บทเรียนทำข่าว ‘ถ้ำหลวง’ บทเรียน ‘สื่อมวลชนไทย’

by ThaiQuote, 2 กันยายน 2561

อย่างไรก็ตาม บทบาทสื่อมวลชน ท่ามกลางสถานการณ์นาทีต่อนาทีที่เกิดขึ้นในขณะนั้น  สร้างทั้งคำชื่นชม และติเตียนในกรณีไม่เหมาะสม คำถามมากมายถูกตั้งขึ้นว่า เราได้อะไรจากเหตุการณ์นี้บ้าง ยังสะท้อนในหัวใจคนข่าวไม่มากก็น้อย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมมือกับพันธมิตรสมาคมวิชาชีพสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และออนไลน์  ถอดบทเรียนการบริหารงานข่าวในกองบรรณาธิการ กรณี ‘ถ้ำหลวงฯ’ อีกครั้ง การถอดบทเรียนจะไม่มีความหมาย ถ้าไม่ได้รับฟัง นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนา ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะอดีตผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน  ซึ่งเปิดเผยว่า ในครั้งแรกที่เริ่มต้นการค้นหา ยอมรับว่ายังไม่ได้คำนึงถึงในการบริหารจัดการสื่อฯเท่าไหร่นัก แต่ผ่านไป3-4 วันจึงเริ่มให้ความสำคัญ รวมทั้งกรณีการออกข่าวผิดพลาดในตอนที่ไฟดับในถ้ำเพราะอาสาสมัครเป็นลม แต่เข้าใจผิดว่ามีคนถูกไฟช็อตเสียชีวิต  จึงเริ่มแถลงข่าวทางการเป็นครั้งแรก ในส่วนการจัดระเบียบนั้น ผู้ว่าฯพะเยา เปิดเผยว่า เพื่อให้มีพื้นที่ในการทำงานที่เหมาะสม เรากั้นพื้นที่เฉพาะส่วนชั้นในที่สำคัญ พื้นที่รอบนอกในตอนที่ยังไม่ใช่ช่วงนำตัวผู้ประสบภัยไปยังโรงพยาบาล สื่อฯสามารถทำงานได้เต็มที่ และขอชื่นชมสื่อฯไทย ที่ทำงานอยู่ในระเบียบตามการขอความร่วมมือ  แม้จะมีเพียงสื่อฯบางกลุ่ม เน้นย้ำว่าไม่ใช่ทั้งหมดที่ฝ่าฝืนความร่วมมือ สื่อฯใหญ่ทั้งหมด สื่อฯหลักให้ความร่วมมือกับทางการเต็มที่  ใครที่ทำผิดระเบียบ โดนสื่อฯกันเองติเตียน  รวมทั้งสื่อฯให้ความเคารพซึ่งกันและกันระหว่างแหล่งข่าวกับคนหาข่าว ส่วนสื่อฯต่างชาติ จะมีปัญหาเพียงเขามาทีหลัง การหาข้อมูลอาจจะดีเลย์ไปบ้าง แต่การแก้ไขปัญหาก็ราบรื่นไปด้วยดี  รวมทั้งการบริหารจัดการหน้าถ้ำทั้งหมด ตั้งแต่การมีผู้นำทางจิตวิญญาณมาให้กำลังใจจนถึงวันพา 13 ชีวิตพ้นถ้ำ ที่ต้องขยับสื่อฯออกไปไกล เพราะต้องการมั่นใจในการเคลื่อนย้าย ในแง่มุมสิทธิในเรื่องผู้ป่วย ผู้รักษาพยาบาล ไม่ควรมีภาพหลุดลอยออกไป จึงต้องจัดการให้ออกมาดีที่สุด ที่สำคัญขอยืนยันว่า สื่อฯไทย ส่วนใหญ่มีระเบียบ และให้ความเคารพในกฎกติกาที่ขอความร่วมมือระหว่างกัน   นายชวรงค์  ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  พูดถึงเรื่องราวนี้ว่า ในอนาคตการปฏิบัติงานเชิงเดียวกับกรณีถ้ำหลวงฯ ควรที่จะมีข้อตกลงหรือแนวปฏิบัติในส่วนองค์กรสื่อฯ ที่จะต้องทำร่วมกัน และมีหน่วยราชการอื่นๆ แม้กระทั่งหน่วยงานที่เกี่ยวกับการกู้ภัยที่เข้ามามีส่วนร่วม  เพราะเมื่อมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก มันก็จะไม่มีความสับสน  ลดระยะเวลาในการจัดการเพราะมีแนวปฏิบัติ มีความเข้าใจร่วมกัน ทั้งในแนวทางการให้ข่าวของส่วนภาครัฐ สื่อฯก็รู้ขอบเขต บทบาทในการเข้าพื้นที่การทำงาน  เพื่อไม่เป็นปัญหาในการทำงานของส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง “เมื่อมีแนวปฏิบัติเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องไปทำความเข้ากับผู้ปฏิบัติ  ต้องพูดคุยกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือตัวสื่อฯเอง เพื่อให้เข้าใจในกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นร่วมกัน  เพื่อสามารถเข้าใจในการทำงานจริง รวมทั้งต้องมีการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมความเข้าใจในการทำงานอย่างต่อเนื่อง”   นายโกศล สงเนียม ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  กล่าวว่า ในวิกฤตที่เกิดขึ้น  เป็นโอกาสของคนทำสื่อฯ เรียนรู้การนำเสนอ เรตติ้ง ความสนใจของผู้ชม หลายสื่อฯทำการล้มผังรายการปกติเพื่อยกเหตุการณ์นี้เป็นข่าวเด่น  ตรงนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องทำการพูดคุยกันระหว่าง กสทช.