ความหลากหลายทางชีวภาพ กุญแจนำทางชะตาธุรกิจไทย ให้เข้าเส้นชัยในความยั่งยืน

by ESGuniverse, 17 เมษายน 2567

ความหลากหลายทางชีวภาพ-การเงิน-ธุรกิจ ฟื้นสุขภาวะมวลมนุษยชาติ ปลายทางหนึ่งเดียวสู่การพัฒนาผาสุขอย่างยั่งยืน

การรับรองกรอบการทำงานขับเคลื่อนด้านความหลากหลายทางชีวภาพของโลก มีการประชุมกัน ณ คุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน -มอนทรีออล แคนาดา (Kunming-Montreal Gobal Biodiversity Framework -GBF) 23 เป้าหมาย (2030 Mission) มุ่งดำเนินการเพื่อลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและร่วมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนในภาคการเงินและธุรกิจ

จากกรอบการทำงานได้นำไปสู่การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพทางเศรษฐกิจ (International Cooperation for Economic biodiversity) ในการประชุมความตกลง ภายใต้พันธสัญญาปารีส ครั้งที่ 15 (COP15)

หลังจากกระบวนการปรึกษาหารือและการเจรจา 4 ปี กรอบงานนี้ได้สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างจากแผนยุทธศาสตร์ของอนุสัญญาก่อนหน้า โดยกําหนดเส้นทางเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ระดับโลก ให้มนุษยชนแห่งศตวรรษต่อไป เรียนรู้ที่จะเลือกเส้นทางวิถีการใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับธรรมชาติภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593 )

 

 

ทั้งนี้ จึงนำไปสู่การจัดงานสัมมนาการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ หนึ่งในโครงการของ “Fin4Bio” (Finance for Biodiversity) เป็นการวางระบบการเงินเพื่อช่วยให้เกิดการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ เน้นทางสายกลางอย่างมีสมดุลและยืดหยุ่นด้านระบบนิเวศ การใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว การบริหารจัดการด้านทรัพยากร นวัตกรรมสีเขียว ลดสิ่งที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาด้านเกษตรยั่งยืนตามเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมระบบผลิตอาหารยั่งยืนเพื่ออนาคต

 

จากคุณหมิง ถึงมอลทรีออล
ความร่วมมือโลกพิทักษ์หลากหลายชีวิต เพื่อมนุษยชาติ

ได้วางกรอบการทำงานตั้งแต่ คุณหมิง จนถึง มอนทรีออล . มีการตั้งเป้าหมายพันธสัญญา 4 ด้าน ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และ 23 แผนย่อยในหมุดหมายแรกปี 2030 (พ.ศ.2573)

โดยแผนงาน 4 ด้าน ประกอบด้วย

1.เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ที่เกิดจากมนุษย์ของสัตว์ที่มีอันตรายและลดอัตราการสูญพันธุ์ของสถานการณ์ทั้งหมดลง 90% โดยในปี 2050


2.การนำความหลากหลายทางชีวภาพมาบริหารจัดการ ปกป้อง ฟื้นฟู รักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติให้กับมวลมนุษยชาติ ในปี 2050


3.การสร้างโอกาสและกระจายความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม โดยใช้ฐานข้อมูลจากดิจิทัลมาช่วยจัดการ


4.การสร้างความมั่นคงจัดสรรเงินทุนให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างความร่วมมือไปยังประเทศกำลังพัฒนา กลุ่มคนเล็กๆ ตามเกาะต่างๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับ GBF

 

โดยงานสัมมนาการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ หนึ่งในโครงการของ “Fin4Bio” (Finance for Biodiversity) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความร่วมมือในการริเริ่มกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยมีองค์กรภาครัฐ เอกชน และภาคการเงินร่วมเป็นหน่วยงานสนับสนุนหลัก โดยได้มีการรวบรวมความคิดเห็น ข้อสนอแนะ อุปสรรค และโอกาสในการพัฒนาการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยจากภาคส่วนสำคัญต่างๆ

 

 

จากนั้นจึงจัดทำเป็นข้อเสนอแนะร่วมการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Fin4Bio Joint Recommandation) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสนับสนุนการพัฒนาการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย โดยการจำแนกประเภทธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะต้องมีการปรับตัวเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Taxonomy)

สำหรับความหลากหลายทางชีวภาพของไทย การส่งเสริมให้มีการประเมินและเปิดเผยความเสี่ยงของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ มาตรการสิ่งจูงใจสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรแก่ธรรมชาติ (Nature Positive Economy) รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถ การแบ่งปันความรู้และสิ่งจูงใจในการบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพเข้าสู่โมเดลธุรกิจและเพื่อแสดงถึงความตั้งใจของภาคีที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยในการสนับสนุนการลงทุนที่เอื้อต่อความหลากหลายทางชีวภาพอันสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและกรอบการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก

 

