ฉายวิสัยทัศน์ซีอีโอ ลงมือทำESG ปิดรอยรั่ว เปิดฟ้าใหม่แห่งโอกาสโตยั่งยืน

by ESGuniverse, 4 เมษายน 2567

ซีอีโอ กสิกรไทย-อินโนเพาเวอร์-TPIPP เปิดแผนธุรกิจเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ยึดมั่นต้องทำ ESG ในธุรกิจตั้งแต่วันนี้ ข้ามขีดจำกัด สู่โอกาสที่เติบโตยั่งยืน น่านฟ้าใหม่ ในโลกอนาคต

ในงานสัมมนา Sustainable Daily Talk Action for Change : ทำเดี๋ยวนี้! เพื่อการเปลี่ยนแปลง ได้มีการจัดสัมมนาโดยได้มีปาฐกถาพิเศษ จาก ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนเพาเวอร์ จำกัด และ นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและฉายภาพแต่ละแวดวงอุตสาหกรรมพร้อมแนวทางที่นำไปปรับใช้ได้จริง สร้างผลลัพธ์การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เป็นการเปลี่ยน เพื่อเรา เพื่อโลก ส่งต่อมรดกโลกใบนี้ให้กับลูกหลานได้อย่างยั่งยืน


แต่ละบริษัทได้บอกเล่าถึงแนวทางการทำธุรกิจ ทั้งในแง่ของการลงทุน การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ธุรกิจสีเขียว การกำกับดูแลภายในองค์กรอย่างครอบคลุม โดยมีแกนหลักคือ ESG (สังคม สิ่งแวดล้อม และ ธรรมาภิบาล) เป็นหัวใจหลักที่จะพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวปิดงาน

 

ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "Action for Change โจทย์ใหญ่เปลี่ยนไทยอย่างไร ให้ยั่งยืน?“ โดยได้กล่าวถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศ อาทิ ปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ทำให้พะยูนที่พบในประเทศไทยมีจำนวนลดน้อยลง หรือปัญหาไฟป่า หมอกควันในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ

ร่างกฎหมาย จัดการ สภาพอากาศ

โดยกระทรวงฯ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และได้จัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ขึ้นมารับผิดชอบโดยตรง ทั้งการกำหนดกฎหมายเฉพาะที่รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะมีการกำหนดระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เข้ามาสร้างกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำ พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด เพื่อให้การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นละออง PM2.5 มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากจะเปลี่ยนแปลงให้เกิดความยั่งยืน ต้องเริ่มต้นที่ตัวเรา และทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันผลักดัน เพื่อผลดีต่อลูกหลานเราในอนาคต

ณ ปัจจุบันโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 5,3800 ล่านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (tco2e) ในส่วนของประเทศไทยมีการปล่อยสูงถึง 372.64 ล้านตัน (tco2e)

ลงมือทำ แก้จุดรั่วคาร์บอน ธุรกิจไทย
ปล่อยคาร์บอนสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก

ทางด้าน นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เมื่อคำนวนแล้วพบว่าไทยมีการปล่อยคาร์บอนฯมากกว่าค่าเฉลี่ย ดังนั้นพวกเราจึงต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้
สำหรับธนาคารกสิกรไทยได้มีการปล่อยคาร์บอนจำนวน 36.74 ล้านตันฯ โดยแบ่งเป็นคาร์บอนฯจากสโคป 1 และ 2 จำนวน 0.076 ล้านตันฯ ซึ่งเมื่อเทียบคาร์บอนกับการปล่อยสินเชื่อ มีการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ใช่สีเขียวมากกว่า จึงเน้นความสำคัญไปที่การลดคาร์บอนฯใน สโคป 3 ที่มีการปล่อยคาร์บอนกว่า 36.67 ล้านตันฯ


