เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร “สมุทรสงคราม” ด้วยนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ “ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม”

by วันทนา อรรถสถาวร , 18 กุมภาพันธ์ 2566

“สมุทรสงคราม” เป็นหนึ่งจังหวัดใน โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของ “ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม” มาถ่ายทอดเทคโนโลยี

 

 

จังหวัดสมุทรสงครามเป็นแหล่งผลิตลิ้นจี่ที่สำคัญเป็นอันดับ 1 ในภาคกลาง โดย “ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม” เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกมากที่สุด ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกลิ้นจี่ทั้งสิ้น 1,920 ครัวเรือน รวมพื้นที่การปลูกประมาณ 5,196 ไร่ แยกเป็นพื้นที่อำเภอเมือง 7 ไร่ อำเภออัมพวา 2,328 ไร่ และอำเภอบางคนที 2,861 ไร่ อีกทั้งไม้ผลที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรกรรม GI ของจังหวัด

Thaiquote ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผอ.ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ ดร. กุศล เอี่ยมทรัพย์ นักวิจัยอาวุโสเชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เพื่อเล่าเรื่องราวของความเป็นมาในการนำนวัตกรรมเกษตรสรรค์ลงไปใช้กับเกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม

 

ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผอ.ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผอ.ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

ดร.รจนากล่าวว่า “จากการลงพื้นที่ดำเนินโครงการฯ ของ วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ พบว่า เกษตรกรประสบปัญหาการควบคุมการออกดอก ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้ไม่สม่ำเสมอทุกปี และมีผลผลิตต่ำ ซึ่งจำเป็นยิ่งที่ต้องได้รับการส่งเสริมและแก้ไขปัญหา โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปส่งเสริมให้ลิ้นจี่ในพื้นที่สมุทรสงครามมีผลผลิตที่ดี สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น” ทั้งนี้ วว. ได้นำนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ “ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม” เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรในพื้นที่

โครงการนวัตกรรมกระตุ้นด้วยฮอร์โมนนี้ ได้เข้าไปสนับสนุนทั้งหมด 8 จังหวัด ประกอบไปด้วย สมุทรสงคราม จันทบุรี ชุมพร พังงา ปทุมธานี เพชรบูรณ์ อุดรธานี สกลนคร ตัวเทคโนโลยี เป็นการใช้ฮอร์โมนหรือตัวสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช เป็นสิ่งที่มีอยู่ในพืชอยู่แล้ว เพียงแต่จังหวะการออกดอกออกผลบางครั้งไม่เป็นไปตามธรรมชาติ เราจึงต้องไปเพิ่มฮอร์โมนในปริมาณที่เหมาะสม ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ฮอร์โมนตัวนี้เกิดจากการสังเคราะห์ แต่ไม่มีสารพิษอันตราย ทางวว. ได้นำสารฮอร์โมนตัวนี้เข้าไปสนับสนุนหลายพื้นที่ และหนึ่งในนั้นคือสมุทรสาคร ในพืชผลลิ้นจี่

 

ดร. กุศล เอี่ยมทรัพย์ นักวิจัยอาวุโสเชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

ดร. กุศล เอี่ยมทรัพย์ นักวิจัยอาวุโสเชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

 

ดร.กุศลอธิบายเสริมว่า โดยธรรมชาติของลิ้นจี่แล้วต้องการความหนาวเย็นในการออกดอก ถ้าอากาศหนาวเย็นลิ้นจี่จะใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการตั้งท้อง ความหนาวเย็นไปกระตุ้นให้เขาไปสร้างตาดอก ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการออกดอก และถ้าหากฤดูไหนไม่หนาวเย็นพอ หรือหนาวเย็นในระยะสั้น ลิ้นจี่ก็ตั้งท้องไม่เต็มที่ นวัตกรรมใหม่เป็นการให้ฮอร์โมนเพื่อปรับสภาพของต้นลิ้นจี่มีความพร้อมที่จะแทงตาดอกหรือตั้งท้อง ฮอร์โมนตัวนี้มีกลไกการทำงานไปเพิ่มปริมาณคาร์โบไฮเดรท ลดระดับการเติบโตของกิ่งใบ เตรียมความพร้อมในการแทงตาดอก เมื่อได้รับความหนาวเย็นเพียงเล็กน้อยก็สามารถตั้งท้องออกดอกได้