ไทย ชูจุดยุทธศาสตร์พื้นที่
ความหลากหลายชีวภาพ อันดับ16 โลก

ภายในงานสัมมนาการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงการบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยเริ่มต้นจากการกำหนดนโยบายไปสู่การปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจว่า ประเทศไทยถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่อยู่ในเขตร้อนจึงมีความได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ทั้งทั้งประเภทพืช สัตว์ จุลินทรีย์

แหล่งที่ตั้งของไทย จึงถูกจัดอันดับให้เป็นพื้นที่ถิ่นฐานที่อยู่ของพืชหรือสัตว์ติดอันดับที่ 16 ของโลก และอันดับ 3 ในภูมิภาคอาเซียน มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตถึง 164,000 สายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็น พันธุ์พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ การมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลาย ทั้งทางบก มหาสมุทร และพื้นที่ชุ่มน้ำ

ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตถือเป็นทรัพยากรพื้นฐานในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของไทยให้เติบโต ฐานรากในการทำรายได้จากความหลากหลายทางชีวภาพ ในกลุ่มคลัสเตอร์ธุรกิจและอุตสาหกรรม อาทิ ด้านปศุสัตว์ ป่าไม้ เกษตรกรรม อาหารและยาสมุนไพร รวมถึงการท่องเที่ยว ในปี 2566 ที่ผ่านมา มูลค่าเพิ่มการสร้างรายได้จากภาคการเกษตรรวมมูลค่าถึง 1,516,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเปรียบเทียบกับปี2565 ที่มีอัตราการขยายตัว 2.2% โดยพืชผลทางการเกษตรที่ทำรายได้หลักทางเศษฐกิจ ประกอบด้วย ข้าวนาปี ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย สับปะรด และยาง


อย่างไรก็ตาม ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับ ปัญหาสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม พื้นที่ป่าเกิดไฟไหม้ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำทางแหล่งน้ำบนบก และในมหาสมุทร ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

 

 

แปลงยุทธศาสตร์ยั่งยืนชาติ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4 มิติ
กระจายความเท่าเทียมทางโอกาส จากทุนธรรมชาติ

ยุทธศาสตร์ชาติที่จะขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน 20 ปี (ตั้งแต่ปี 2561-2580) มุ่งขับเคลื่อน 6 ยุทธศาสตร์ โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปัจจุบัน อยู่ในแผนฉบับที่ 13 (ปี 2565-2570) มุ่งเน้นการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพ มาพลิกโฉมประเทศใน 13 ด้าน ใน 4 มิติ ประกอบด้วย

 

ภาคการผลิตและบริการ


1.ศูนย์กลางดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
2.ประตูการค้าการลงทุนและโลจิสติกส์
3.การแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง
4.ฐานการผลิตฺยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก
5.การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพ และความยั่งยืน
6.เกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง

 

ภาคการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม


7.SMEs ที่เข้มแข็ง ศักยภาพสูง แข่งขันได้
8.พื้นที่และเมืองอัจฉริยะ
9.ความยากจนข้ามรุ่นและความคุ้มครองทางสังคม

 

ภาคความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


10.เศรษฐกิจหมุนเวียน และสังคมคาร์บอนต่ำ
11.การลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ


12.กำลังคนที่มีสมรรถนะสูง
13.ภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ประชาชน


หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ เติบโตจากรากฐานทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนายั่งยืนของโลก จะต้องมีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่มีต้นทุนในการสร้างมูลค่าและขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนได้ หากมีการวางแผนการนำสิ่งเหล่านี้มาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์กับคนในยุคปัจจุบัน และสร้างมรดกไปสู่คนรุ่นหลัง

 

 

หลอมรวม 3 แผนแม่บทยั่งยืนลงสู่ปฏิบัติ
เศรษฐกิจพอเพียง-BCG-SDGs

ยุทธศาสตร์สำคัญจะต้องหลอมรวม 3 แผนแม่บทมาเชื่อมต่อกัน ประกอบด้วย หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยุทธศาสตร์ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) 17 ข้อขององค์การสหประชาติ (United Nations)

โดยขับเคลื่อนทุนทางทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพไปสู่ความยั่งยืน จะต้องยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งส่งเสริมให้ทุกคนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ รวมถึงการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จนเกิดความยั่งยืน

คำว่า พอเพียง คือ การดำเนินชีวิตแบบทางสายกลาง โดยตั้งอยู่บนหลักสำคัญสามประการ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี พร้อมกันกับ มี 2 เงื่อนไขมาเป็นตัวกำกับ คือความรู้ เป็นพื้นฐานทางความคิด ช่วยในการตัดสินใจ พร้อมกันกับยึดหลักคุณธรรม ไม่เบียดเบียนใคร เพื่อให้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างปกติสุข จะนำไปสู่การขับเคลื่อน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้เติบโตไปด้วยกันอย่างสมดุล พร้อมรับทุกสภาพการเปลี่ยนแปลง

โดยใช้กลยุทธ์ BCG นั่นคือการมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต ผ่าน 3 ด้านที่เป็นรากฐานของทุนทางทรัพยากร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เติบโจากรากฐานการเกษตร ไปสู่การต่อยอดด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อกระจายรายได้ไปสู่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับโอกาสเท่าเทียม ภาคธุรกิจSMEs ประชาชน และกลุ่มคนเปราะบาง โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

