คำถามแห่งยุคสมัย :โลกจะไปทางไหน?

by ThaiQuote, 14 กุมภาพันธ์ 2560

ประการแรกทางด้านการเมืองบรรดาผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า การเมืองทั่วโลกจะเอียงขวามากขึ้น เริ่มชัดเจนตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์"เบร็กซิท"(BREXIT) เมื่อพลเมืองเสียงข้างมากของสหราชอาณาจักรต้องการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และตอกย้ำหัวตะปูด้วยชัยชนะชนิดฉีกผลโพลทุกสำนักของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกันของสหรัฐอเมริกา

         ขณะที่การเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่กำลังใกล้เข้ามา ผู้นำขวาสุดโต่งซึ่งประกาศพร้อมจัดลงประชามติให้ฝรั่งเศสถอนตัวจากยูโรโซนอย่าง มารีน เดอ แปน ก็ได้รับการคาดหมายว่า มีลุ้นก้าวขึ้นเป็นผู้นำฝรั่งเศสในยุคสาธารณรัฐที่5 นี้ ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของพรรคกลางซ้ายและพรรคฝ่ายซ้ายมาอย่างยาวนาน

         ไม่เว้นแม้แต่เยอรมนีที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ต่อจากฝรั่งเศส คะแนนนิยมที่ลดต่ำลงของผู้นำ"สตรีเหล็ก"อังเกลา แมร์เคิล ก็ทำให้อิทธิพลของฝ่ายขวาตกขอบที่เสื่อมมนต์ลงตั้งแต่ยุคพรรคนาซีของอดอฟท์ ฮิตเลอร์ ดูจะเริ่มถูกจับตามองมากขึ้นโดยอัตโนมัติ

         อิตาลีและอีกหลายชาติในยุโรปก็จะมีการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน  เวลานี้จึงกลายเป็นประเด็นที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ปัญหาต่างๆทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ภัยก่อการร้ายและการอพยพหนีภัยสงครามและความยากจนของประชากรหลายชาติในตะวันออกกลางและอัฟริกาเข้าสู่ยุโรปจะทำคนคนยุโรปเสียงข้างมากตัดสินใจเอาตัวรอดเพียงลำพัง ด้วยนโยบายของพรรคการเมืองปีกขวาจัด

         การเมืองของเหล่าชาติตะวันตก อันได้แก่สหรัฐอเมริกาและยุโรป เมื่อเอียงไปทางขวาโดยอิทธิพลของการเมืองกลุ่มขวาจัดหรือขวาตกขอบสดใสกาววาวเช่นที่กล่าวข้างต้นนี้  ก่อให้เกิดคำถามแห่งยุคสมัยว่า แล้วโลกทั้งผองเล่า จะไปทางไหนกัน?

        ............................

        ในด้านเศรษฐกิจก็น่าขบคิดไม่น้อย  เพียงแต่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงเท่ากับด้านการเมือง

        เนื่องจากเป็นอีกด้านที่ก็เป็นคำถามแห่งยุคสมัยด้วยว่า โลกจะไปทางไหน?

        เพื่อเข้าใจคำถามแห่งยุคสมัยเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ฝ่ายสัมพันธมิตร ก่อตั้งองค์การสหประชาชาติหรือ UN ขึ้นเป็นกลไกสำคัญทางการเมืองของโลก ในขณะที่ด้านเศรษฐกิจผู้แทน 730 คนจาก 44 ชาติของฝ่ายสัมพันธมิตรก็ได้จัดประชุมที่โรงแรมเมาท์วอชิงตัน เมืองเบรตตันวูดส์ มลรัฐนิวแฮมเชียร์ของ สหรัฐอเมริกา เป้าหมายคือการจัดระเบียบการเงินโลก การจัดตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF และธนาคารระหว่างประเทศเพื่อบูรณะและพัฒนาIBRD. (ต่อมาผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารโลกที่ก่อตั้งขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน)

