในตัวปูน แล้วปล่อยให้ตกตะกอน 1 คืน เช้าขึ้นมากรองด้วยผ้าหนา ๆ อีก 1 ครั้งก็จะได้น้ำสีที่เรียกว่าห้อมเปียก แต่ห้อมเปียกนี้มาละลายกับน้ำธรรมดาจะย้อมไม่ติด ต้องนำมาละลายกับน้ำด่าง ก็คือน้ำที่ได้จากขี้เถ้า มาผสมกับน้ำมะขามเปียก โดยมีสัดส่วน น้ำห้อมเปียก 1 กิโลกรัม น้ำด่าง 3 ลิตร น้ำมะขามเปียก 300 กรัม การย้อมนี้เป็นการย้อมเย็น อัตลักษณ์การย้อมนี้ต้องทอผ้าเป็นผืน หรือตัดเป็นตัวเสื้อ เป็นกางเกงให้เรียบร้อยก่อนค่อยมาย้อม ไม่เหมือนย้อมชนิดอื่นเป็นการย้อมเส้นด้าย ชาวบ้านจะปั้นหม้อ ปั้นโอ่งมาย้อม จึงเรียกว่า “หม้อห้อม”

 

 

เส้นทางการอนุรักษ์

รุ่นแรก ๆ ที่อพยพมาจะย้อมในรูปแบบธรรมชาติ ตลาดในระยะแรก ๆ ก็ขายตามหมู่บ้าน ตลาดท้องถิ่น ไม่มีร้าน ต่อมาก็มีคนต่างจังหวัดต่าง ๆ มาสั่งซื้อ จึงทำเป็นสต๊อกไว้ ต่อมาในรุ่นที่สองก็เริ่มมีเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นชาวบ้านที่เป็นเกษตรกร ซื้อไปเพื่อใส่ทำนา ทำสวน เมื่อก่อนทำเป็นสต๊อกนั้นปัญหาส่วนหนึ่งมีสินค้าค้างอยู่มาก ขายไม่ออก ต่อมาในรุ่นใหม่ มีการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ขายออนไลน์ ก็ไม่ต้องมีสต๊อก ขายแบบพรีออร์เดอร์ ตามคำสั่งซื้อ ทุกวันนี้ทำไม่ทันขาย

ตอนที่อาจารย์เข้ามาได้นำนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาแก้ไขปัญหาการย้อมในอดีต ซึ่งในอดีตไม่มีลวดลาย แต่สมัยใหม่มีลวดลาย ทั้งในแง่การนำเทคนิคบาร์ติกมาทำ เทคนิคบาร์ติกเขียนเทียน เทคนิคการเพ้นท์ นอกจากนี้ผ้าหม้อห้อมบางครั้งการย้อมจะด่าง ไม่ติด หรือติดไม่ทั่วถึง จึงนำเทคนิคพาสม่าร์มาเข้ามาช่วย ทำผ่านเครื่อง โดยทางมหาวิทยาลัยเข้ามาสนับสนุนสอนให้ใช้เทคนิคนี้

 

 

ทุกวันนี้เทคนิคการย้อมมีใช้แบบผสมผสานทั้งแบบเคมี และแบบออร์แกนิกส์ ถ้าเป็นสินค้า GI ต้องทำแบบออร์แกนิกส์ พวกนี้ทำออกมาก็จะได้ราคา เพราะเป็นธรรมชาติทั้งหมด

ปัจจุบันนี้มีสื่อจากไต้หวัน จีน ญี่ปุ่นมาถ่ายทำวิธีการทำหม้อห้อม แล้วไปเผยแพร่ในประเทศของตนเอง ทำให้มีลูกค้าบางส่วนที่สนใจจากต่างประเทศเข้ามาซื้อมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นงานทำด้วยมือทั้งหมด เช่น งานบาร์ติกก็ใช้เขียนเอา ไม่ใช้ปั้ม ขายดี และได้ราคางาม

การพัฒนาหม้อห้อมของป้าเหงี่ยมช่วยยกระดับคุณค่าและราคาให้หม้อห้อม จากเดิมที่ทำให้กับชาวบ้านในท้องถิ่นใส่ราคาตัวละ 100 กว่าบาท พอทำลายขึ้นมาใหม่ ตัดเย็บใหม่ สามารถขายได้ราคาถึงกว่า 500 บาท บางตัวหลักพัน สูงสุดที่เคยขายได้ประมาณ 2,500 บาท

 

การพัฒนาของป้าเหงี่ยมไม่มีสิ้นสุด ล่าสุดเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา เครือไทยเบฟได้นำสถาบันการศึกษา 5-6 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยลำปาง วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยอาสาทำเรื่องการตลาด ส่งผลให้มีลูกค้าจากต่างประเทศเข้ามาซื้อ เช่น จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ส่วนทางด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยเพาะช่าง มาสอนเรื่องการทำดีไซน์ การวางแพทเทิร์น รวมทั้งถึงการออกแบบให้ทำสินค้าที่ใช้ในครัวเรือน นอกเหนือจากเสื้อผ้า ทำเครื่องประดับ ของชำร่วย เป็นต้น