 

 

ดร.กุศลเล่าถึงความเป็นมาของการค้นหาเทคโนโลยีในการพัฒนาฮอร์โมนกระตุ้นการออกผลของลิ้นจี่จากคำพูดของชาวสวนส่วนใหญ่ที่บอกว่า ปีนี้ไม่หนาวลิ้นจี่ติดลูกน้อย บางทีมีเป็นหมื่น ๆ ต้น มีต้นลิ้นจี่ติดผลเพียงไม่กี่ต้น ในฐานะนักวิจัยจึงคิดว่าแล้วทำไมไม่กี่ต้นที่ออกดอก ติดผลถึงเกิดได้ นั่นหมายความว่ามีความหนาวเย็นที่ระดับหนึ่ง และความพร้อมของลิ้นจี่ที่เหมาะสมทำให้แทงตาดอกได้ จึงเป็นแรงบันดาลใจในการค้นคว้านวัตกรรมที่ทำให้ทุกต้นพร้อม

จุดเด่นของนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ “ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม” โดย วว. คือ สามารถทำให้ออกดอกได้เร็วกว่าลิ้นจี่ที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมของต้น ทำให้ราคาจำหน่ายลิ้นจี่สูงกว่าเพราะออกก่อน และให้ผลผลิตมากกว่าเพราะเตรียมต้นได้สมบูรณ์ ลดการหลุดร่วงเพราะออกผลผลิตก่อนจะเลี่ยงฝนหลงฤดูที่เป็นสาเหตุทำให้ดอกและผลร่วง นอกจากนี้การให้ฮอร์โมนแปลงเพศจะทำให้ติดผลมากกว่า และการให้ฮอร์โมนขยายขนาดผลจะทำให้ผลโต เกรดและคุณภาพดี จำหน่ายได้ราคาสูงกว่า

 

 

กระบวนการผลิต/แนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยี ภายใต้การดำเนินโครงการฯ นี้ วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยการทำแปลงสาธิต การผลิตลิ้นจี่ในแปลงเกษตรกรจำนวน 7 แปลง ซึ่งปลูกต้นลิ้นจี่ที่มีอายุ 50 ถึง 100 ปี จำนวน 200 ต้น ทำการเตรียมต้นลิ้นจี่โดยการฉีดฮอร์โมนและสารบำรุงก่อนเข้าฤดูหนาวจำนวน 2 เดือน เพื่อให้ลิ้นจี่ออกใบอ่อนพร้อมกันและได้รับสารบำรุงทางใบจนมีความสมบูรณ์และมีใบแก่รอฤดูหนาว (หากลิ้นจี่ออกใบอ่อนอีกจะไม่เหมาะกับการเจอฤดูหนาว ดังนั้นจะฉีดสารหยุดยอด เพื่อคุมไม่ให้ออกใบอ่อน)

 

 

ขั้นตอนกระบวนการผลิต
1. เมื่อลิ้นจี่เจอฤดูหนาวแล้วมีดอก ให้ฉีดพ่นฮอร์โมนเพิ่มดอกเพศผู้เพื่อเพิ่มการติดผล
2. เมื่อลิ้นจี่ติดผลให้ฉีดสารขยายขนาดผลและสารบำรุงเพิ่มขนาดของผลและลดการหลุดร่วงของผลลิ้นจี่

