ย้อนรอยไฟไหม้ห้างดัง ตึกสูงก็อยู่ในภาวะเสี่ยง

by ThaiQuote, 11 เมษายน 2562

ถือเป็นข่าวที่ตื่นตระหนกกลางกรุง เพราะเหตุเพลิงไหม้กลางห้างดังของประเทศอย่าง “เซ็นทรัลเวิลด์” ปรากฎภาพที่ต้องสั่นสะเทือนคนได้พบเห็น


เหตุการณ์นี้ต้องพรากชีวิตไป 2 ศพ และมีผู้บาดเจ็บอีก 16 คน ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่สังคมกำลังอยากรู้คือสาเหตุของเพลิงไหม้ รวมไปถึงระบบจัดการของห้างที่น่าจะได้มาตรฐานว่ามีส่วนบกพร่องในจุดใดหรือไม่


ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการป้องกันแก้ไขกับสถานการณ์ที่มันอาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ


โดยล่าสุด ช่วงเช้าวันที่ 11 เม.ย. 62 บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงเรื่อง "การทำงานของระบบสัญญาณแจ้งเตือนเหตุอัคคีภัยภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์" ดังนี้

เนื่องจากศูนย์การค้ามีขนาดใหญ่ มีทางออกหลายทาง จึงจำเป็นต้องใช้ระบบแบ่งการ alarm เป็นส่วนๆ ตามลำดับ เพื่อมิให้เกิดความโกลาหล และอุบัติเหตุจากความตื่นตระหนกในการอพยพ หาก alarm ดังพร้อมกันทั่วทั้งศูนย์ โดยในวันเกิดเหตุ ได้มี alarm ดังจากจุดเกิดเหตุคือชั้น B2 และบริเวณชั้น 8 เนื่องจากกลุ่มควันที่ลอยขึ้นไปตามท่อระบายควัน



นอกจากนี้ ศูนย์การค้ามีระบบตรวจจับควัน ประเมินสถานการณ์ และสั่งอพยพ โดยมีมาตรการในการอพยพด้วยการประกาศเชิญคนออกจากพื้นที่ศูนย์ทันที และมีพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ได้รับการฝึกซ้อมรับมือการอพยพประจำอยู่ตามจุดต่างๆ เพื่อดำเนินการอพยพคนออกจากพื้นที่ทันที
ทั้งนี้ ทางศูนย์ฯ มีพนักงานรักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่ Fireman เตรียมพร้อม stand by ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจตราและมีตารางเวรรองรับอยู่เสมอ


อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทฯ จะตรวจสอบกระบวนการทั้งหมดให้ดำเนินการได้ดียิ่งขึ้น และขอขอบพระคุณและน้อมรับคำติชมมา ณ ที่นี้

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าบนตึกสูงที่เต็มไปด้วยความศิวิไลซ์ในเมืองใหญ่ที่อัดแน่นไปด้วยความเจริญทางวัตถุต่างๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ก็ทำให้ต้องเกิดการสูญเสียตามมาอยู่บ่อยครั้ง และกับเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับ เซ็นทรัลเวิลด์ เราจะพาไปย้อนรอยให้เห็นภาพว่า เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ห้างดังต้องเผชิญกับเพลิงลุกโหม



ไฟไหม้ครั้งที่ 2 ในรอบ 9 ปี เพลิงไหม้ใหญ่ในวันสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง

 


เหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.62 ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเผชิญกับเพลิงไหม้ แต่เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 9 ปี โดยย้อนกลับไปในช่วงที่การประท้วงของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อ 19 พ.ค.2553

ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์เกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นหลังเวลา 14.00 น. โดยก่อนเกิดเหตุเวลาประมาณ 13.00 น. มีกลุ่มผู้ชุมนุมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำ คลุมศีรษะ ประมาณ 20 คน พร้อมหนังสติ๊ก ระเบิดขวดและระเบิดปิงปอง เริ่มจุดไฟเผาและโยนถังแก๊สเข้าไปประมาณ 10 ถัง จากนั้นเกิดเสียงดังคล้ายระเบิดหลายครั้ง ไฟลุกไหม้อย่างต่อเนื่องมาจากด้านห้างสรรพสินค้าเซ็น และลามมาที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ จนเมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่จึงสามารถเข้าไปควบคุมเพลิงไว้ได้


เซ็นทรัลชิดลม เคยวอด!

