ถอดรหัส Thailand 4.0 สู่ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

by ThaiQuote, 31 มกราคม 2560

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2560 ผมได้รับเชิญจากหอการค้าอเมริกา (The American Chamber of Commerce: AMCHAM)ให้ไปบรรยายในงาน Monthly Luncheon ภายใต้หัวข้อ Thailand 4.0 เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่อง Thailand 4.0 แก่นักธุรกิจของสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะในประเด็นด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งมีนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกาจำนวนมากได้ให้ความสนใจ ผมขอสรุปประเด็นสำคัญมาให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ Thailand 4.0 เป็นโมเดลในการขับเคลื่อนเพื่อให้ประเทศมุ่งไปสู่เป้าหมายที่สำคัญ คือ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตามหลักการที่ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ให้แนวทางไว้ โดยจะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดัก 3 เรื่อง คือ ความไม่สมดุล (Imbalance Trap) ความเหลื่อมล้ำ (Inequality Trap) และการมีรายได้ระดับปานกลาง (Middle Income Trap) ผ่านการสร้างการเติบโต 3 รูปแบบ คือ 1. การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Growth Engine) คือ การเปลี่ยนจากการทำมากได้น้อยเป็นการทำน้อยได้มาก ผ่านการพัฒนาและดึงดูดทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ การสร้างและพัฒนาเทคโนโลยี การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และนโยบายภาครัฐที่มีความต่อเนื่อง 2. การสร้างการเติบโตจากภายใน (Inclusive Growth Engine) คือ การแก้ไขปัญหาการกระจุกตัวของรายได้ให้กระจายไปอย่างทั่วถึง ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ว่า Stronger Together และ Leave no one behind 3. การพัฒนาอย่างสมดุล (Green Growth Engine) คือ การเปลี่ยนจากการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในด้านต่างๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อม สู่การพัฒนาแบบสมดุล ซึ่งจะคำนึงถึงการพัฒนาทั้ง 4 ด้านไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรมนุษย์ ในบริบทของการค้าและการลงทุนนั้น Thailand 4.0 จะมุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงใน 3 ด้านที่สำคัญ คือ 1.ทิศทางของนโยบายภาครัฐ - ในช่วงเวลาที่ผ่าน ประเทศไทยอาศัยการส่งออกเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพียงอย่างแต่ภายใต้ Thailand 4.0 ทิศทางของเศรษฐกิจไทยจะต้องอาศัยการสร้างความเข้มแข็งจากภายในประเทศควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงกับโลกภายนอก 2.การปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้า – ประเทศไทยจะต้องอาศัยอุปสงค์เป็นตัวขับเคลื่อนการค้า (Demand Driven) โดยการมองตลาดโลกให้เป็นตลาดเดียว ต้องสนับสนุนการค้าในภาคบริการซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Service)เพื่อแทนที่การค้าขายสินค้า ต้องเปลี่ยนจากการเพิ่มมูลค่าเป็นการสร้างมูลค่า (Value Creation) และเปลี่ยนจากบทบาทของผู้ควบคุม (Regulator) เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) 3. การปรับเปลี่ยนการลงทุน –การลงทุนจะต้องให้ความสำคัญใน 4 เรื่อง คือ ทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมสำหรับอนาคต โดย BOI จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของหน่วยงานเพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนใน 4 เรื่องสำคัญดังกล่าว นอกจากนั้นแล้ว การลงทุนจะต้องมุ่งให้เกิดความได้เปรียบเชิงแข่งขัน (Competitive Advantage) แทนที่การอาศัยความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ซึ่งจะผ่านการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้ 5 เทคโนโลยีหลักที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องอาศัยหัวใจสำคัญที่เรียกว่า “ความร่วมมือ” ซึ่งสอดคล้องกับคำพูดของ Professor CK Pahalad ที่ว่า “The future of competition is collaboration” ซึ่งหมายถึง ในอนาคตนั้น การแข่งขันจะเป็นการผลักดันให้สร้างความร่วมมือระหว่างกัน ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงสร้างความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ผ่านกลไกที่เรียกว่าประชารัฐ เพื่อให้การปรับโครงสร้างและกลไกการทำงานของภาครัฐ การกระตุ้นการค้าการลงทุนของภาคเอกชน และการสนับสนุนการดำเนินงานประชาชน เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อที่จะขับเคลื่อน Thailand 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม จะต้องมีการขับเคลื่อนใน 5 ประเด็นที่สำคัญอย่างเป็นลำดับขั้น โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. การสร้างความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ด้วยการเตรียมคนไทย 4.0 การบ่มเพาะวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และการส่งเสริมเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการเป้าหมาย 2. การสร้างความเชื่อมโยงกันภายในประเทศ (Cohesiveness) ด้วยการสร้างความเข้มแข็งในกับ 18 กลุ่มจังหวัด และ 76 จังหวัด 3. การสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity)ด้วยการเชื่อมโยงประเทศไทยกับประชาคมโลก และเพื่อให้ทั้ง 5 ประเด็นถูกนำไปดำเนินการอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจึงได้มีการกำหนด 10 ประเด็นสำคัญสำหรับท่านนายกรัฐมนตรีที่จะต้องเร่งดำเนินการขับเคลื่อนโดยได้รวม 5 ประเด็นสำคัญของ Thailand 4.0 ร่วมกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานใน 4 ด้าน คือด้านกายภาพ ด้านเครือข่าย ด้านปัญญา และด้านสังคม และอีก 1 ประเด็นสำคัญ คือการปรับปรุงกลในการบริหารจัดการ สุดท้ายผมอยากให้ทุกท่านเข้าใจร่วมกันว่า การจะมุ่งไปสู่เป้าหมายที่สำคัญร่วมกันคือการบรรลุยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น การปฏิรูปประเทศ การขับเคลื่อน Thailand 4.0 และ การดำเนินนโยบายของรัฐนั้นเป็นเพียงวิธีการเท่านั้น แต่รากฐานที่สำคัญที่คนไทยจะต้องมีร่วมกันเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายดังกล่าวคือ “ความสามัคคีปรองดอง” ครับ ผมได้นำสไลด์ที่ได้ใช้ในการบรรยายวันนั้นมาแชร์ให้กับท่านที่สนใจด้วยนะครับ สามารถ download ได้ตามลิงค์นี้เลยนะครับ https://drive.google.com/…/0B1pfj3kng7uwQlFKVEFmaUpOZGc/view
Tag :