“การวิจัยนี้จะต้องมีการเตรียมพร้อมลิ้นจี่ โดยต้องได้รับการดูแลทางใบให้เขาสมบูรณ์ แต่ถ้าหากเราไม่ดูแลก็จะมีใบที่มีลักษณะใบอ่อน ใบกลางอ่อนกลางแก่ ใบแก่ ผสมกลมกลืนกัน แต่ลิ้นจี่ที่จะออกดอกได้ต้องเป็นลิ้นจี่ที่มีใบแก่ อันนี้เป็นหลักการ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องทำให้ต้นลิ้นจี่สลัดใบพร้อมกัน และแตกใบอ่อนพร้อมกัน เพื่อให้เขาอยู่ในสภาพที่รอความหนาวเย็น ด้วยการฉีดฮอร์โมน ฉีดนมบำรุงให้ เหมือนคนกินอิ่ม เมื่อใบอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ใบก็จะเข้าสู่ระยะใบแก่ ซึ่งเกษตรกรต้องมีการการเตรียมต้นตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน โดยเดือนกันยายนทั้งเดือนจะฉีด 3 ครั้ง แบ่งเป็น 10 วันครั้ง ปลายกันยายนต้นก็จะเริ่มแก่ และพอปลายตุลาคมใบก็จะแก่จัด พอเดือนพฤศจิกายน ความหนาวมา ลิ้นจี่ก็จะออกดอกออกผล และเป็นการออกก่อนฤดู เกษตรกรจะได้ราคาดี เพราะออกต้นฤดู” ดร.กุศลกล่าว

 

 

ข้อดีของนวัตกรรมตัวนี้คือทำสภาพให้ต้นมีความสมบูรณ์พร้อมออกดอก และออกดอกได้เป็นจำนวนมาก ใบเหมือนคนตั้งท้องทั้งสวน เวลาเขากระทบความหนาวก็สามารถออกดอกได้ทั้งหมด เมื่อเทียบกับต้นที่ไม่มีการเตรียมพร้อม ถ้าความหนาวมาสั้น ไม่ถึง 20 วัน ต้นไหนไม่กระทบความหนาวก็จะไม่ออกดอกเลย

เทคโนโลยีนวัตกรรมตัวนี้นอกเหนือที่ใช้กับต้นลิ้นจี่ได้ผลแล้ว ยังใช้กับต้นทุเรียนได้ด้วย เพราะเวลาทุเรียนเก็บผลแล้วต้นจะโทรม ดังนั้นต้องมีการบำรุง และการบำรุงต้นทุเรียนต้องบำรุงทางใบ บำรุงทางรากไม่ได้ รากจะเน่า นอกจากนี้มะม่วง ลองกองก็ใช้หลักการเดียวกัน คือเป็นการเตรียมความพร้อมให้พร้อมออกดอก ผลไม้พวกทุเรียน มะม่วง เงาะเมื่อเผชิญกับความแล้งก็จะมีการออกดอก

 

 

ข้อควรระวังในการใช้เทคโนโลยีตัวนี้คือสารฮอร์โมนเหล่านี้เวลาใช้จะมีปริมาณโดสที่เหมาะสม ถ้าเราใช้ในอัตราที่สูงก็จะทำให้ช่อดอกสั้น และเกิดความเสียหายได้ การใช้ต้องใช้ในปริมาณที่พอดี ไม่ใช้มากจนเกินไป

ดร.รจนากล่าวเสริมว่าเทคโนโลยีตัวนี้ก็นำไปใช้กับส้มโอขาวใหญ่ ซึ่งเป็นสินค้า GI ของสมุทรสงครามได้เช่นเดียวกัน ออกผลออกมาดีมาก

นอกจากนี้ทางวว.ยังมีโครงการที่จะต่อยอดเทคโนโลยีตัวนี้ โดยจะนำไปใช้กับลิ้นจี่พันธุ์อื่น ๆ ด้วย เช่นลิ้นจี่ที่นครพนม แต่ต้องดูเวลาที่เหมาะสมในการนำไปใช้ เพราะฤดูและความหนาวเย็นของแต่ละภาคก็จะแตกต่างกันไป