 

 

สร้างศูนย์เรียนรู้

จากความสำเร็จที่ “ป้าเหงี่ยม” ได้ฟื้นฟูการนำผ้าหม้อห้อมมาพัฒนาเป็นเสื้อผ้าในรูปแบบที่ทันสมัย แต่เนื่องจากกระบวนการทำงานเป็นงานทำมือ ต้องใช้แรงงานมาก จึงจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มย้อมกว่า 20 คน และกลุ่มตัดเย็บอีกกว่า 40 คน โดยทุกวันนี้แต่ละคนจะมีรายได้โดยประมาณ 10,000 บาท ต่อเดือน โดยไม่จำเป็นต้องออกไปหางานทำในที่ห่างไกล

“ป้าก็รู้สึกภูมิใจว่าเราได้สร้างให้เขาเหล่านั้นมีอาชีพ มีรายได้ มีความมั่นคง ทุกบ้านมีงานผ้าหม้อห้อมทำกันถ้วนหน้า” ป้าเหงี่ยมกล่าว

นอกเหนือจากรายได้ของสมาชิกในวิสาหกิจชุมชนได้รับแล้ว ทางวิสาหกิจได้จัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งมาทำศูนย์เรียนรู้ และรายได้ที่ได้จากการประกวดชนะชุมชนดีเด่นหลายโครงการ ตัวอย่างเช่นที่มูลนิธิสัมมาชีพก็ได้มา 1 แสนบาท ก็รวบรวมมาสร้างอาคารเรียนรู้ จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ

 

 

ที่ศูนย์นี้จะเป็นสถานที่สอนให้บุคคลภายนอกที่สนใจงานหม้อห้อมได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติ มีตั้งแต่นักเรียนระดับเล็กมาดูงาน เพื่อทำโครงงานส่งครู ระดับมัธยม จนถึงมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคนตั้งใจมาเรียนรู้อย่างจริงจังเพื่อเก็บกลับไปประกอบอาชีพของตนเอง ทุกวันมีคนเข้ามาดูงาน อบรมไม่ต่ำกว่าหลายร้อยคน ป้าเหงี่ยม เล่าให้ฟัง

จากความสำเร็จของป้าเหงี่ยมที่บ่มเพาะ ถ่ายทอดความรู้ให้เด็กรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นคนที่กล้าคิด กล้าทำ นำดีไซน์เข้ามาใส่ด้วยยิ่งทำให้มูลค่าของผ้าหม้อห้อมขายได้ราคาสูงกว่าการออกแบบ หรือการย้อมลาย โดยดีไซน์ที่ทันสมัย เหมาะกับคนยุคใหม่ งานทำมือ มีตัวเดียวในโลกสามารถขายได้ในราคาหลักหมื่น หลักแสน

“คนรุ่นใหม่พวกนี้เขามาขอบคุณป้า บอกป้าทำให้เขามีวันนี้ วันที่ได้เห็นเงินหลักแสน” ป้าเหงี่ยมเล่าด้วยความภูมิใจ

จากความสำเร็จที่ป้าเหงี่ยมได้สืบสานภูมิปัญญาเสื้อหม้อห้อมแล้ว ตอนนี้ป้าเหงี่ยมกำลังทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาในการต่อยอดพัฒนาห้อมมาเป็นพืชสมุนไพรในการทำเครื่องสำอาง ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้เริ่มวางจำหน่ายแล้ว และพร้อมที่จะขยายภูมิปัญญานี้ให้กับบุคคลภายนอกต่อไป

ป้าเหงี่ยมฝากแนวคิดในการทำงานก่อนบทสนทนาจะจบว่า “ให้ประสบความสำเร็จ โดยมองว่าเรามีภูมิปัญญาที่ดีของเราอยู่ในเมืองไทยอยู่แล้ว จงสืบสาน ต่อยอด ทำงานให้มีความสุข โดยไม่ยึดตัวเงินเป็นที่ตั้ง เมื่อทำอย่างจริงจังก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดีกลับมา”.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

สั่งสมความรู้ จนบ่มเพาะเป็นภูมิปัญญา “ปุ๋ยหมักระบบกองแบบเติมอากาศ” คืนชีวิตให้ดิน
https://www.thaiquote.org/content/249245

ปราชญ์จัดการน้ำแห่งตำบลดงขี้เล็ก ส่งเสริมสร้างแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดิน ลดปัญหา หลาก ท่วม แล้ง อย่างยั่งยืน
https://www.thaiquote.org/content/249185

ชนบทมีความมั่งคั่ง หากพัฒนาถูกทาง ความยั่งยืนจะคืนมา
https://www.thaiquote.org/content/249035