กับองค์กรวิชาชีพสื่อฯ ซึ่งควรเข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูล  ซึ่งเป็นอีกบทเรียนที่ต้องทำความเข้าใจ และเห็นได้ว่าในเหตุการณ์นี้คนสนใจดูข่าวมากขึ้น  แต่มีความสงสัยในเรื่องความเข้มข้นระหว่างสกรู๊ปสำนักข่าวไทยกับต่างประเทศ ทำให้สามารถเข้าใจกระบวนการทำงานของเราเองด้วย เพราะเราทำงานกันยาวถึง 18 ชั่วโมงต่อวัน   นายเทพชัย หย่อง  นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นธรรมดาที่ความสับสนวุ่นวายในกรณีภัยพิบัติต่างๆ  ยิ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับนักข่าวต่างชาติในแง่ความเหมาะสม เอาจริงๆนักข่าวต่างชาติหลายต่อหลายกรณีก็กระทำในเรื่องที่หมิ่นเหม่ต่อจริยธรรม สิทธิมนุษยชนต่างๆ เช่นกัน   เมื่อฟังผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น มีเรื่องน่าสนใจมาก “ บทเรียนที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์เล่ามานี้  ทั้งสื่อฯและราชการ คือ การมีตัวคนหรือกลไกที่ประสานงานกับสื่อฯได้เป็นอย่างดี  และให้เครดิตเป็นการเฉพาะกับท่านผู้ว่าฯ ด้วยบุคลิกต่างๆของท่าน ทุกอย่างจึงออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งการที่มีการจัดระเบียบสื่อฯ เป็นการรักษาภาพลักษณ์สื่อฯได้เป็นอย่างดี  เพราะถ้าไม่มีการจัดระเบียบสื่อฯ ในวันที่เด็กคนแรกออกมา ลองนึกภาพสื่อฯนับพันรุมที่หน้าถ้ำ ภาพคงไม่ต่างจากกรณีเคลื่อนศพคุณปอ ทฤษฏี “ อีกประเด็น คือเรื่องการรายงานสดต่อสถานการณ์ นายเทพชัย กล่าวว่า เป็นบทเรียนที่ดีที่ถูกเปรียบเทียบกับสำนักข่าวต่างชาติ เพราะเราอาจจะยังไม่เคยมีความรู้ความเข้าใจกับข่าวสถานการณ์แบบนี้ เช่น การทำข่าวในสถานการณ์สงคราม สำนักข่าวต่างชาติ จะมีความรู้ความเข้าใจทั้งการทำข่าวเชิงภัยพิบัติและอื่นๆที่เป็นสถานการณ์พิเศษ     นายก้าวโรจน์  สุตาภักดี  นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  กล่าวว่า การที่ทุกสำนักข่าวลงไป ข่าวที่ได้จะเหมือนกันหมด สิ่งที่สำคัญคือกระบวนการการตรวจสอบข่าว  เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่ทุกสำนักข่าวกลับมารีวิวตัวเอง  เพราะการรายงานข่าวสมัยนี้ หากมีความผิดพลาด กระแสตอบกลับจะเร็วมาก ร่วมทั้งเห็นการปรับตัวขนานใหญ่ของสำนักข่าวต่างๆ  ใช้ช่องทางการกระจายข่าวเป็นมากขึ้น “ตัวอย่างเอ็มไทย  ลงพื้นที่ไม่กี่คนแต่มีวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ เป็นไทม์ไลน์สถานการณ์ ในทวิตเตอร์ เพื่อให้อัพเดตเรื่องไป ส่วนในช่องใหญ่ๆ ที่มีช่องทางหลายหลาก ก็ปรับตัวตามกันไป พอมีโซเชียลมีเดียการเสพข่าวอยู่บนมือถือทั้งหมด  ดังนั้นจะต้องใส่ใจในการใช้คำ การพาดหัวให้น่าสนใจ ต่อคุณทำข่าวดีมาก แต่พาดหัวไม่น่าสนใจ คนก็ไม่ค้นหา การทำข่าวยุคใหม่ต้องเข้าใจคนอ่านด้วย “   นายปราเมศ  เหล็กเพ็ชร์  นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  กล่าวว่า  นักข่าวสนามเวลาโดนกดดันความเครียดเกิดขึ้น เพราะความเร่งรีบอาจทำให้ข้อมูลเกิดการผิดพลาด ถามว่า นักข่าวภาคสนามผิดไหม  ไม่ผิดนะ เพราะเขาใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองข้อมูลอย่างเต็มที่ แต่กองบรรณาธิการข้างใน สั่งอย่างเดียว แต่ไม่ทำข้อมูลเสริมให้นักข่าวภาคสนาม ซึ่งการทำงาสนจริงที่ถูกต้อง ต้องส่งข้อมูลกลับไปให้นักข่าวภาคสนามด้วย “ข้างในไม่ใช่เป็นพระเจ้า ข้างนอกก็ทำงานหนักอยู่แล้ว  การที่ป้อนข้อมูลดีๆกลับไปให้เขา นักข่าวภาคสนามก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น  อีกเรื่องที่ได้ฟังจากผู้ว่า ฯด้วย และจากการฟังข้อมูลเรื่องนี้มาหลายวงเสวนา เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องคลาสสิกมาก  และเกี่ยวข้องกับจริยธรรมกับหลายสาขาอาชีพ  ที่สำคัญจิตวิทยาเกี่ยวกับเด็ก เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้  และวิจารณญาณในการพิจารณาข่าว การได้ข้อมูลต่างๆ นักข่าวภาคสนามรู้ข้อมูลดีๆมาก อยู่ที่ตัวนักข่าวภาคสนามด้วยในการจะส่งข้อมูลกลับเข้ามา”  
Tag :