ททท. ฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน ตั้งเป้า2 ปี ติดดาวSTGsโรดโชว์ต่างประเทศ

by ThaiQuote, 30 สิงหาคม 2566

ททท.ชูแนวคิดท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน ตั้งมาตรฐาน “ติดดาว” ท่องเที่ยวยั่งยืน(STGs) ตามพันธสัญญาUN และแผนสภาพัฒน์ฯฉบับที่ 13 เป็นพี่เลี้ยงปั้นธุรกิจปรับตัวใน 2 ปี พร้อมปลุกกระแสสร้างจิตสำนึกปรับพฤติกรรมนักท่องเที่ยว ค้นหาความหมายมากกว่ารักสบาย หวังกระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งจากฐานราก หนุน ไทยรัฐกรุ๊ป จับมือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ร่วมขับเคลื่อนลดโลกร้อน 1.5องศา ใน 7 ปีตามแผนUN คืนสมดุลสู่โลก

 

การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาขาดการตระหนักรู้มุ่งหวังขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก จนส่งผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม จนขาดสมดุล เกิดภาวะโลกร้อน (Climate Change) เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายทั่วโลกต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน และสื่อมวลชนต้องเร่งขับเคลื่อนประชาชน สังคม ให้ร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อลดอุณหภูมิโลกตามพันธสัญญา การประชุมสหประชาชาติ(UN) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี ค.ศ.2030 (ปี พ.ศ.2573) หรือภายใน 7 ปีข้างหน้า รวมถึงภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ก่อให้เกิดมลพิษจากการเดินทาง และการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง ธุรกิจท่องเที่ยวจึงต้องปรับตัว ให้สอดคล้องกับเทรนด์การพัฒนาเป้าหมายUN มีส่วนฟื้นฟูทรัพยากร ทำให้โลกคืนสู่ภาวะสมดุล บรรเทาภัยพิบัติจากธรรมชาติ และสภาพอากาศแปรปรวน มีทรัพยากรเพียงพอให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่อย่างยั่งยืน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.ได้มุ่งขับเคลื่อนการท่องเที่ยว โดยหวังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับ แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (ปี พ.ศ. 2566-2570) ที่จะต้องขับเคลื่อนการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ มีคุณค่าและยั่งยืน ทำให้คนมีจิตสำนึก มุ่งเน้นความสุขจากการเดินทาง เพื่อหาความหมายจากชีวิต ที่ได้เรียนรู้จากสังคม และวัฒนธรรม รวมถึงรักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน เป็นการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน กระตุ้นความเข้มแข็งจากฐานราก
ทางททท. จึงมุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าและบริการให้ สอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(Sustainable Tourism Goals : STGs) และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ ( Net Zero Tourism) ภายใต้ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) 17 ตามพันธกิจขององค์การสหประชาชาติ( UNDP) จึงมีการจัดทำรูปแบบการพัฒนาตามบริบททางการท่องเที่ยว และคู่มือเกณฑ์มาตรฐานท่องเที่ยวยั่งยืน “STGs Easy” ให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติรองรับนักท่องเที่ยว มีการจัดให้ระดับใช้ดาวเป็นสัญลักษณ์ของระดับ ตามมาตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืน (Sustainable Tourism Acceleration Rating (STAR) เป็นการยกระดับให้สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวมีมาตรฐานในการให้บริการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอนาคต

“การเริ่มสร้างมาตรฐานกำหนดให้ผู้ประกอบการยกระดับตัวเองให้ได้มาตฐานสอดคล้องกับ STGs และ SDGs ถือเป็นจุดเปลี่ยน และเป็นก้าวสำคัญที่จะยกระดับการท่องเที่ยวทั้งตลาดไปสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน ที่การเดินทางท่องเที่ยวจะต้องควบคู่กับความรับผิดชอบ ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกันกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่มุ่งพัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัว พัฒนาสินค้าไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม และชุมชน สิ่งแวดล้อม ส่วนนักท่องเที่ยว ต้องเดินทางด้วยความรับผิดชอบ สร้างความสุขในแบบใหม่ ที่ช้าลง สะดวกสบายน้อยลง แต่มีความหมาย สร้างการเรียนรู้ให้กับชีวิต พร้อมทั้งรักษาสิ่งแวดล้อม เดินทางโดยไม่เพิ่มก๊าซคาร์บอน หรือ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ หาทางชดเชยด้วยวิธีอื่น จึงถือว่าต้นแบบ การปลุกจิตสำนึก ที่จะรักษาธรรมชาติ ให้อยู่คู่กับโลกของเราตลอดไป ซึ่งการท่องเที่ยวนั้นเกือบ 20% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน”