ดร.กุศลตั้งข้อสังเกตว่าหากไม่มีการบำรุง ปล่อยให้ต้นไม้ออกดอกออกผลตามธรรมชาติ แม้ว่าภาคเหนือจะมีระยะเวลาของอากาศหนาวที่ยาวนานกว่า มาก่อนกว่าทุกภาค แต่การเกิดผลของต้นลิ้นจี่ ต้นมะม่วงจะไล่จากทางใต้ขึ้นเหนือ ทั้งนี้เนื่องจาก ในฤดูหนาว แสงจากทางภาคใต้มีมากกว่า ส่งผลให้พืชทางใต้มีการสังเคราะห์อาหารได้ดีกว่า ได้ความสมบูรณ์มากกว่า จึงออกดอกได้เร็วกว่า และจะค่อย ๆ ไล่ไปทางเหนือ ส่งผลให้ผลผลิตทางภาคเหนือมีน้อยกว่า ตนเองมีแนวคิดที่จะใช้ฮอร์โมนตัวนี้กับทางภาคเหนือ และส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานจากโซล่าร์เซล เพื่อส่งเสริมให้ต้นลิ้นจี่ทางภาคเหนือมีใบที่สมบูรณ์ และเพิ่มการออกดอกให้มากขึ้น เทคโนโลยีตัวนี้ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรที่จังหวัดสมุทรสงครามในการปลูก “ลิ้นจี่ค่อม” ที่เป็นสินค้า GI โดยผลิตออกมาเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย เพิ่มรายได้จากเดิมที่ไม่มีเทคโนโลยีตัวนี้

 

 

เทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตรที่สำคัญอีกตัวหนึ่งคือการส่งเสริมผักเหลียงที่พังงา เนื่องจากผักเหลียงรับประทานแต่ยอดอ่อน จึงใช้หลักคิดเทคโนโลยีเดียวกันเข้าไปจัดการกับผักเหลียง ด้วยการใส่ฮอร์โมนเพื่อให้ใบผักเหลียงผลัดใบแก่ลงพร้อมกัน และให้มีการแทงยอดอ่อนขึ้นมาพร้อมกัน ซึ่งทำให้ได้ผลผลิตที่มาก และบริหารการจัดการสวนได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีของหลังการเก็บเกี่ยวด้วยการจุ่มสารที่ยืดอายุของใบหลังเก็บเกี่ยวให้อยู่ได้นานกว่าเดิม ซึ่งโดยปกติผักเหลียงใช้เวลาประมาณ 4-5 วันก็จะเหี่ยว แต่ถ้าจุ่มฮอร์โมนและใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม จะยืดอายุของผักเหลียงออกไปได้เป็นกว่า 10 วันได้ ซึ่งก่อประโยชน์ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากกว่าเดิม 3-4 เท่าตัว

นอกจากนี้ วว. ยังได้จัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่พี่น้องเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์และเป็นองค์ความรู้ที่ช่วยเพิ่มพูนทักษะและศักยภาพให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1) การใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงในระบบเกษตรปลอดภัย 2) การขยายชีวภัณฑ์รูปแบบเหลวในถังขยายจุลินทรีย์ 3) นวัตกรรมการยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่ และ 4) นวัตกรรมการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพลิ้นจี่พันธุ์ค่อมจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมให้ความรู้และคำแนะนำปรึกษาแก่เกษตรกรอย่างใกล้ชิด

 

 

จากการดำเนิน โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของ วว. พบว่า ผลผลิตลิ้นจี่สูงขึ้น ผลมีขนาดโต เกรดและคุณภาพลิ้นจี่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของเกษตรกรและผู้ประกอบการในอนาคต จากการที่ผลผลิตสูงขึ้น ทำให้รายได้มากขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกก่อน ส่งผลให้ราคาต่อหน่วยสูงขึ้น นับเป็นโมเดลความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมและเหมาะสมในการขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ม.มหิดล ร่วมกับชุมชน สร้างสรรค์ศูนย์อาหารสุขภาพออนไลน์ "ศาลายาฟู้ดมาร์เก็ต" สร้างความยั่งยืนให้กับกลุ่มเปราะบาง
https://www.thaiquote.org/content/249477

“สุริยา ศิริวงษ์” ผู้สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรผู้ผลิตมังคุด ให้พ้นจากปัญหามังคุดล้นตลาด แก้ปัญหาราคาตกต่ำ
https://www.thaiquote.org/content/249421

“ชัยพร พรหมพันธุ์” ปราชญ์สัมมาชีพ เรียนน้อย แต่ค้นคิดเครื่องมือทุ่นแรง ทำนาต้นทุนต่ำ จนเป็นชาวนาเงินล้าน
https://www.thaiquote.org/content/249355