น.ส.ขัตติยา กล่าวว่า ความท้าทายของการจะไปต่ออย่างยั่งยืนได้อย่างไรนั้น เป็นการเดินทางที่ต้องค่อยๆปรับตัว หากคิดจะทำก็ห้ามทำเหมือนเดิม ต้องพลิกมุมมองทางธุรกิจใหม่ คำนึงถึงต้นทุน ทำงานร่วมกับผู้ซื้อ ทำงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หาคนที่เก่งมาร่วมอุดมการณ์ และต้นทุนการเงินที่ราคาไม่แพง เพื่อการเงินที่ต่อเนื่อง


โดยธนาคารกสิกรไทย ได้เริ่มดำเนินการและพัฒนามุ่งสู่ความยั่งยืน และได้เป็นธนาคารพาณิชย์แรกของไทยที่ติดดัชนีความยั่งยืนระดับโลก Dow Jones Sustainability Index (DJSI) 8 ปีติดต่อกัน


ซึ่งในเรื่องของ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) ต้องทำไปพร้อมกัน เมื่อรู้ว่าเราปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ ตั้งเป้า แอคชั่นและเริ่มทำทันที เริ่มต้นได้จากตัวเรา


เริ่มจาก E (Environment : สิ่งแวดล้อม) เป้าหมายเริ่มแรกต้องรู้ว่าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไร ซึ่งทางธนาคารกสิกรไทยปล่อย 36 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และได้มีการตั้งวงเงินไว้ 1-2 แสนล้านบาทสำหรับสนับสนุนลูกค้าให้เปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2030 (Net Zero Emissions) โดยในขณะนี้ได้ปล่อยสินเชื่อสินเชื่อสีเขียวและสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆในอนาคต


นอกจากนี้ ธนาคารฯยังต้องช่วยเหลือลูกค้าภาคธุรกิจและคู่ค้าในการปรับตัวเปลี่ยนแปลง ในส่วนของการอนุมัติขอสินเชื่อ บริษัทเหล่านั้นจะต้องผ่านเกณฑ์เรื่อง ESG โดยจะดูว่าองค์กรนั้นมีนโยบายเกี่ยวกับพลังงานสะอาด หรือมีการลงทุนด้านความยั่งยืนหรือไม่ ดำเนินธุรกิจไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่

นำผู้ประกอบการลุยเปลี่ยนผ่าน
เข้าถึงการเงินสีเขียว

น.ส.ขัตติยา กล่าวเพิ่มเติมว่า บทบาทแรกของธนาคารฯคือ ต้องคุยกับลูกค้าถึงแนวทางการเปลี่ยนผ่านโดยใช้เงินกู้-สินเชื่อสีเขียว พลังงานหมุนเวียน รถยนต์พลังงานสะอาด รวมไปถึงธนาคารกสิกรไทย กับ ธนาคารกรุงศรีฯ เป็นตัวแทนสมาคมธนาคารไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ช่วยภาคธุรกิจและประเทศไปสู่ Transition Finance เพื่อให้เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ตามบริบทในประเทศไทยในปี 2065 ซึ่งกสิกรไทยได้เตรียมแผนพูดคุยลูกค้าเริ่มต้นจากหยุดธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งแต่วันนี้

S (Social : สังคม) เพิ่มความมั่นคงการเงินด้วยการออม (Financial Resilience) จากข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติ ภาพรวมของประเทศไทย คนไทยมีแผนการออมเงินและปฏิบัติตามมีเพียง 19% เท่านั้น และเข้าสู่สังคมสูงวัย ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนเกษียณและต้องเริ่มทันที เป็นโจทย์มี่ทุกธาคารต้องสร้างวินัยทางการเงินให้ได้ ให้ความเท่าเทียมเริ่มจากพนักงานภายในบริษัท เพิ่มความผูกพันธ์ต่อองค์กรทั้งในแง่ของกรมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ สื่อสารให้พนักงานมีความมั่นคง มั่นใจ