เปิดแผนSTGs Easy จัดมาตรฐาน
ชูติดดาวแทนความยั่งยืน 3 ระดับ

ทั้งนี้ ทางททท. จะต้องเริ่มต้นขับเคลื่อนตลาดสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยกำหนดตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป หรือ ภายใน 2 ปี ซึ่งจะปรับข้อบังคับให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภาคเอกชนที่ต้องการเข้าร่วมงานทำการตลาด ส่งเสริมการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวกับ ททท.ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับมาตรฐานด้านความยั่งยืน หรือมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม มาตรฐานใด มาตรฐานหนึ่งเท่านั้น จึงจะยอมรับให้ร่วมงานทำการตลาดด้านการท่องเที่ยวได้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในประเทศหรือต่างประเทศ”
สำหรับมาตรฐานด้านความยั่งยืนของ ททท.ประกอบด้วย โครงการ STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating ที่จะมีการจัดทำเกณฑ์การประเมินตนเอง ตามคู่มือ STGs Easy แบ่งระดับ 3 ระดับ คือ 3 ดาว 4 ดาว และ 5 ดาว
นอกจากนี้ ยังมีโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผ่านหลากหลายมิติ เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลดการใช้ทรัพยากรในการบริการ อาทิ โครงการ CF-Hotels สำหรับธุรกิจโรงแรม ที่มีการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีกิจกรรมต่าง ๆ ในการลดผลกระทบ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของโรงแรม รวมถึง โครงการ Thailand Tourism Awards ที่ได้เพิ่มรางวัลประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน (Low Carbon & Sustainability) ให้กับแหล่งท่องเที่ยว ที่พำนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รายการนำเที่ยว หรือสถานประกอบการอื่น ๆ

“ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการที่ยังไม่เริ่มต้นเข้าสู่มาตรฐานที่กำหนดไว้ จึงต้องใช้เวลาในการปรับตัว โดยทาง ททท.จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ในการยกระดับผู้ประกอบการ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการใด โครงการหนึ่ง ที่จะค่อยๆ พัฒนาการบริการและสินค้า เพื่อก้าวสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมกัน ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างการเติบโตในอนาคต เพราะททท.จะช่วยทำการตลาดให้กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ ดังนั้นหากผู้ประกอบการมีมาตรฐานให้สอดคล้องกับเทรนด์ความยั่งยืน จะเป็นการสร้างโอกาสขยายฐานลูกค้าจากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น”

แม่ฟ้าหลวง หวังปลูกป่า 6 ล้านไร่
เคลื่อนเศรษฐกิจยั่งยืนสู่ชุมชน

น.ส.สุภัชญา เตชะชูเชิด ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ร่วมมือภาครัฐ ชุมชน และ 14 เอกชนชั้นนำ ขยายผล “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ใน 77 ป่าชุมชน ตั้งเป้าหมายในปี 2566 จำนวน 100,000 ไร่ ที่จะเพิ่มรายได้ให้ชุมชน 500 ล้านบาท และกักเก็บคาร์บอน 500,000 ตัน
ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2567 จะมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือมากขึ้น เพื่อขยายงานครอบคลุมพื้นที่อีก 150,000 ไร่ นำไปสู่เป้าหมายผลิตคาร์บอนเครดิต 1 ล้านตัน ภายในปี 2570 ภายใต้ความมุ่งหวังสร้างป่าที่สมบูรณ์ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้ชุมชน เป็นการช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปได้พร้อมๆกัน เพราะชุมชนจะช่วยดูแลป่า
ขณะที่ภาคเอกชนที่ร่วมโครงการสามารถนำคาร์บอนเครดิตที่เข้าร่วมในโครงการนี้ ไปหักลบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการได้ โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงตั้งเป้าหมายให้โครงการนี้คลอบคลุมป่าชุมชนทั่วประเทศ 6 ล้านไร่ ซึ่งหากเส้นทางไปสู่เป้าหมายเกิดขึ้นได้เร็ว ก็จะดึงดูดให้มีพันธมิตรเข้ามาร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพิ่มขึ้นตามมา


ไทยรัฐจัดงาน Road To NET ZERO
ชวนพันธมิตร ผู้บริโภคเปลี่ยนตัวเอง ลดใช้ทรัพยากร

น.ส.จิตสุภา วัชรพล ผู้บริหารไทยรัฐกรุ๊ป เปิดเผยในกิจกรรม ”ROAD TO NET ZERO : CHANGE FOR SUSTAINABILITY” จัดขึ้นในวันที่ 29 - 30 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง จนเราทุกคนต่างก็รู้สึกได้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงกับว่าโลกนั้นร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทุกฝ่ายต้องหันมาร่วมมือกัน โดย ไทยรัฐกรุ๊ป ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่นับว่าเป็นมหันตภัยร้ายแรงของโลก และของประเทศไทย จึงต้องกระตุ้นจิตสำนึกของประชาชน แสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างการตระหนักรู้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ให้คำนึงถึงการลดการใช้พลังงาน เพื่อช่วยลดอุณหภูมิโลกร้อนตามเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ (UN) และเป้าหมายของประเทศ ที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน

