ม.มหิดล ร่วมกับชุมชน สร้างสรรค์ศูนย์อาหารสุขภาพออนไลน์ "ศาลายาฟู้ดมาร์เก็ต" สร้างความยั่งยืนให้กับกลุ่มเปราะบาง

by วันทนา อรรถสถาวร , 11 กุมภาพันธ์ 2566

ชุมชนโพธิ์ทอง ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐมก็เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการระบาดของโรคโควิด มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่ในชุมชนได้ใช้องค์ความรู้ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนภายใต้โครงการ "ศาลายาฟู้ดมาร์เก็ต"

 

ความยั่งยืน หรือ sustainability อีกมิติหนึ่งที่สำคัญคือการส่งเสริมให้สังคม และชุมชนต่าง ๆ มีความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน ซึ่งในสัปดาห์นี้ Thaiquote ได้สัมภาษณ์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตชยางค์ ยมาภัย หัวหน้าโครงการพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม (Mahidol Social Engagement) เป็นหัวหน้าโครงการ “ศูนย์อาหารออนไลน์ศาลายาฟู้ดมาร์เก็ต” ได้ดำเนินการให้ชุมชนเปราะบางสามารถมีรายได้อย่างยั่งยืน ผลิตอาหารที่มีสุขอนามัยที่ดีตอบสนองต่อคนในชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตชยางค์ ยมาภัย หัวหน้าโครงการพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม (Mahidol Social Engagement)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตชยางค์ ยมาภัย หัวหน้าโครงการพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม (Mahidol Social Engagement)

อาจารย์ชิตชยางค์ เล่าให้ Thaiquote ฟังว่า โครงการ “ศาลายาฟู้ดมาร์เก็ต” เป็นส่วนหนึ่งในงานพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม ซึ่งเป็นงานรับใช้สังคม โดยมหาวิททยาลัยจะเข้าไปดูคุณภาพชีวิตของคนในสังคมได้อย่างไร สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้ดีขึ้นอย่างไร นี่เป็นรายละเอียดส่วนงานหนึ่งที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตชยางค์ ยมาภัย เป็นคนดูแล

มหาวิทยาลัยมหิดลมีอยู่หลายวิทยาเขต ไม่ว่าจะเป็นนครสวรรค์ อำนาจเจริญ กาญจนบุรี พญาไท ศาลายา โดยมีศาลายาเป็นสำนักงานใหญ่ คณะต่าง ๆ ก็ทำงานกับชุมชนมาโดยตลอด แต่งานที่อาจารย์ดูแลอยู่เป็นงานที่ทำเป็นกิจจะลักษณะที่ชัดเจน ประกอบกับช่วงโควิดที่ผ่านมา จึงอยากสร้างโมเดลหนึ่งที่ส่งเสริมให้มหิดลดูแลชุมชนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยมีดำริว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก แต่ก็มีความเชื่ออย่างแท้จริงว่า การจะเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกนั้นอีกมิติหนึ่งต้องมีความมั่นหมายที่จะส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง

ดังนั้นจึงได้ปรึกษากับเทศบาลตำบลศาลายา ในช่วงวิกฤตนี้มีชุมชนไหนที่เดือดร้อนกว่าชุมชนอื่นบ้าง ทางเทศบาลศาลายาจึงบอกว่าชุมชนโพธิทองเป็นหนึ่งในชุมชนเปราะบาง ชาวบ้านเช่าอยู่ทั้งชุมชน ฉะนั้นชาวบ้านจึงขาดความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่หาเช้ากินค่ำ ฐานะเศรษฐกิจอยู่ในกลุ่มปานกลางถึงยากจน พอเกิดโควิดขึ้นมาย่านพุทธมณฑลสาย 4-5 เป็นย่านที่มีโรงงานมาก คนจนมีอาชีพรับจ้างอยู่ในโรงงานตกงาน พวกค้าขายรายวันก็ตกงาน ลูกจ้างร้านอาหารก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก ใหม่ ๆ มหาวิทยาลัยก็เข้าไปร่วมกับเทศบาลเพื่อช่วยเหลือให้ชุมชนอยู่รอดก่อน มีการแจกน้ำยาฆ่าเชื้อ หน้ากากอนามัย ข้าวสารอาหารแห้งต่าง ๆ ให้กับครัวเรือนที่มีผู้ป่วยติดเตียง เด็กเล็ก เริ่มต้นก็ดูแลให้ชุมชนโพธิ์ทองให้อยู่รอดได้ก่อน

 

 

