กระป๋องอลูมิเนียมรีไซเคิลได้ทั้งใบ ไม่รู้จบ TBC ต่อยอดความยั่งยืนสู่คนรุ่นใหม่ ผ่านโครงการ University Can Do : To Be a Creator

by สินนภา ดีเลิศพัฒนา, 13 มีนาคม 2567

กระป่องใช้แล้วเป็นขยะจำนวนมหาศาล ที่ทั่วโลกกำลังเร่งหาแนวทางแก้ไข ไทยเบเวอร์เรจแคน โชว์นวัตกรรมจัดการเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ โดยการนำกระป๋องอะลูมิเนียมกลับมาวนใช้ใหม่ได้ทั้งใบ แบบไม่รู้จบ พร้อมเฟ้นหาครีเอเตอร์หน้าใหม่ บอกต่อเรื่องราวสู่คนรุ่นใหม่ ตอบโจทย์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นางกิติยา แสนทวีสุข ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด หรือ TBC เปิดเผยว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งเป้าหมายหลักของบริษัทเรา ตามนโยบาย TBC Sustainability Goals หรือ TBC SG แผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ โดยกำหนดทิศทางกลยุทธ์ 2 ด้าน ประกอบด้วย กลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ (Product Stewardship) และกลยุทธ์ด้านการสร้างพลังเพื่อขับเคลื่อนสังคม (Social Impact) ซึ่งมีแผนมุ่งผลสัมฤทธิ์ภายในปี 2030

“เพิ่อส่งเสริมยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของแนวคิดพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โรงงานบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มของ TBC เราเลือกใช้วัสดุอลูมิเนียมในการผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋อง เพราะเป็นวัสดุที่รีไซเคิลได้ 100% โดยไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมได้อย่างครบวงจรภายในประเทศ (Aluminium Closed-Loop Recycling) “

นางกิติยากล่าวต่อว่า ปัจจุบันอัตราการรีไซเคิล (Recycling Rate) ในกลุ่มอลูมิเนียมของไทยอยู่ที่ 88% โดยจะถูกนำกลับไปผลิตเป็นกระป๋อง (Can to Can) ที่ประมาณ 70% เราจึงตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนของอลูมิเนียมรีไซเคิลในการผลิตกระป๋องอลูมิเนียมใบใหม่จาก 70% เป็น 85%-90% ภายในปี ค.ศ. 2030

“ การที่เราสามารถนำกระป๋องอลูมิเนียมมารีไซเคิลได้แบบไม่รู้จบ จะช่วยลดการถลุงแร่อลูมิเนียมใหม่ และช่วยลดการใช้พลังงานลง 95% ลดคาร์บอนลงได้ 3 เท่า สอดคล้องนโยบายส่งเสริมยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ และเศรษฐกิจสีเขียว บรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ของประเทศไทยภายในปี พ.ศ.2593 และ พ.ศ.2608 ตามลำดับ “


เฟ้นหาครีเอเตอร์หน้าใหม่

สร้างแรงกระเพื่อมสังคม


โลกยุคไอที กระแสครีเอเตอร์มาแรงและสร้างการเปลี่ยนแปลงทุกแง่มุมของสังคมได้อย่างรวดเร็ว ไทยเบเวอร์เรจแคน จึงเลือกเสาะหาคนกลุ่มนี้ มาปลุกกระแสคนรุ่นใหม่ผ่านความคิดสร้างสรรค์คนวัยเดียวกัน ด้วยการสร้างคอนเทนท์ออนไลน์ กระตุ้นเยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมสอดแทรกความรู้ใหม่ กระป๋องอลูมิเนียมสามารถรีไซเคิลได้ทั้งใบ ไม่ใช่แค่ห่วงกระป๋องเท่านั้น นำมาสู่การจัดเวทีประกวดคลิปสั้นโครงการ University Can Do : To Be a Creator

