'สมเด็จพระเทพฯ' ทรงห่วงราษฎรเผชิญภัยแล้ง

by ThaiQuote, 4 มีนาคม 2562

รมว.เกษตร เผย สมเด็จพระเทพฯ ทรงห่วงราษฎร์ เหตุปีนี้จะแล้งนาน สั่งทุกจังหวัดรับมือสถานการภัยแล้ง ตั้งวอร์รูมรับมือสถานการน้ำ รายงานทุกวันจันทร์ ย้ำทุกพื้นที่ต้องรู้ มีน้ำเท่าไหร่ มีใช้ถึงเมื่อไหร่ เพื่อสั่งการทันท่วงที

เมื่อวานนี้ (4 มี.ค.62) นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงรับสั่งกับตนว่า ปีนี้จะแล้งนานและแล้งมาก ดังนั้นจึงขอให้พื้นที่ดูข้อมูล ทั้ง จ.ศรีสะเกษ , จ.สกลนคร และ จ.สุรินทร์ ซึ่งพระองค์ท่านจะทรงเสด็จฯ ไปทรงงาน เจ้าหน้าที่เกษตรเตรียมข้อมูลรับเสด็จฯ เป็นความโชคดีของคนไทย ที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงดูแลอาณาประชาราษฎร์ ดังนั้น หน่วยราชการก็ต้องทำแผนประหยัดน้ำที่เป็นรูปธรรมด้วย ปรับรูปแบบการประสัมพันธ์แจ้งต่อประชาชนทั่วประเทศใหม่ทั้งหมด เตือนประชาชนเล่นน้ำสงกานต์อย่างพอดี

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้สั่งการด่วนทุกจังหวัดรับมือสถานการณ์แล้งที่เริ่มขึ้นแล้ว ในระหว่างประชุมทางไกลกับ 76 จังหวัด ว่า ทุกพื้นที่ให้ความสำคัญสูงสุดในการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำแล้ง โดยกรมชลประทาน เป็นเจ้าภาพหลักในการทำแผนใช้น้ำตลอดฤดูแล้งนี้อย่างเข้มข้น

ทั้งนี้ แม้ว่ากรมชลฯ จะยืนยันหลายครั้งว่าปริมาณน้ำในเขื่อนมีใช้เพียงพอถึงเดือน ก.ค.แต่จากที่ได้ประสานกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า และสำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ทั้งสองแห่งให้ข้อมูลมาที่ต้องทำให้ต้องเร่งรับมือภัยแล้งตั้งแต่เดือน มี.ค.โดยระบุว่าแม้ปริมาณน้ำชลประทานเพียงพอ แต่ภาวะแล้งแห้งครั้งนี้มีมีองค์ประกอบ 2 ประการ คือ ภัยแล้งจะนานขึ้น และอากาศร้อนมากขึ้นกว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา

"ในการเตรียมรับมือ ได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารน้ำส่วนกลาง หรือวอร์รูม รายงานสถานการณ์น้ำทุกวันจันทร์ โดยจะเริ่มสัปดาห์หน้า พื้นที่ใดพอ ไม่พอ จัดทำแยกเขต แบ่งพื้นที่วิกฤตสุด ปานกลาง ประสานงาน กับจิสด้า , สนนก. , ปภ. , หน่วยความมั่นคงและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนนช.) ด้วย" นายกฤษฏากล่าว

ส่วนกรมฝนหลวงฯ ต้องปฏิบัติการให้เห็นเป็นรูปธรรมให้เห็นผล ขึ้นทำฝนเมื่อไหร่ พื้นที่ไหนสำเร็จบ้าง เพราะแล้งปีนี้จะเจอกับอากาศร้อนมากขึ้น ทำให้น้ำระเหยขึ้นไปมาก รวมทั้งดึงความชื้นดินไปด้วย ส่งผลความร้อนและความแล้งยาวนานกว่าทุกปี เรื่องเหล่านี้ขอเตือนข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ต้องรู้ให้ละเอียด ถ้าคนรู้งาน จะรู้ต้นเหตุของปัญหา ไปสู่การทำงาน มีแผนแก้ไขอย่างไร มีมาตรการทำได้แค่ไหน ขอให้จำไว้ เวลาฟังจากใคร ต้องมาอธิบายกับตนได้ด้วย