อาจารย์ชิตชยางค์ บอกว่า การอยู่รอดย่อมไม่ยั่งยืน ประกอบกับโควิดระบาดลากยากมาหลายปี จึงได้คุยกับทางเทศบาลว่าในระยะยาวจะเป็นอย่างไร ซึ่งทางเทศบาลบอกว่า เรื่องการจ้างงานเป็นปัญหาใหญ่ของชุมชน แต่จริง ๆ แล้วเทศบาลมีการฝึกงาน แต่การฝึกงานของเทศบาลไม่ครบห่วงโซ่คุณค่า ทำออกมาไม่รู้จะไปขายใคร ทางมหาวิทยาลัยจึงใช้ความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย ในศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือชุมชน เมื่อชุมชนเกิดปัญหาเรื่องปากท้อง ก็ใช้ความเชี่ยวชาญ 3-4 ด้านมาแก้ไขปัญหา ด้านแรกคือเรื่องวัฒนธรรม ด้านดูแลสุขภาพ ด้านธุรกิจ ระยะแรกออกมาเป็น “โครงการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนโพธิ์ทอง” ชาวบ้านมีความรู้เรื่องการผลิตอาหาร แต่ไม่มีความรู้ในการเข้าถึงสื่อดิจิทัลประเภทไลน์แมน จึงได้มีการปรึกษาหารือกัน 3 ฝ่ายคือ รพ.สต. เทศบาลและมหาวิทยาลัย โดยคิดว่ามหาวิทยาลัยมหิดลนอกเหนือจากทำธุรกิจก็ต้องทำเรื่องสุขภาพด้วย เพราะมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยด้านสุขภาพ ดังนั้นอาหารที่จะขายจึงต้องไม่เป็นอาหารธรรมดา แต่ควรจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ โดยชุมชนต้องส่งออกอาหารเพื่อสุขภาพ 3 มื้อ เพื่อให้ลูกค้าได้อาหารที่ดีในการดูแลสุขภาพ

 

 

 

อาจารย์ชิตชยางค์ อธิบายว่า“โครงการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนโพธิ์ทองใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ ออกแบบแนวคิดยกระดับชาวบ้านเป็นผู้ประกอบการอาหารสุขภาพ ดังนั้นการออกแบบบริการของเราคืออาหารเพื่อสุขภาพส่งถึงผู้บริโภค เริ่มต้นจากการรวบรวมร้านที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งร้านเหล่านี้เป็นร้านอาหารที่ขายอาหารทั่วไป มีรายได้ระดับหนึ่ง เมื่อมหาวิทยาลัยมีโครงการจะเข้าไปยกระดับ จึงมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ โดยระยะแรกตั้งเป้าไว้ประมาณ 40 เมนูจากร้านค้าต่าง ๆ โดยมีการพัฒนา 2 เรื่องที่สำคัญคือ ชีวอนามัยของอาหาร และการออกแบบด้านบริการ ซึ่งเป็นส่วนที่มหาวิทยาลัยนำเข้าไปสอดแทรกในชุมชนให้รู้จักการพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ สะอาด ไม่เค็มเกินไป ไม่หวานเกินไป ไม่ใช้น้ำมันซ้ำ เป็นต้น มีการอบรมเรื่องการรักษาความสะอาด ทำอย่างไรไม่ให้มีแมลงวัน หนู ส่วนการออกแบบดีไซน์ก็จะเน้นเรื่องการใช้ส่วนประกอบอาหารที่ดี ซึ่งเรื่องพวกนี้ชาวบ้านเข้าใจ เช่น มีข้าวผัดกระเพราอยู่แล้ว ก็เพียงเปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวไรซ์เบอรี่ ใช้น้ำปลาที่โซเดียมต่ำ ควบคุมความหวาน ความเค็ม ความมัน”

 

 

 

 

อาจารย์ชิตชยางค์ บอกต่อไปว่า ส่วนประเด็นเรื่องหลังผลิต โดยในระยะแรกมีแนวคิดต้องการผลิตให้คนในชุมชนศาลายา แต่ถ้าอาศัยการขายผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็จะเสียค่าใช้จ่ายไปกับไลน์แมน แกร็ป จนแทบไม่เหลือกำไร จึงได้แนวคิดที่จะทำตลาดออนไลน์ “ศาลายาฟู้ดมาร์เก็ต” มาเป็นแพลตฟอร์มในการแก้ไขปัญหาปลายน้ำ จึงเป็นที่มาของ “ศูนย์อาหารศาลายาฟู้ดมาร์เก็ต” ซึ่งมีสโลแกนว่า “สุขภาพ สะอาด สะดวก” โดยเป็นแพลตฟอร์มขายอาหารด้านสุขภาพออนไลน์ ในระยะแรกมีร้านเข้าร่วมโครงการ 33 ร้าน ร้านที่ผ่านมาตรฐานมี 11 ร้าน จำนวน 30 เมนูซึ่งเป็นการรับรองโดยมหาวิทยาลัยว่าจะต้องดีต่อสุขภาพ ไม่หวาน ไม่เค็ม ไม่มัน เครื่องดื่มก็หันมาใช้หญ้าหวาน ของทอดก็ให้ทอดผ่านหม้อไร้น้ำมัน ผักใช้ผักปลอดสาร เป็นต้น