 

สำหรับ กลไกสำคัญ คือการสร้างทรัพยากรให้อุดมสมบูรณ์ มีระบบนิเวศที่พร้อม จะต้องวางกลไกการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทั้งทางบก แม่น้ำ ชายฝั่ง และมหาสมุทร สอดคล้องกับเป้าหมายระดับโลก พร้อมปรับตัวและลดผลกระทบจากเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มหาสมุทร พืช สัตว์ และดินทั่วโลกมีส่วนช่วยในการดูด ซับก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้นสูงถึง 54% โดยธุรกิจทั่วโลกมีการพึ่งพาธรรมชาติมากโดยคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าครึ่งของ GDP โลกทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยงจากภัยพิบัติหรือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ จึงต้องร่วมมือกันในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล”

 

ปิดความเสี่ยงสูญเสีย
ความหลากหลายทางชีวภาพ
วิบากเศรษฐกิจไทย

ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร เลขาธิการและกรรมการบริหารสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอม-แพ็กแห่งประเทศไทย ได้เล่าถึงการบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนในภาคธุรกิจว่า เครือข่ายฯให้ความสำคัญกับ 4 ด้าน สิทธิมนุษย์ สิทธิแรงงาน ธุรกิจในประเทศไทย และความหลาหลายทางชีวภาพ โดยต้องวางแผนทั้งระยะยาวและระยะสั้น จากมุมมองของประเทศไทย มีการทำเกษตร การทำประมง ป่าไม้ ส่งผลให้การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจะทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ และเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข


การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนให้พร้อมรับมือกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2030 (Net Zero Emissions) กับเรื่องของการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งบนบกและในน้ำ ต้องทำไปควบคู่กัน เพราะภาวะโลกร้อนและการสูญเสียทางชีวภาพเป็นเรื่องเดียวกัน มุ่งทำงานแบบผนวกรวม เพื่อที่จะสามารถเข้าใจที่จะลงทุนร่วมกัน เพราะทุกอย่างมันเชื่อมโยงกัน

“ทุกภาคส่วนจะต้องมีการพูดคุยกันอย่างจริงจังในเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งการร่างกฏหมาย ผลักดันวาระ เพิ่มขีดความสามารถ ทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อหาคำง่ายๆเพื่อที่ทุกคนจะเข้าใจได้”


ดร.เนติธร ยังได้กล่าวถึงแนวทางการใช้ข้อตกลงส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพที่จะทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ว่า มุ่งฟื้นฟูระบบนิเวศน์ตั้งแต่ระบบต้นน้ำถึงปลายน้ำ ด้วยโซลูชั่นเพื่อบรรลุผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2030 (Net Zero Emissions) ทำธุรกิจแบบมีความรับผิดชอบ ไม่ตัดไม้ ทำลายป่า อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ด้วยพันธสัญญาที่มุ่งมั่นนี้จะถูกนำมาใช้ในแผนงานธุรกิจต่างๆ ติดตามและประเมินผล มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำให้เป็นจริง มีปฏิสัมพันธ์กับทั้ง ผู้ค้ารายย่อยตลอดจนห่วงโซ่ธุรกิจ

 

 

6 หมุดหมาย คืนความหลากหลายทางชีวภาพสู่ไทยยั่งยืน


โดยภาคการเงินและภาคธุรกิจมีบทบาทเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ (Nature Postive Economy) จึงได้มีข้อแนะนำร่วมกันเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนี้


1. ยินดีให้เกิดการพัฒนาการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกันที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย (Thai Biodiversity Taxonomy) เพื่อใช้เป็นเครื่องมืออ้างอิงสำหรับกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพสู่กระแสหลัก


2. ส่งเสริมให้มีการประเมินและเปิดเผยความเสี่ยงของภาคธุรกิจ ระดับการพึ่งพาและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดทำกรอบรายงานเพื่อช่วยให้ธุรกิจมีความเข้าใจที่ดีขึ้นถึงการพึ่งพาธรรมชาติและผลกระทบของที่จะเกิดขึ้นต่อการดำเนินธุรกิจของตน


3. สนับสนุนให้เกิดการสร้างมาตรการแรงจูงใจและกลไกทางการเงินที่จะมีส่วนเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

4. สร้างความมั่นใจว่ามีการจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ สารสนเทศ ความรู้และการเสริมสร้างความสามารถ โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ


5. ส่งเสริมการดำเนินการเพื่อลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ สนับสนุนการฟื้นฟูระบบนิเวศ และส่งเสริมการ จัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน


6. ร่วมกันสร้างความตระหนักรู้แก่ภาคธุรกิจและสถาบันการเงินเกี่ยวกับความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน รวมไปถึงบริบทและคำมั่นสัญญาของกรอบงาน คุณหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก และสนับสนุนการดำเนินการของไทยที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมการสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 16 (COP-16) และ 2030 Mission