บาฟส์ ผนึก ม.หอการค้าไทย พัฒนาหลักสูตรมาตรฐานสากล หนุนบัณฑิตรุ่นใหม่มีทักษะขั้นสูงก่อนสู่ตลาดแรงงาน

by ESGuniverse, 13 กุมภาพันธ์ 2567

 บาฟส์ ร่วมมือ ม.หอการค้าไทย ทำMOU ปั้นบัณฑิตรุ่นใหม่ ทันโลกตอบโจทย์ยุคเปลี่ยนแปลง บูรณาการสหกิจ หลอมรวม multitasking skill พร้อมก้าวเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ


ในยุคที่เต็มไปด้วยการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ไร้ซึ่งการหยุดนิ่ง ล้วนเป็นสิ่งท้าทายความสามารถของสถาบันในระดับอุดมศึกษาในการสร้างบัณฑิต ที่ก้าวสู่การเป็นทรัพยากรมนุษย์ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเป็นกำลังสำคัญของตลาดแรงงานในอนาคต นำไปสู่ความตื่นตัว และเสริมศักยภาพปรับหลักสูตรการศึกษา ตลอดจนการเรียนการสอนที่ต้องสอดคล้องกับพฤติกรรมของเด็กรุ่นใหม่ และสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเทคโนโลยี หรือความต้องการของผู้เรียนที่เปลี่ยนไปตามค่านิยมของเจนเนอเรชั่น

 

 

 

 

ล่าสุด บริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บาฟส์ จับมือกับ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาภาคเอกชนที่ไม่แสวงกำไรชั้นนำของเอเชีย ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมพัฒนาคุณภาพบุคลากรคนรุ่นใหม่ ผ่านการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย พร้อมเพิ่มหลักสูตรปฏิบัติงานจริง เสริมสร้างทักษะประสบการณ์ทำงาน เตรียมความพร้อมในการประกอบวิชาชีพให้กับนักศึกษา ยกระดับการผลิตบัณฑิตให้เป็นที่ต้องการตามมาตรฐานสากล

 ​รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ​ด้วยพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยในการเป็น Practice University ที่มุ่งเน้นการเรียนภาคปฏิบัติจริงที่เข้มข้นควบคู่การเรียนภาคทฤษฎี จึงได้มีการปรับปรุงห้องปฏิบัติการให้มีความทันสมัยใกล้เคียงกับภาคธุรกิจที่ใช้งานจริงกับหลากหลายคณะวิชา รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรที่มีการจัดการศึกษาในรูปแบบสหกิจศึกษา และการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน หรือ Cooperative and Work Integrated Education : CWIE ร่วมกับสถานประกอบการทั่วประเทศ

จึงนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ องค์กรชั้นนำอย่างบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บาฟส์ ที่มองเห็นความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรบุคลซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร และการผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานสากล

ซึ่งบาฟ มีวิทยากรบุคลากรที่มีประสบการณ์ทำงานจริง มีความชำนาญ มาถ่ายทอดองค์ความรู้ คู่กับพาให้นักศึกษาได้ปฏิบัติด้วยการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งการร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ที่กำลังต้องการบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

 หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บาฟส์ เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี บาฟส์ มุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโต ด้วยวิสัยทัศน์ “เติมเต็มโลกด้วยธุรกิจที่ยั่งยืน” ดำเนินธุรกิจอย่างสมดุล ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมายการเติมพลังงานและสร้างแรงบันดาลใจ ตลอดจนตระหนักว่าการศึกษาเป็นรากฐานในการยกระดับคุณภาพชีวิต และเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งมิติด้านเศรษฐกิจและสังคม

ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในครั้งนี้ บาฟส์ ได้นำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาเพื่อให้ก้าวสู่การเป็นบุคลากรรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

 



Multitasking ตัวจริง ศักยภาพไร้ขีดจำกัด

ปัจจัยสำคัญของการเลือกรับคนเข้าสู่องค์กร คือต้องเป็น “ตัวจริง” ในด้านการทำงาน มีศักยภาพการทำงานในแบบ Multitasking skill และมีประสบการณ์แบบ Hands on-experience การพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นไปที่การเติมเต็มผู้เรียนให้มีประสบการณ์จากการปฏิบัติจริงมากกว่าคลังความรู้ในเชิงทฤษฎี พร้อมทำงานได้อย่างไร้ขีดจำกัด จึงเป็นเรื่องสำคัญ

​บาฟส์ กับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงร่วมกันบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัยเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในยุคปัจจุบัน เพิ่มประสิทธิภาพหลักสูตร โดยเชื่อมโยงความรู้ทางวิชาการกับอาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพ พร้อมจัดวิทยากรหรือจัดการบรรยายพิเศษให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ทำงานจริง พร้อมเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

 

 

รวมถึงการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา ฝึกปฏิบัติงานจริงในระหว่างเรียน เพื่อพัฒนาทักษะให้สามารถทำงานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ และการที่นักศึกษาได้ประสบการณ์การทำงาน การปฎิบัติจริงในระหว่างเรียนจากการร่วมโปรเจคกับบริษัทชั้นนำ ได้รับการโค้ชชิ่งจากเจ้าของ

เปิดโอกาสลงมือทำ “ประสบการณ์จริง” สะสมชั่วโมงบิน ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ภายหลังจบหลักสูตร และมีคุณสมบัติสอดคล้องกับความต้องการขององค์กรต่างๆ ในตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทางและปัญหานักศึกษาจบใหม่ขาดประสบการณ์การทำงาน

 

 

 

​ความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยพัฒนายกระดับการเรียนการสอน โดยเฉพาะในสาขาวิชาที่เน้นการปฏิบัติเพื่อการประกอบวิชาชีพ ให้มีความยืดหยุ่นและทันสมัย โดยเปิดกว้างการเรียนรู้จากผู้สอนที่มาจากภาคอุตสาหกรรมโดยตรง

 นอกจากนี้พวกเขา ยังมีแผนต่อยอดความร่วมมือในอนาคต ในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนและระบบการประเมินที่เข้ากับบริบทของแต่ละวิชาชีพ โดยเฉพาะหลักสูตรเฉพาะทางที่เน้นการฝึกปฏิบัติ ให้สามารถบรรจุวิชาใหม่ที่ทันสมัยและสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานคุณภาพในอนาคต.