ศึกษาเวียดนามก่อนตัดสินลงทุน (2)

by ThaiQuote, 1 กุมภาพันธ์ 2559

เวียดนามเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมตามนโยบาย โด่ย เหมย” (Doi Moi) ดำเนินการเร่งปรับตัวเข้ากับกระแสเศรษฐกิจและสังคมของโลก ทำให้ปัจจุบันเวียดนามมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 8.4 ซึ่งสูงสุดในรอบ 9 ปี ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากจีน พลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญคือการเติบโตของการลงทุนจากต่างประเทศ การส่งออกวัตถุดิบ (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) สิ่งทอ เครื่องหนังและสินค้าเกษตร ขณะที่การท่องเที่ยวและภาคบริการก็พัฒนาไปมาก รัฐบาลได้พยายามปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ WTO มีการปฏิรูปและการปรับปรุงกลไกภาครัฐ ซึ่งเวียดนามมีนโยบายเน้นหนักเรื่องการส่งเสริมธุรกิจเอกชน เร่งปฏิรูปรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ และเชิญชวนนัก ลงทุนจากต่างประเทศ

                รูปแบบการลงทุนในเวียดนามถูกกำหนดโดยนโยบายของรัฐบาล ผ่านคณะกรรมการ ความร่วมมือและการลงทุน (The State Committee for Cooperation and Investment) หรือ  SCCI โดยผู้สนใจที่เข้าไปลงทุนจะต้องได้รับอนุมัติจาก คณะกรรมการดังกล่าว ซึ่งจะกำหนดรูปแบบการลงทุนหลัก คือการลงทุนแบบสัญญาร่วมทุนธุรกิจ  เป็นการร่วมทุนทำธุรกิจระหว่างนักลงทุนต่างประเทศกับนักลงทุนของเวียดนาม โดยไม่มีการก่อตั้งบริษัทร่วมทุนหรือนิติบุคคลขึ้น การทำสัญญาระหว่างสองฝ่ายด้านสัดส่วนการลงทุน หน้าที่ความรับผิดชอบและการแบ่งกำไรเท่าเทียมกัน ระยะเวลาของสัญญาขึ้นกับคู่สัญญาจะตกลงกัน ลักษณะของธุรกิจและวัตถุประสงค์ต้องผ่านความเห็นชอบจาก SCCI โดยข้อเสียของการลงทุนประเภทนี้ คือ ไม่จำกัดความรับผิดชอบหากเกิดการขาดทุน

               

การลงทุน กิจการร่วมทุน  (Joint Venture Enterprise) เป็นกิจการที่ก่อตั้งโดยสัญญาร่วมทุนระหว่างนักลงทุนต่างประเทศรายเดียวหรือหลายรายกับนักลงทุน เพื่อดำเนินกิจการทางธุรกิจร่วมกันหรือ บางกรณีอาจเป็นการดำเนินการระหว่างรัฐบาลต่างประเทศกับรัฐบาลเวียดนามก็ได้ การลงทุนประเภทนี้เป็นการดำเนินการในรูปหุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิดชอบ มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของเวียดนาม การก่อตั้งต้องได้รับใบอนุญาตและจดทะเบียนก่อตั้งจาก SCCI โดยนักลงทุนต่างประเทศอาจลงทุนในรูปของเงินตราต่างประเทศโรงงาน อุปกรณ์ หรือ สิทธิบัตร ความรู้ทางเทคนิค (know how) กระบวนการทางเทคนิคและการบริการทางเทคนิคก็ได้

 

ด้านการลงทุนเวียดนามอาจลงทุนในรูปของเงินตราของเวียดนามหรือเงินตราต่างประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน โรงงาน หรือ แรงงานก็ได้ ปกติอัตราส่วนการลงทุนจากต่างประเทศต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของเงินลงทุนทั้งหมด แต่อาจน้อยกว่านี้ได้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจาก SCCI และระยะเวลาการร่วมทุนไม่เกิน 50 ปี แต่รัฐบาลโดย ความเห็นชอบจากรัฐสภาอาจขยายระยะเวลาดังกล่าวได้ไม่เกิน 70 ปี