สำหรับประเด็นที่อธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันน้ำมีใช้ไปถึงเดือน ก.ค.ต้องยืนยันว่า ต้องแยกเป็น 4 ประเภท คือ น้ำกิน-น้ำใช้ , น้ำเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม , น้ำเพื่อการเกษตร และอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นทุกจังหวัดร่วมกันทำแผนใช้น้ำอย่างจริงจังกับชลประทาน ทุกพื้นที่ในเขตและนอกเขตชลประทาน ชลประทานจังหวัดเกษตรจังหวัดพัฒนาที่ดิน โดย 3 หน่วยงานต้องรู้สถานการณ์น้ำอย่างดี น้ำในแหล่งธรรมชาติ น้ำกักเก็บ มีเท่าไหร่ บริหารจัดการได้ถึงเมื่อไหร่ หากไม่รู้ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ต้องรับผิดชอบ

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า กลไกหลักเชื่อมโยงจากส่วนกลางไปจังหวัด ผ่านคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ทุกจังหวัด (อกพ.) ที่มีผู้ว่าราชการ หรือรองผู้ว่าฯ เป็นประธานเพื่อประสานกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประเมินปริมาณน้ำ น้ำมีเท่าไหร่ อยู่ที่ไหน จำนวนประชาชน พื้นที่เกษตร ที่ใช้น้ำมีเท่าไหร่ คาดการณ์อย่างไร หากฝนไม่มาภายในเดือน ก.ค.ต้องมีแผนเผชิญเหตุไว้รองรับวิกฤต

"ทุกจังหวัดต้องสรุปสถานการณ์น้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รู้ว่ามีน้ำเท่าไหร่ มีใช้ถึงเมื่อไหร่ เพื่อสั่งการทันท่วงที โดยให้ทั้งจังหวัดมีความตื่นตัว สร้างการรับรู้ชาวบ้านร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด และหากสถานการณ์น้ำถึงขั้นวิฤกตจะแก้ไขบรรเทาภัยแล้งความเดือดร้อนประชาชนอย่างไร เช่น ทำสำรวจเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ รถแจกจ่ายน้ำ ทำบัญชีไว้ทั้งหมดทุกจุด หน่วยไหนมีเท่าไหร่ แต่ละเทศบาลเท่าไหร่ดูภารกิจเฉพาะหน้า เช่น ไปเติมการประปา หอถังสูง เตรียมเครื่องสูบน้ำไปวางจุดเสี่ยง ในบัญชีต้องบอกรายละเอียดลงรายพื้นที่ จัดแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบประจำเครื่องมือ กระจายตามพื้นที่ทำให้เรียบร้อยก่อนเกิดภัย"นายกฤษฎากล่าว

ทั้งนี้ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามสถานการณ์น้ำแล้ง โดยมีปลัดกระทรวงฯ เป็นประธานเร่งทุกหน่วยงานชี้แจงเกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย มอบหมายเกษตรอำเภอทุกอำเภอ เป็นหลัก ขอความร่วมมือนายอำเภอ กระจายข่าวใช้เสียงตามสาย 7 หมื่นกว่าหมู่บ้าน

