กฟภ. ตั้งเป้าเปิด 11 สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ขานรับนโยบายประเทศไทย 4.0

by ThaiQuote, 30 สิงหาคม 2560

กฟภ. ตั้งเป้าเปิด 11 สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ขานรับนโยบายประเทศไทย 4.0 หนุนใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสนองนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และรัฐบาลดิจิทัล ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยตั้งเป้า เปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างรวดเร็วให้ครบทุกภูมิภาค 11 สถานี ทั่วไทย ตอกย้ำองค์กรก้าวสู่ยุค PEA 4.0 ภายใต้แนวคิดพัฒนาคน ด้วยนวัตกรรม พัฒนางานด้วยเทคโนโลยี เพื่อมุ่งสู่การไฟฟ้าแห่งอนาคต นำร่องเปิดสถานีชาร์จไฟฟ้าที่หัวหินและโคราช โครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างรวดเร็วนำร่องเปิดครั้งแรกที่ กฟภ. อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดย นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นประธานในพิธีเปิด และได้รับเกียรติจากนายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการ กฟภ. ประกอบด้วย นายปฏิคม วงษ์สุวรรณ พันเอกปรัชญา เฉลิมวัฒน์ รศ.ดร.วิสุทธิ์ สุนทรกนกพงศ์ นายยงยุทธ โกเมศ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชนและภาคเอกชนด้านยานยนต์ไฟฟ้า เข้าร่วมพิธี ณ สำนักงาน กฟภ. อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2560 ต่อมา กฟภ. ได้รุกขยายผลการเปิดใช้งานสถานีอีกแห่งหนึ่ง โดยนายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ประธานกรรมการบริหาร กฟภ. เป็นประธานในพิธีเปิดโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างรวดเร็วที่ กฟภ. จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และพันเอก วรพจน์ แก้ววิจิตร เสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 21 และนาย บุญเหลือ เจริญวัฒน์ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ให้เกียรติเข้าร่วมในพิธี ณ สำนักงาน กฟภ. จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 เปิดให้บริการฟรี ตั้งเป้า 11 สถานีทั่วทุกภูมิภาค ทาง กฟภ. ได้ศึกษาวิจัยและจัดทำระบบโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว จำนวนทั้งสิ้น 11 สถานี ในเส้นทางหลักสู่เมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ประกอบด้วย สายภาคเหนือ(กรุงเทพฯ - พระนครศรีอยุธยา) จำนวน 2 สถานี สายภาคใต้ (กรุงเทพฯ - หัวหิน) จำนวน 3 สถานี สายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพฯ - โคราช) จำนวน 2 สถานี สายภาคตะวันออก (กรุงเทพฯ - พัทยา) จำนวน 2 สถานี สายภาคตะวันตก (กรุงเทพฯ - นครปฐม) จำนวน 1 สถานี และสำนักงานใหญ่ กฟภ. จำนวน 1 สถานี ทั้งนี้ สถานีอัดประจุไฟฟ้าของ กฟภ. เป็นเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Multi-Standard (CHAdeMO, CCS Combo2, AC Type2) ตามมาตรฐานนานาชาติ รองรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ติดตั้งหัวจ่ายกระแสไฟฟ้าตามมาตรฐานยุโรปและญี่ปุ่น การอัดประจุไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว (Quick Charge) ใช้เวลาประมาณ 20 นาที สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่นั่งส่วนบุคคล ไม่เกิน 7 ที่นั่ง วิ่งได้ระยะทางประมาณ 100 กม. โดย กฟภ. เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 06.00 – 20.00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จนถึงสิ้นปี 2560 และมีแผนจัดทำระบบโครงข่ายแบบออนไลน์ ที่เชื่อมโยงทุกสถานีบริการ รองรับความต้องการของผู้ใช้งานยุคดิจิทัล ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนได้ในอนาคต .......................................................