                การลงทุนจากต่างประเทศทั้งสิ้น  เป็นการลงทุนขององค์กร หรือเอกชนจากต่างประเทศซึ่งเป็นเจ้าของกิจการทั้งหมดต้องได้รับใบอนุญาตและจดทะเบียนการก่อตั้งจาก SCCI โดยระยะเวลาลงทุนจะเท่ากับของประเภทกิจการร่วมทุน การลงทุนประเภทนี้ถ้าเป็นการลงทุนในบางสาขาที่สำคัญทางเศรษฐกิจ SCCI อาจกำหนดให้กิจการนั้น ๆ สามารถเปลี่ยนรูปเป็น กิจการร่วมทุนได้โดยให้รัฐวิสาหกิจของเวียดนามเข้าไปซื้อหุ้นบางส่วน โดยต้องมีการกำหนดหลักการ สัดส่วนการลงทุนและระยะเวลาที่ชัดเจน

                และรูปแบบสุดท้าย กิจการลงทุนดำเนินการแล้วโอนให้รัฐ เป็นรูปแบบการลงทุนที่เป็นข้อตกลงระหว่างนักลงทุนและผู้แทนของรัฐบาลในการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน ท่าเรือ ท่าอากาศยาน เป็นต้น ผู้ลงทุนจะรับผิดชอบโครงการในระยะเวลาหนึ่งตามที่ตกลงกัน เมื่อพ้นระยะดังกล่าวต้องโอนกิจการนั้นให้แก่รัฐบาลโดยไม่มีเงื่อนไขของการรับค่าชดเชย

                สำหรับโอกาสของนักธุรกิจไทย การลงทุนในประเทศเวียดนาม จะมีข้อได้เปรียบสำคัญคือ ระบบการเมืองของเวียดนาม เป็นลักษณะของระบบสังคมนิยม จะมีความชัดเจนและมีเสถียรภาพสูง

                ส่วนภาคธุรกิจที่น่าจะลงทุนในเวียดนาม จะยังอยู่ในเรื่องของภาคอุตสาหกรรม ที่การลงทุนในเวียดนามอาจส่งผลต่อสิทธิพิเศษต่างๆ รวมถึงสิทธิพิเศษที่เวียดนามได้จากข้อตกลงทางการค้าต่างๆ เช่น ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ที่มีผลต่อการส่งสินค้าไปยังตลาดใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา และ สิทธิพิเศษทางด้านภาษี หรือ GSP กับการส่งสินค้าไปประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป

                นอกจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นที่น่าสนใจของนักธุรกิจไทยแล้ว ในด้านความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ของเวียดนาม ภาคการท่องเที่ยวก็ยังเป็นส่วนที่น่าสนใจ ประเทศเวียดนามในภาคเหนือมีภูมิอากาศหนาวเย็น บางครั้งเกิดหิมะตกในแถบซาปา เป็นบรรยากาศชวนให้นักท่องเที่ยวเข้าสัมผัส และในอาเซียนโอกาสจะได้สัมผัสกับหิมะในปัจจุบัน มีเพียงสองประเทศเท่านั้น คือพม่า และเวียดนาม

                ขณะที่ชายฝั่งทะเลเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เวียดนามก็ยังมีศักยภาพสูง เพราะมีแนวชายฝั่งติดมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นแนวยาว และหลายแห่งมีความสวยงามเช่นเดียวกับในฮาวาย และในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่างในประเทศไทย

                ส่วนจุดด้อยของเวียดนาม อยู่ในเรื่องของระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอด และคาดว่าจะต้องใช้เวลาสำหรับเรื่องนิ้พอสมควร รวมถึงระบบกฏหมายแบบสังคมนิยม ที่ยังมีช่องว่างบางประการที่นักลงทุนไทยที่จะเข้าไปทำธุรกิจในเวียดนาม ควรศึกษาอย่างรอบคอบ