สื่อในเครือ “ไทยรัฐกรุ๊ป” ประกอบไปด้วย หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย และได้รับการสนับสนุนจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผลิตภัณฑ์ Eucerin จึงจัดกิจกรรม ROAD TO NET ZERO : CHANGE FOR SUSTAINABILITY ขึ้นในรูปแบบของนิทรรศการผสมผสานการเสวนา เพื่อสร้างความเข้าใจ ปลูกจิตสำนึก เพื่อความยั่งยืนของโลก และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เรื่องการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Tourism)

ด้าน นายกรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ดารานักแสดง-นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า การท่องเที่ยวแบบ NET ZERO หรือ คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (carbon neutral tourism) สามารถทำได้โดยลดการใช้พลังงาน ลดการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอน หันมาเดิน วิ่ง ปั่นจักรยานหรือพายเรือ เพื่อสัมผัสชีวิตชุมชนที่ได้ไปเยี่ยมเยืยน ลองให้ชีวิตได้ศึกษาหาความรู้จากธรรมชาติและใช้ชีวิตให้ช้าลง กินอยู่เรียบง่าย ใช้ขยะให้น้อยชิ้นที่สุด

เปิดกิจกรรม สร้างความเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน

สำหรับกิจกรรม ROAD TO NET ZERO : CHANGE FOR SUSTAINABILITY จัดขึ้นในวันที่ 29 - 30 สิงหาคม 2566 ณ ลานกิจกรรม ชั้น G โซน SEMI OUTDOOR ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ภายในงานจะมีนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจก และประชาสัมพันธ์ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวแบบ Low Carbon และ บูธกิจกรรม ต่างๆ อาทิ บูธบริจาค เสื้อผ้ามือสอง โดยไทยรัฐกรุ๊ป บูธจากผู้ประกอบการด้านโรงแรม บูธสินค้าจากวิสาหกิจชุมชน และกิจกรรมการผลิตสวนในขวดแก้ว และเปิดพื้นที่กิจกรรม "Road to Net Zero" ให้กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วม
โดยในวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ได้จัดให้มีเสวนา ในหัวข้อ “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก” โดยเชิญนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย น.ส.สุภัชญา เตชะชูเชิด ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายกรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ดารานักแสดง-นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เข้าร่วมงาน

นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายสร้างแรงบันดาลใจ ภายใต้หัวข้อ "การสร้างแหล่งท่องเที่ยว แบบ Net Zero" โดย ตัวแทนจากผู้เข้าร่วมโครงการ STGs Youth Camp ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พิธีกรร่วมพูดคุยกับ คุณบอส และ คุณโนอึล นักแสดงจากซีรีย์ เรื่อง บรรยากาศรัก ในมุมมองแนวคิด "การใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยว แบบ Net Zero" และมินิคอนเสิร์ต โดย คุณบอส และ คุณโนอึล
จากนั้นในวันที่ 30 สิงหาคม 2566 มีเวทีพูดคุยกับ คุณซันนี่ คุณปลั๊กไฟ นักแสดงจากชีรีย์ เรื่อง Wedding Plan ในมุมมองแนวคิด "การใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยว แบบ Net Zero" มินิคอนเสิร์ตโดย คุณซันนี่ คุณปลั๊กไฟ นักแสดงจากชีรีย์ เรื่อง Wedding Plan พร้อม มินิคอนเสิร์ต โดยวงดนตรี จาก นักศึกษา
สื่อในเครือ “ไทยรัฐกรุ๊ป” ประกอบไปด้วย หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย ได้ปรับการให้ความสำคัญกับการนำเสนอข่าว และสกู๊ปข่าวที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความเข้าใจ ปลูกจิตสำนึกเพื่อความยั่งยืนของโลก มีการผลิตแอนิเมชั่น ให้ความรู้ ด้าน Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยจากกิจกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นมีภาวะสมดุลกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก ภายใต้ ชื่อ ย.ยักษ์ รักษ์โลก โดย ย.ยักษ์ ยักษ์เขียว เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความเป็นไทยรัฐ ที่จะมาสร้างความเข้าใจ และปลูกจิตสำนึก ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยโลกให้ยั่งยืน