"กระทรวงเกษตรฯ ต้องแสดงศักยภาพให้เด่นชัด และกรมชลฯ ขอพูดตรงๆได้เงินรัฐบาลไปเป็นหมื่นๆ ล้านบาทต่อปี มาบอกว่าเป็นงบของปีนั้นปีนี้ สังคมฟังไม่ขึ้น เพราะใช้งบจัดซื้อจัดจ้างมากที่สุด ต้องกระตื้อรื้อรน กระวีกระวาดลงไปดูแลชาวบ้านเรื่องน้ำอย่างทั่วถึง ผมเป็นรัฐมนตรีมา 14 เดือน สามารถพูดงานของกระทรวงเกษตรฯ จนถึงระดับตำบล - อำเภอ แต่ปลัดกระทรวงฯ ทำงานเกษตรมามากกว่าผม ต้องรู้ดี รู้จริงมากกว่าผม ต้องรู้ให้รอบคอบ" นายกฤษฎากล่าว

นอกจากนี้ได้สั่งผู้ตรวจราชการ 14 ท่าน ลงพื้นที่ไป ดูพฤติกรรมข้าราชการ คนไหนไม่ขยัน ละเลย ไม่อดทน ย้ายออกมา สลับคนทำงานเข้าไป รัฐบาลนี้มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายจนกว่ามีพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ ขอกระตุ้นเตือนข้าราชการ พรรคการเมืองทุกพรรคเอาเรื่องเกษตรไปหาเสียง เหมือน รมต.เกษตรฯ ปลัดเกษตรฯ นั่งหัวทนโท่ไม่ทำงานทำการกัน ผมเจ็บปวด และอย่ามาอธิบายให้ผมฟังว่าอยู่เกษตรจะโดนแบบนี้ เราต้องพิสูจน์ทำให้สังคมเห็นคนกระทรวงเกษตรฯ ไม่เหมือนเดิม เปลี่ยนไปแล้ว

"กรมชลประทาน เวลาทำงานให้หลับตา ระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการช่วยเรื่องน้ำแล้ง ทรงพระราชทานทฤษฎี ทำเหมือง ทำฝายมีชีวิต ขอให้กรมชลฯ กรมพัฒนาที่ดิน ไปคุยกับผู้ว่าฯ หางบเหลือจ่าย งบพัฒนาจังหวัด มาทำฝายมีชีวิตในพื้นที่ที่ยังมีตาน้ำไหลริน กักน้ำ ทำคลองไส้ไก่ ให้ชาวบ้านไว้ได้ใช้ช่วงแล้ง"นายกฤษฎากล่าว

ด้าน นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ฤดูฝนที่ผ่านมากรมชลประทานไม่ได้ปล่อยน้ำจากเขื่อนมากไป ยืนยันบริหารน้ำมีเจ้าภาพหลัก คือ สนนช.การกักเก็บน้ำได้ประเมินล่วงหน้า 1 ปี เช่น เขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนที่รับน้ำพายุปาบึก ใช้ระดับกักเก็บของอ่างเครื่องที่เหมาะสมตามหลักวิชาการ

ทั้งนี้ มีน้ำเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้ง ภาพรวมเขื่อนใหญ่ 35 แห่ง เขื่อนกลาง 200 แห่ง บริหารน้ำ 2.7 หมื่นล้าน ลบ.ม.ใช้ช่วงฤดูแล้ง 7 พันล้าน ลบ.ม. และสำรองไว้ก่อนเข้าฤดูฝนมีน้ำ 2 หมื่นล้าน ลบ.ม.พอใช้ไว้อีก 3 เดือน ซึ่งปริมาณน้ำดีกว่าปี 58 - 59 แต่ต้องขอเกษตรกรอย่าปลูกข้าวต่อเนื่อง ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปลูกเกินแผนกว่า 5 แสนไร่ ขณะนี้ระบายผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 80 ลบ.ม.ต่อวินาที เมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้วให้หยุดทำนาปรังรอบ 2และ 6 เขื่อนน้ำน้อยกว่าเกณฑ์ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ , เขื่อนลำนางรอง , เขื่อนลำพระเพลิง ,เขื่อนทับเสลา , เขื่อนกระเสียว และเขื่อนแม่มอก ห้ามทำนาปรังบริเวณลุ่มน้ำชี-มูล กว่า 1.8 แสนไร่