แปลงตำนานของดีเมืองโคราช สู่จุดแข็งขับเคลื่อนธุรกิจBCG

by ThaiQuote, 30 สิงหาคม 2566

BCG แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย ที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำลังขับเคลื่อนไปในทุกภาคส่วน รวมถึงการท่องเที่ยว จังหวัดนครราชสีมาเป็นตัวอย่างหนึ่งในจังหวัดใช้ BCG มาผนวกกับการท่องเที่ยวได้อย่างกลมกลืน

 

วัชรี ปรัชญานุสรณ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดนครราชสีมา บรรยายในหัวข้อ “BCG Model : พัฒนาท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืน” ​ บนเวทีอบรมของมูลนิธิสัมมาชีพ ว่า หากนึกถึงโคราชทุกคนจะนึกถึง “เขาใหญ่” แต่วันนี้ทุกคนที่มาเที่ยวโคราชมีทางเลือกมากขึ้น มีการกระจายจุดท่องเที่ยวไปทั่วทุกพื้นที่ในจังหวัด และแนวทาง BCG ก็ได้ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวของโคราชให้โดดเด่นอย่างต่อเนื่อง

“การทำท่องเที่ยวแบบ BCG คือการนำความรู้และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้กระบวนการทำธุรกิจท่องเที่ยวยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำ จรดปลายน้ำ มีความเป็นเครือข่าย ชุมชนมั่นคง คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม”

โคราชมีถึง 32 อำเภอ ต่างก็มีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวที่ต่างกัน จึงต้องมีการจัดตั้งอนุทำงานเครือข่ายการท่องเที่ยวประจำอำเภอ มีอำเภอละ 5 คน นอกจากนี้ยังดึงผู้ที่มีส่วนได้เสียด้านการท่องเที่ยวเข้ามาเป็นเครือข่าย เช่น วิสาหกิจชุมชน นำมาสร้างเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงต่อกัน

แนวทางพัฒนาลำดับต่อไปให้คนในพื้นถิ่นคิดหาจุดเด่น หรือเสน่ห์ด้านการท่องเที่ยวมาประมาณ 5 อย่าง แล้วจัดประชุมวางแนวทางส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวท้องถิ่นที่ยึดโยงกับ BCG มีการรณรงค์ให้ทุกพื้นที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวเริ่มคิดถึงเรื่องนี้มากขึ้น

หลังจากดำเนินการไประยะหนึ่ง ก็ให้แต่ละพื้นที่มาประกวดกัน ชุมชนไหนมีจุดเด่นมีการพัฒนาได้ดีจนสามารถโปรโมทได้ ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็จะนำไปเสนอขายนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปีนี้มี 5 อำเภอที่ได้รับรางวัลของความสำเร็จนี้

จุดแข็งของการสร้างความสำเร็จด้านการท่องเที่ยวของโคราช ต้องยกให้คนในชุมชน ทุกฝ่ายได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นว่าท้องถิ่นของเขามีอะไรที่โดดเด่น ทั้งทางด้านวิถีความเป็นอยู่ ศิลปะวัฒนธรรม เป็นต้น ต้องสร้างให้เขารู้สึกความเป็นเจ้าของ

ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมได้แก่ ที่ สี่คิ้ว ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เข้าไปพัฒนาจนได้รับรางวัลกินรีการท่องเที่ยว จุดเด่นพื้นที่คือมีหิน 4,000 ปี เป็นจุดเด่นชักชวนให้ต่างชาติเข้ามาดู นอกจากนี้ทางชุมชนเองก็ยังมีดินที่มีคุณภาพสามารถย้อมสีได้ มีอาหารการกินที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง การที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชน ทำให้เกิดการสร้างงาน มีรายได้

ปัจจุบันอาหารถือเป็นจุดขายที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวยุคใหม่ไม่ได้ต้องการรับประทานอาหารในโรงแรม แต่มีความสุขที่จะมารับประทานอาหารถิ่น จำเป็นต้องคิดในเชิงสร้างสรรค์ และนวัตกรรม

“การทำ BCG ต้องสอดคล้องกับธรรมชาติและองค์ความรู้ เช่นแหล่งท่องเที่ยวทางภาคอีสานบางแห่งมีบัวแดงบานมากตลอดฤดูกาล ก็นำมาตากแห้งทำเป็นชาบัวแดง มีสรรพคุณทางยา และยังเป็นการสร้างสรรค์เครื่องดื่มใหม่”

เทรนด์ด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญประการหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือการท่องเที่ยวด้านสุขภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่าคิดจะทำก็ทำขึ้นมาได้ ต้องมีองค์ประกอบด้านความรู้ งานวิจัย และการยอมรับเป็นรากฐาน กลยุทธ์ที่สำคัญคือ แต่ละรายทำในสิ่งที่ตนเองถนัดอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ถนัดสปา ,ถนัดดนตรีบำบัด เป็นต้น และเชื่อมเครือข่ายกันในการส่งต่อลูกค้า ทำให้การท่องเที่ยวในลักษณะนี้ยั่งยืน

ทั้งนี้ความหมายของการเที่ยว BCG เป็นแนวคิดที่ยกระดับขึ้นอีกขั้นจากการท่องเที่ยวชุมชน โดยการนำความรู้ นำเทคโนโลยีเข้าไปดึงจุดเด่นของท้องถิ่นให้ชัดเจนขึ้น โยงเข้ากับการให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ตามเทรนด์การท่องเที่ยวโลกนั่นเอง.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ททท. ฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน ตั้งเป้า2 ปี ติดดาวSTGsโรดโชว์ต่างประเทศ
https://www.thaiquote.org/content/251008

‘ลิกนิน’ ของเสียอุตสาหกรรมกระดาษ สู่สารสร้างมูลค่าเพิ่ม ตามแนวทาง BCG

https://www.thaiquote.org/content/250999