 


เซ็นทรัลเวิร์ลไม่ใช่ห้างเดียวในเครือที่โดนไฟไหม้ โดยก่อนหน้านี้ วันที่ 22 พ.ย. 2538 ห้างดังอย่าง “เซ็นทรัลชิดลม” ได้เคยถูกเพลิงไหม้เผาผลาญอาคารนานกว่า 20 ชั่วโมง กว่าจะสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ เมื่อเพลิงสงบอาคารถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บสาหัส 11 คน มีความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1,535 ล้านบาท ถือเป็นเหตุเพลิงไหม้ร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปี สินค้าราคาแพงและเอกสารสำคัญของเซ็นทรัลสูญหายไปกับกองเพลิง ทำให้ต้องย้ายสำนักงานไปที่สาขาลาดพร้าว

แม้การสอบสวนจะระบุว่าอัคคีภัยมาจากไฟฟ้าลัดวงจร แต่ก็มีกระแสข่าวว่าอาจเป็นการ "ลอบวางเพลิง" จากกลุ่มคนที่ไม่พอใจผู้บริหารเซ็นทรัลบางคน หลังเกิดเพลิงไหม้และอาคารถล่ม เซ็นทรัลตัดสินใจทำอาคารใหม่ มีพื้นที่การค้า 7 ชั้น เปิดบริการให้อีกครั้งในปี 2541


ย้อนรอยเหตุการณ์เพลิงไหม้ตึกสูง


3 มี.ค.55
ไฟไหม้อาคารฟิโก้เพลส-อโศก เหตุเพลิงไหม้อาคารฟิโก้เพลส ตั้งอยู่เลขที่ 18/8 ถนนอโศกมนตรี แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา ที่เกิดเหตุเป็นอาคารสำนักงานแบ่งให้เช่าสูง 13 ชั้น ต้นเพลิงลุกไหม้ที่บริเวณชั้น 7 ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทโอซอง อินเตอร์เนชั่นแนล เอสเอ จำกัด และบริษัทโอบาล และลุกลามไปยังชั้นบนอย่างรวดเร็ว เนื่องจากภายในเป็นที่ตั้งของบริษัทหลายบริษัท มีเอกสารอยู่เป็นจำนวนมากจึงเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี


ถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหาย โดยต้นเพลิงเกิดขึ้นที่บริเวณชั้นที่ 7 ที่เป็นสำนักงานของบริษัทต่างๆ กว่า 30 บริษัท ก่อสร้างก่อน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปี 2535 ทำให้ไม่มีการติดตั้งสปริงเกอร์ จากการที่ได้เข้าไปตรวจสอบตึกฟิโก้ เพลส ชั้นที่ 7, 8 และ9 นั้นพบว่าโครงสร้างตึกยังใช้ได้ ไม่ได้รับความเสียหายทางกายภาพจากการถูกเพลิงลุกไหม้นาน 4 ชั่วโมง ส่วนที่ได้รับความเสียหายคือฝ้า เพดาน ฟิล์ม กระดาษ ฯลฯ

 

8 มี.ค.55


ไฟไหม้ รร.แกรนด์ปาร์คอเวนิวมี ผู้เสียชีวิต 2 ราย มีผู้บาดเจ็บ 24 ราย สถานที่เกิดเหตุเป็นโรงแรมแกรนด์ ปาร์คอเวนิว อยู่ในซอย สุขุมวิท 22 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา สูง 15 ชั้น มี135 ห้อง ต้นเพลิงมาจากห้องจัดเลี้ยงขนาดใหญ่บริเวณชั้นที่ 4 ของโรงแรม โดยในช่วงเกิดเหตุห้องดังกล่าวถูกปิดไว้ไม่ได้ใช้งาน ซึ่งผู้อยู่ในเหตุการณ์ได้ยินเสียงระเบิดขึ้นหนึ่งครั้งก่อนจะมีกลุ่มควันพวยพุ่งออกมา โดยกลุ่มควันลุกลามไปยังชั้นต่างๆของโรงแรมอย่างรวดเร็วทำให้เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องทุบกระจกห้องบางส่วน เพื่อระบายควัน ป้องกันผู้ที่ติดอยู่ภายในสำลักควัน

จากการตรวจสอบไม่พบว่ามีอุปกรณ์เตาแก๊ส มีเพียงระบบไฟฟ้าจึงคาดว่าสาเหตุของเพลิงไหม้น่าจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร จนเพลิงลุกไหม้มาติดพรมห้องทำให้เกิดกลุ่มควันจำนวนมาก


ตึกสูงในไทยกว่า 2,000 แห่ง เสี่ยงไฟไหม้


ข้อมูลจากฝ่ายวิจัยและพัฒนาของพลัส พร็อพเพอร์ตี้ พบว่า ในกรุงเทพฯ มีอาคารสูง 7 ชั้น และสูงเกินกว่า 30 ชั้น กว่า 3,000 อาคาร แบ่งเป็น อาคารใหม่อายุต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งมีไม่ถึง 1,000 อาคาร (33%) ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยไม่มากนัก เนื่องจากมีกฎหมายบังคับให้ออกแบบและวางระบบป้องกันและแจ้งเตือนอัคคีภัย

แต่ที่น่าเป็นห่วงคืออาคารส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ มีอายุราว 20 ปี ส่วนใหญ่เป็นอาคารเก่าที่อาจมีความเสี่ยงในด้านไฟฟ้าลัดวงจร หรือเหตุการณ์ไฟไหม้ เนื่องจากระบบต่างๆ ถูกใช้งานมานาน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีการตรวจสอบและทดสอบการทำงานของระบบแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ (Fire Alarm) และระบบระงับเหตุเพลิงไหม้ (Sprinkler) อย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดความบกพร่องไม่ว่าจะเป็นระบบการแจ้งเตือนเหตุ ระบบสัญญาณเตือนภัยและท่อน้ำดับเพลิง


ภาครัฐเตรียมคุมอาคารเก่า ให้ได้มาตรฐาน


กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้มีมาตรการป้องกันและระงับการเกิดอัคคีภัย โดยกำหนดเขตพื้นที่ (Zoning) การก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ การควบคุมมาตรฐานการออกแบบอาคาร โดยเฉพาะอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด โดยให้ทุกอาคารต้องมีโครงสร้างของตัวอาคาร และอุปกรณ์ประกอบต่างๆ เพื่อป้องกันและรับมือการเกิดอัคคีภัย เช่น บันไดหนีไฟ ช่องประตูสู่บันไดหนีไฟ ระบบสัญญาณเตือนภัย เครื่องดับเพลิงแบบมือถือ แบบแปลนแผนผังของอาคาร ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ฯลฯ

นอกจากนี้ยังกำหนดให้ทุกอาคารต้องทำการตรวจสอบอาคารเป็นประจำทุกปี และตรวจสอบใหญ่ทุก 5 ปี โดยเฉพาะอาคาร 9 ประเภท ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน โรงมหรสพ โรงแรม สถานบริการ อาคารชุด อาคารโรงงาน และป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย รวมทั้งเร่งรัดให้เจ้าของอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนมีการประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงอาคารให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดโดยเร็ว


กรุงเทพมหานคร เตรียมแผนรับมืออัคคีภัย


ด้านสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมแผนรับมือกับอัคคีภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่บางแห่งเป็นตรอก ซอกซอย และถนนขนาดเล็ก โดยการใช้รถดับเพลิงขนาดเล็กเข้าพื้นที่ จากสถานีดับเพลิง 35 แห่ง รวมทั้งยังเพิ่มจุดเฝ้าระวังโดยกระจายรถดับเพลิงและเจ้าหน้าที่ไปประจำจุดเสี่ยงที่เคยเกิดเหตุไฟไหม้บ่อย เพื่อให้สามารถเข้าควบคุมเพลิงได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น


นอกจากนี้ยังมีรถกระเช้าดับเพลิงที่สามารถดับไฟได้ในระดับความสูง 90 เมตร จำนวน 4 คัน ซึ่งถือว่าทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถรับมือกับอัคคีภัยบนตึกสูงได้ถึง 30 ชั้น ทั้งการดับเพลิง การลำเลียงผู้ติดอยู่ในอาคาร หรือระดมนักดับเพลิง และอุปกรณ์เข้าไปยังที่เกิดเหตุ

จะเห็นได้ว่ายังมีอีกหลายพันอาคารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เจ้าของอาคาร และผู้อยู่อาศัย ที่ต้องดูแล เฝ้าระวัง และช่วยกันตรวจสอบอยู่เสมอ

อ้างอิง : BBC ddproperty

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ


เซ็นทรัลแจง พร้อมเปิดบริการหลังไฟไหม้บ่ายวันที่ 11 เมษาฯนี้