นางกิติยา กล่าวว่า การประกวดคลิปสั้นโครงการ University Can Do : To Be a Creator ครั้งนี้ บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด (TBC ) ร่วมกับ Aluminium Loop จัดขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ร่วมสร้างคอนเทนท์ออนไลน์เพื่อกระตุ้นการรับรู้และความใส่ใจในด้านสิ่งแวดล้อม ทางบริษัทฯได้ให้ความสำคัญในเรื่องของพลังเยาวชน เพราะคนเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะสามารถช่วยขับเคลื่อนประเทศในอนาคตได้

“เราต้องการใช้ช่องทางออนไลน์ที่เป็นเหมือนพื้นที่สาธารณะของเยาวชน ในการสร้างการรับรู้ของคนในวัยเดียวกัน เปลี่ยนภาพจำของการรีไซเคิลกระป๋อง ที่คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าสามารถบริจาคหรือรีไซเคิลได้แค่ห่วง แต่ในความเป็นจริง กระป๋องอลูมิเนียมเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ทุกส่วนแบบ 100% อย่างไม่รู้จบ”

โครงการ University Can Do: To be a Creator รับสมัครนักศึกษาทั้งประเภททีมและประเภทเดี่ยว โดยจากการรับสมัครได้คัดเลือกกลุ่มที่มีความสามารถมาทั้งสิ้น 25 คน โดยแบ่งเป็นทีม 7 ทีม และเดี่ยว 6 คน โดยมีโจทย์ให้แต่ละทีมทำคลิปสั้น ภายใต้หัวข้อ “กระป๋องอลูมิเนียม รีไซเคิลได้ทั้งใบ ไม่ใช่แค่ห่วง” สำหรับลงในช่องทางออนไลน์ของ Aluminium Loop ทั้ง Facebook, Instagram และ TikTok ซึ่งเวทีนี้เป็นแค่ก้าวแรกและจะมีก้าวต่อไป ในอนาคตจะยังคงทำโครงการนี้ต่อไปพร้อมเตรียมเปิดฉากที่ 2 ในช่วงกลาง-ปลายปีนี้ เพื่อให้ความรู้และต่อยอดโครงการพลังคนรุ่นใหม่ควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่สร้างคอนเทนต์ดีๆ ต่อไป

โดยผู้ที่ชนะรางวัลของโครงการรางวัลประเภทเดี่ยว ชนะเลิศ ทุนการศึกษา 20,000 บาท ได้แก่ จันทกานต์ ทองถิ่น จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ รองชนะเลิศอันดับ 1 ทุนการศึกษา 10,000 บาท ได้แก่ ใครไม่ล่าเบลล่า โดยภัทรดา ผาเหลา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น รองชนะเลิศอันดับ 2 ทุนการศึกษา 5,000 บาท ได้แก่ Let's Green โดยปุณยนุช อริยะคุณาธร จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ส่วนรางวัลประเภททีม รางวัลชนะเลิศ ทุนการศึกษา 15,000 บาท ได้แก่ ทีม SNJ ตัวแม่มากู้โลก โดยชฎารัตน์ อับไพ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, อรปรียา รุ่งรัตน, พงศ์โชติ นาสร้อย จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น รองชนะเลิศอันดับ 1 ทุนการศึกษา 7,500 บาท ได้แก่ ทีม Titans and Troll โดย ธนกร พุฒแก้ว, จิรัชญา แสงอรุณ, ณภคนันท์ พรมสุวรรณ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ รางวัล The Most Popular ทุนการศึกษา 5,000 บาท ได้แก่ ทีม We are World โดยทัตพงศ์ ปิยะรัตนพิพัฒน์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร, อัสมา เกื้อหมาด จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ รสชริญ จิตรหลัง จากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์

“ผลงานที่คว้ารางวัลทั้งประเภทเดี่ยวและประเภททีม ตอบโจทย์สื่อสารชวนคนมารีไซเคิลและให้ความรู้กระป๋องอลูมิเนียมมีค่ารีไซเคิลได้ทัังใบ สื่อเป้าหมายได้ชัดเจน สะกดผู้ชมในโลกโซเชียลตั้งแต่ 5 วินาทีแรก ก่อนที่เนื้อหาพาให้คล้อยตามจนจบภายในเวลา 1 นาทีครึ่ง “ กิติยา กล่าว