ESG การเดินทางสู่ความยั่งยืนที่ไม่มีวันจบ

เรื่องด้านช่วยสังคมยังมีของ นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย ได้เข้าไปช่วยสังคมที่จังหวัดน่านโดยยึดหลัก “ดินน้ำ น้ำก็ดี พืชผักเขียวขจี วิถีสุขสบาย” และยังช่วยไม่ให้ทำลายป่า ซึ่งมองว่าการบุกรุกทำลายป่าเกิดจากความยากจนไม่ได้รับการแก้ไข “ท่านบัณฑูร สร้างความอยู่ดีกินดีด้วยการสร้างโรงพยาบาล อนามัย หาอาชีพเสริม หาตลาดให้กับคนที่น่าน ทำแบบบูรณาการ”


G (Governance : ธรรมาภิบาล) สิ่งที่ต้องทำคือต้องติดตามวัดผลและสนับสนุน โดยคณะกรรมการธนาคารกสิกรไทยดูแลให้ความสำคัญ และต้องรายงานข้อมูลแก่คณะกรรมการ รายงานเป้าหมายด้านงาน ESG
ความท้าทายเป็นการเดินทางไม่รู้ว่าในทุกสเต็ปจะปรับอย่างไร

ดังนั้นต้องค่อยๆปรับ ความทนทานด้านการเงิน อยากปล่อยสินเชื่อแต่ต้องบาลานซ์ว่ามีเงินมาคืนหรือไม่ด้วย ซึ่งประเทศไทย ต้องดูความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี พลังงานสะอาดมีพอหรือยัง ความมีเสถียรภาพด้านพลังงาน ต้นทุนว่ากรีนจริงหรือไม่


ทั้งนี้จึงต้องมีเครื่องชี้วัดจากอะไร ที่สำคัญต้องทดลองทำ ถ้าทำไม่ได้ต้องกลับมาทำใหม่ ต้องร่วมกันทำร่วมทดลอง และยังต้องทำต่อเนื่อง เพราะความยั่งยืนเป็นการเดินทางที่ไม่มีวันจบ

 AI -ความยั่งยืน 2 สิ่งพลิกโลกใหม่หากขาดไปตกขบวน

ในส่วนของ บริษัท อินโนเพาเวอร์ จำกัด บริษัทนวัตกรรมพลังงานสะอาด น้องใหม่จาก EGAT Group สร้างพัธมิตรพิชิตคาร์บอน มุ่งเพิ่มขีดความสามารถและการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ได้กล่าวถึงรายงานของ World Economic Forum (WEF) เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ระบุว่า บริษัทที่ขาดนวัตกรรม AI และ ความยั่งยืน (Sustainability) จะแข่งขันในตลาดได้ยาก

และในด้านของ เจพีมอร์แกน ให้ข้อมูลว่า ในปีนี้จะเกิดการลงทุนด้านความยั่งยืนมากกว่าปีที่แล้ว แม้จะมองว่าเป็นเทรนด์ที่อยู่ไกลตัว แต่ในความเป็นจริง ประเทศไทยเป็นประเทศที่ตระหนักรู้ในเรื่องของความยั่งยืน โดยความยั่งยืนได้อยู่ในอันดับที่ 3 ของ Top Strategic Technology 2024 ในปีนี้ด้วย

นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนเพาเวอร์ จำกัด กล่าวว่า การลงทุนด้านความยั่งยืนเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และถือเป็นเครื่องมือ สร้างช่องทางในการเปิดตลาดใหม่ ต่อยอดไปยังอินโนเวชั่นใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ

3 เหตุผล ไทย ยังเข้าใจความยั่งยืนคลาดเคลื่อน

ปัจจัยสำคัญทำให้ไม่เกิดการปฏิบ้ติ (Action) ด้านความยั่งยืน มี 3 เหตุผล คือ


1.ความยั่งยืนยังเป็นเรื่องใหม่ ทำให้ความรู้ยังจำกัด (Gap of Knowledge & Expertise about Sustainability)
ถือว่าเป็นช่องว่างของความรู้ expertise นวัตกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถสร้างความยั่งยืนคือ พลังงานสะอาด ความมั่นคงทางด้านพลังงาน และค่าใช้จ่ายที่สมดุล


