ดีเดย์วันนี้ ไม่เติม ปตท. ตั้งสติมองอีกด้าน เข้าทางใคร?

by ThaiQuote, 1 มิถุนายน 2561

ทุกครั้งที่น้ำมันราคาแพง ปตท. มักจะตกเป็นจำเลยสังคมว่า เป็นต้นเหตุ เนื่องจากปตท. เป็นบริษัทน้ำมันที่คุมกลไก การผลิตน้ำมันในประเทศไทยเกือบทั้งหมด มีส่วนแบ่งในการขุดเจาะโดยบริษัทลูก ปตท.สผ.  ถือหุ้นในโรงกลั่นน้ำมัน 5 แห่ง มากที่สุดในไทยออย์ และไออาร์พีซี ที่ยึดมาจาก TPI  และมีปั้มน้ำมันมากที่สุดในประเทศ  จำนวน 1,729 แห่ง และจะเพิ่มอีก 150 แห่งภายใน 4 ปี  มีกำไรในปี 2560 มูลค่า  1.35 แสนล้านบาท มีการเปรียบเทียบข้อมูล ราคาส่งออกน้ำมันกับราคาน้ำมันในประเทศไทย ซึ่งต่างกันมากกว่า 10 บาท โดยในข่วงที่ราคาน้ำมันสูงสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นลิตรละประมาณ 19 บาท แต่ราคาขายปลีกหน้าปั้ม 29.85 บาท ราคานี้ถูกมองว่า ปตท. ขายแพง แต่โดยข้อเท็จจริง ในจำนวน 12 บาทที่เกินไป มาจาก ตัวเลขเบนซิน 95
  1. ภาษีสรรพสามิต 6.50 บาท
  2. กองทุนน้ำมัน   6.31  บาท
  3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.4   บาท
  4. ภาษีท้องถิ่น 0.65    บาท
  5. ค่าการตลาด 1.75 บาท
  6. กองทุนอนุรักษ์พลังงาน 0.10 บาท
จากตัวเลขจะเห็นว่า ภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมัน รวมกันเก็บมากกว่า 10 บาท ขณะที่ค่าการตลาดหมายถึงกำไรของบริษัทน้ำมันอยู่ที่ 1.75 บาท สะท้อนว่า ภาครัฐและกองทุนน้ำมัน คือ ส่วนที่มีการขูดรีดมากที่สุด หลายครั้งที่ผ่านมา เมื่อรัฐมีรายได้ไม่เข้าเป้า ก็จะเพิ่มการจัดเก็บภาษีน้ำมัน เพราะเก็บง่ายที่เข้าเป้าที่สุด ในประเด็นนี้ สิ่งที่เป็นคำถาม คือ กองทุนน้ำมัน ทำไมถึงจัดเก็บมากขนาดนั้น เงินกองทุนเอาไปทำอะไร โปร่งใส่แค่ไหน และทำครั้งที่มีปัญหาน้ำมันราคาแพง ก็อิดออดที่จะนำกองทุนมาชดเชย ทั้งๆที่เก็บไปจากผู้เติมน้ำมัน  คนที่จะต้องให้คำตอบคือ “กระทรวงพลังงาน” โดยข้อมูลตามที่กล่าวมา ปตท. จึงไม่ใช้จำเลยแบบ 100% “กรณีน้ำมันแพง” อย่างไรก็ตาม กระบวนการบริหารของ ปตท. ก็มีคำถามถึงความโปร่งใสและความชอบธรรม
  1. กรณีการประกาศราคาหน้าโรงกลั่นตามราคาในสิงคโปร์ ถูกต้องหรือไม่ เพราะต้นทุนแตกต่างกัน ทั้งต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนแรงงาน ต้นทุนสัมปทาน และอีกมากมาย ซึ่งต้นทุนในประเทศไทยถูกกว่าสิงคโปร์มาก
  2. การนำเข้าและส่งออก เป็นข้อมูลดูเหมือนเป็น “ความลับ” มาตลอดว่า ไทยผลิตน้ำมันได้ แต่ส่งออกไปต่างประเทศ ขณะเดียวกันกลับนำน้ำมันดิบเข้ามากลั่นในประเทศ ประเทศไทยขุดน้ำมันได้ปริมาณเกือบ 30% ของปริมาณที่ใช้ในประเทศ เราดีใจเมื่อมีการขุดพบน้ำมัน แต่คนไทยไม่ได้ประโยชน์จากทรัพยากรของชาติเลย
กระทรวงพลังงานต้องให้คำตอบ หากย้อนกลับไป ปตท.ก่อตั้งขึ้นในยุคที่โลกประสบปัญหา”วิกฤติน้ำมัน” ประเทศไทยก็หนีไม่พ้น จึงเกิดนโยบาย “โชติช่วงชัชวาล” ขึ้นมาในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่มีการขุดพบน้ำมันในอ่าวไทย ในยุคนั้น คนไทยถูกมหาอำนาจน้ำมัน ขูดรีดหนัก จึงมีการยุบ “สามทหาร”มาเป็น ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจ และปตท. ได้แสดงบทบาทในการถ่วงดุลน้ำมันให้คนไทยไม่ถูกขูดรีดจากบริษัทน้ำมันต่างชาติ แต่นานเข้า ปตท.ก็กลายเป็นเสือตัวใหม่ ที่เข้ามาผูกขาด น้ำมันในประเทศ บทสรุปตรงนี้  มองได้ว่า
  1. คนไทยต้องไม่ลืมประสบการณ์ในอดีต ที่เราถูกบริษัทน้ำมันต่างชาติขูดรีดหนัก
  2. ต้องไม่ลืม ปตท.ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของคนไทย ปตท.และภาครัฐจึงควรมองผลประโยชน์ของคนไทยให้มากที่สุด
พรพญา