         การจัดระเบียบด้านเศรษฐกิจการเงินที่เริ่มเมื่อเดือนกรกฎาคม 2487 นี้  เรียกกันต่อมาว่าระบบเบรตตันวูดส์(Bretton woods system) ทำให้เกิดมาตรฐานทางด้านการเงินและเศรษฐกิจของโลกนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จวบจนปัจจุบัน

          จากBretton woods system ต่อมาในช่วงทศวรรษ 80 เมื่อสิ้นสุดยุคสงครามเย็นภายหลังการล่มสลายของของสหภาพโซเวียตและอสัญกรรมของเหมาเจ๋อตุงผู้นำจีนทำให้จีนสามารถยุติแนวความคิดปฏิวัติวัฒนธรรมของประธานเหมาและกลุ่มซ้ายจัดเพื่อก้าวเข้าสู่ยุค4 ทันสมัยของเติ้งเสี่ยวผิงได้อย่างโชคช่วย

          สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวและได้ผนึกกำลังกับยุโรปตะวันตกผลักดันแนวความคิดแบบเสรีนิยมใหม่หรือneoliberalism ที่ทรงอิทธิพลสูงในยุคนั้น จนนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า washington consensus หรือฉันทามติแห่งกรุงวอชิงตัน

           อะไรคือ washington consensus ?

           ตอบว่าคือชุดของแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ 10 ประการ ซึ่งเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่องค์กรโลกบาลทางเศรษฐกิจ เช่น IMF ธนาคารโลก ภายใต้การผลักดันอย่างแข็งขันของสหรัฐอเมริกา เสนอต่อบรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ทั้งในรูปของคำแนะนำ (อย่างเบา) การใช้เกณฑ์ประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจ (แรงขึ้นอีกขั้น) หรือการกำหนดเป็นเงื่อนไขประกอบการกู้ยืมเงิน(กึ่งบังคับ) ประเทศไทยเคยกู้เงินธนาคารโลกและIMF องค์กรโลกบาลทั้งสองมีเงื่ิอนไขละเอียดยิบและต้องเจ็บปวดขนาดไหน คงพอจดจำกันได้ โดยเฉพาะช่วง ปี 2540 ยุควิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง

           ฉันทามติแห่งกรุงวอชิงตันหรือ washington consensus ประกอบด้วยหลักการสำคัญคือ

           การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ (Economic Liberalization) เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีทั้ง ทุน เงิน สินค้าและประชากร

           การลดละเลิกการกำกับและควบคุมโดยรัฐ (Deregulation)

           การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization)

           และ Price Stabilization การควบคุมเงินเฟ้อให้เหมาะสม เป็นเป้าหมายสำคัญของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ส่งผลให้เกิด Inflation Targeting Policy ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของธนาคารกลางทั้งหลาย

           ฉันทามติแห่งกรุงวอชิงตัน ส่งผลให้ทั้งโลกภายใต้การผลักดันของสหรัฐฯและชาติตะวันตกที่สมาทานแนวคิดเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจหรือบ้างก็เรียกว่าพวกลัทธิบูชาตลาดเสรี ได้ทำให้ทั้งโลกเกิดสิ่งที่เรียกว่า โลกาภิวัฒน์ (Globalization) ประเทศสังคมนิยมที่หลงเหลือหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ทั้ง จีน เวียตนามและอีกหลายประเทศในลาตินอเมริกาต้องกระโจนเข้าสู่วงจรโลกาภิวัฒน์กันอย่างขมีขมัน

           ...........................................

            แต่วันนี้ผู้ให้กำเนิดฉันทามติแห่งกรุงวอชิงตันประกาศว่าไม่เอาแล้วโลกาภิวัฒน์

            ขณะที่ผู้นำจีนอย่างสีจิ้นผิงซึ่งเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกประกาศในการประชุมWEF ที่ดาวอสว่าจะสนับสนุนโลกาภิวัฒน์อย่างไม่ท้อถอย

             แล้วทั้งโลกจะไปทางไหน นี่คือคำถามแห่งยุคสมัย

โดย : ไพศาล มังกรไชยา

 

Tag :