 

 

อาจารย์ชิตชยางค์ เล่าถึงโครงการ “ศูนย์อาหารศาลายาฟู้ดมาร์เก็ต” เป็นตลาดขายอาหารออนไลน์ที่มี Sale Page อยู่ 1 หน้า มี LINE Official ซึ่งจะลิงก์เข้าสู่ไลน์ในแต่ละร้าน มหาวิทยาลัยเป็นจุดนัดพบระหว่างผู้ขายกับลูกค้า โดยมหาวิทยาลัยได้มีการรับรองคุณภาพไว้แล้วในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ในการสนับสนุนดังกล่าวทางมหาวิทยาลัยยังได้แจกอุปกรณ์ประกอบหารต่าง ๆ

“การขายผ่านออนไลน์สามารถขายได้ทั่ว แต่ในระยะแรกตั้งเป้าหมายลูกค้าที่อยู่ในอำเภอพุทธมณฑล ความท้าทายของโครงการนี้ต้องการที่จะสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนประมาณ 15-20% แต่ถ้าหากมองกันจริง ๆ เฉพาะตลาดในมหาวิทยาลัยมหิดลที่เกี่ยวกับการจัดเบรกต่าง ๆ ตั้งแต่โควิดมาส่วนใหญ่จัดเป็นอาหารกล่องหมดเลย หากแพลตฟอร์มนี้สามารถเข้ามาตอบสนองตลาดในมหาวิทยาลัยก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่มีขนาดใหญ่ไม่น้อย ไม่นับรวมนิสิตต่าง ๆ ที่อยู่ตามหอพัก หรือคนทำงานที่อยู่ในอาณาบริเวณนี้ ซึ่งส่วนใหญ่อาหารตามสั่งจะไม่ไกลจากรัศมีประมาณ 10 กิโลเมตร” อาจารย์ชิตชยางค์กล่าว พร้อมกับอธิบายต่อมา

“ศูนย์อาหารศาลายาฟู้ดมาร์เก็ต” เป็นแพลตฟอร์มที่กำลังอยู่ในขั้นของการดีไซน์ และจะเปิดตัวจริง ๆ ประมาณเดือนมีนาคมนี้ ส่วนแนวคิดในการต่อยอดก็จะนำเอาร้านค้าที่ขายอาหารอยู่หน้ามหาวิทยาลัย ซึ่งมีจำนวนมากและยาวเหมือนสตรีทฟู้ดมาเข้าโครงการ เพราะร้านอาหารเหล่านี้ยังไม่ค่อยถูกสุขลักษณะ ซึ่งเป็นปัญหาส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย โครงการต่อไปคือ “หน้าม.น่ามอง” มีอีกประมาณ 100 ร้านที่จะเข้าไปชวนเพื่อเข้าโครงการในระยะต่อไป เพราะนอกจากจะขายออนไซต์แล้วยังเพิ่มช่องทางออนไลน์ไว้ด้วย โดยมีการตรวจคุณภาพอาหารจากศูนย์วิจัยของทางมหาวิทยาลัย และถ้าหากประสบความสำเร็จก็สามารถขยายไปยังกลุ่มผู้อยู่อาศัยตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในอำเภอพุทธมณฑลได้ ซึ่งเป็นกิจกรรมการบริการประชาชนโดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพ จัดส่งอาหารเพื่อสุขภาพ ส่งถึงมือประชาชน

อาจารย์ชิตชยางค์ กล่าวทิ้งท้ายการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ว่า “มหาวิทยาลัยคิดว่า“ศูนย์อาหารศาลายาฟู้ดมาร์เก็ต”จะเป็นโครงการที่พัฒนาให้ชุมชนที่เปราะบาง แต่เข้มแข็งสามารถยืนหยัดได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาประเทศ และจะเป็นต้นแบบให้กับอนาคตต่อไป”.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

“สุริยา ศิริวงษ์” ผู้สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรผู้ผลิตมังคุด ให้พ้นจากปัญหามังคุดล้นตลาด แก้ปัญหาราคาตกต่ำ
https://www.thaiquote.org/content/249421

“ชัยพร พรหมพันธุ์” ปราชญ์สัมมาชีพ เรียนน้อย แต่ค้นคิดเครื่องมือทุ่นแรง ทำนาต้นทุนต่ำ จนเป็นชาวนาเงินล้าน
https://www.thaiquote.org/content/249355

“ป้าเหงี่ยม” ผู้รักษาภูมิปัญญาการย้อม “ผ้าหม้อห้อม” ต่อยอดให้ฟื้นชีวิตขึ้นมาใหม่ สวยงาม สร้างอาชีพให้ชุมชน
https://www.thaiquote.org/content/249300