2.ความเข้าใจผิดว่าความยั่งยืนเป็นค่าใช้จ่ายที่มีต้นทุน ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน (Mispercepion that Sustainability is Costly)


หลายบริษัทยังมีความเชื่อว่าการจ่ายในเรื่องของความยั่งยืนนั้นไม่คุ้มค่า เพราะว่าข้อมูลมีจำกัด แต่ปัจจุบันตลาดโลกกำลังให้ความสำคัญกับด้านความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น


ตัวอย่างเช่น Apple ที่จะ net zero 2030 และลงทุนด้านความยั่งยืนเพื่อเข้าสู่ตลาดพรีเมี่ยม


3.การจัดสรรทรัพยากรให้กับธุรกิจหลัก (Allocate Resourcess to Core Business) มีงบที่จำกัด จึงต้องมีวิธีแก้ไขปัญหา ได้โดยการพึ่งพาเทคโนโลยีสร้างธุรกิจตั้งแต่เริ่มแรก


4 วิธีลดคาร์บอนในห่วงโซ่

กระบวนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรธุรกิจที่มีมีซัพพลายเชนคู่ค้าในต่างประเทศ จะต้องดำเนินการตามข้อกำหนด ดังนั้น การลดการปล่อยกีาซคาร์บอนฯ มี 4 ด้าน คือ


1.สร้างความตระหนักรู้ จุดเริ่มต้นไปให้ถึงเป้า เช่น หากไม่รู้ว่ามีใช้ไฟอย่างไร เครื่องมือกินไฟเท่าไรอย่างไร เราไม่มีทางเข้าไปถึงเป้าหมายได้


2.ผู้ประกอบการต้องการสร้างผลลัพธ์รวดเร็ว หรือการซ่อมแซม ช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ในช่วงต้น


3.การเข้าไปสู่สาเหตุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะอยู่ไหม และ


4.การทำงานเชิงรุก (Proactive)
นายอธิปกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีที่ผ่านมาให้ผู้ประกอบการเข้าถึงพลังงานสะอาด มากกว่า 2 ล้านหน่วย

และล่าสุด 2 เดือนที่ผ่านมา เปิดให้ผู้ประกอบการรายย่อยผลิตพลังงานสะอาดเอง สามารถเข้าสู่แพลตฟอร์ม REC ( Renewable Energy Certificate) สนับสนุนการขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน สำหรับองค์กรและประชาชนรายย่อยครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการรู้จักตัวเองแล้ว สิ่งสำคัญ คือ ต้องพัฒนาไปป้จจัยพื้นฐานต้นทุน ( Root Cost ด้วย


“ต้องบอกว่าเรื่องของ สิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องของทุกคน ไทยปล่อยคาร์บอนเกินค่าเฉลี่ยอยู่เยอะ เราเองเป็นแค่บริษัทเล็กๆ บริษัทหนึ่งที่มีความฝัน อยากจะช่วยให้สิ่งแวดล้อมประเทศไทยดีขึ้นได้ เทียบเท่าปลูกต้นไม้ 45 ล้านต้น และให้แข่งขันได้ในตลาดใหม่ๆ มีสิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคต ดังนั้นจึงอยากชวนให้ทุกคน Action for change”

นิเวศธุรกิจ Zero Waste ผ่าน BCG

ในด้านของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ด้วยการเป็นธุรกิจผลิตไฟฟ้าและสถานีบริการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต้องการเป็นผู้นำอุตสาหกรรม Waste to Energy ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เดินหน้าสู่โรงไฟฟ้าสีเขียว 100% ในปี 69 ด้วย ESG พยายามสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจเพื่อ Zero Waste ผ่าน BCG


นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ TPIPP เปิดเผยว่า ไทยได้ตั้งเป้าใน COP27 ว่าในปี 68 ไทยจะเริ่มเปลี่ยนผ่านจากโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น และในปี 83 ตั้งเป้าสัดส่วน 68% จะต้องเป็นพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียน และในปี 93 ตั้งเป้าหมาย 74% ของพลังงานไฟฟ้าจะต้องเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาด และจะเริ่มยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วย และเดินหน้าสู่การเป็น Net-Zero ภายในปี 2608


สำหรับ TPIPP ตั้งเป้าหมายที่มุ่งสู่ Green Power Plant-Coal Free หรือ จะเป็นโรงไฟฟ้าสีเขียวปราศจากถ่านหิน 100% ตั้งแต่ปี 69 เป็นต้นไป และวางวิสัยทัศน์ การเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรม Waste to Energy ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุด และต้องเป็น Net Zero Company ด้วย ESG Principle และพยายามสร้าง Ecosystem ภายในบริษัทให้กลายเป็น Zero-Waste และ จะใช้ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) เพื่อให้กลายเป็น Sustainable หรือ เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจและกำไร เป็นต้น

นายภัคพล กล่าวว่า บริษัทมีธุรกิจหลัก 2 บริษัท คือ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และธุรกิจสถานีบริการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยบริษัทยืนยันว่าจะไม่มีการขยายธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นเพียงธุรกิจเสริมเท่านั้น โดยการเติบโตหลักจะยังอยู่ที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้า


สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้า ปัจจุบันเป็นพลังงานโซลาร์และพลังงานลม โดยบริษัทฯมีกำลังการผลิตรวม 440 เมกะวัตต์ โดยมีพลังงานความร้อนทิ้ง 40 เมกะวัตต์ พลังงานจากขยะ 180 เมกะวัตต์ และพลังงานจากถ่านหิน 220 เมกะวัตต์ โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะทำให้พลังงานจากถ่านหินเป็น 0 เมกะวัตต์ ในปี 69 โดยในปี 69 คาดจะมีกำลังการผลิตรวม 563 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยพลังงานความร้อนทิ้ง 40 เมกะวัตต์ พลังงานหมุนเวียน 420 เมกะวัตต์ และ 103 เมกะวัตต์


ด้านการเปลี่ยนผ่านจากถ่านหินเป็นขยะ โดยปัจจุบัน อยู่ระหว่างการดำเนินการโครงการ Solar Farms ที่สระบุรี โดยคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ในเฟส 1.1 จำนวน 8 เมกะวัตต์ คาดจะ COD ได้ ประมาณพ.ค. ปีนี้

 

ส่วนการเปลี่ยนถ่านหินเป็นขยะ ประกอบด้วย 6 เฟส โดยปัจจุบันเฟสที่ 1-3 ดำเนินการแล้วเสร็จ 40% เริ่ม COD แล้วตั้งแต่เม.ย.-พ.ค.66 ปัจจุบันอยู่ระหว่างเฟส 4 คาดแล้วเสร็จ ส.ค.ปีนี้ ส่วนเฟส 5 คาด COD ปลายปีนี้ และเฟส 6 คาดว่าจะ COD ต้นปี 2025 ซึ่งจะเป็นไปตามเป้าหมายที่มุ่งสู่ Green Power Plant-Coal Free หรือ จะเป็นโรงไฟฟ้าสีเขียว 100% ตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป
นายภัคพลกล่าวเพิ่มเติมว่า สามเหลี่ยมทองคำ ถือเป็นจุดจุดศูนย์กลางที่สร้างโอกาสในอนาคต

หากประเทศไทยสามารถจับจุดตรงนี้ ขับเคลื่อนการพัฒนา จะสามารถเป็นการเปิดโอกาสไปสู่ ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกใบนี้ จึงต้องการฝากให้รัฐบาล พัฒนาสร้างโอกาสทางธุรกิจ รวมไปถึงการผลักดันทางด้าน โอกาสภาษีคาร์บอน (ภาษีคาร์บอน) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการค้าขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มมากขึ้น

 

Tag :