ถอดรหัส Solar Roof เมืองไทย แปลงแสงแดดเป็นไฟฟ้า คุ้มค่าจริงหรือไม่

by ThaiQuote, 24 เมษายน 2562

Solar cell หรือพลังงานแสงอาทิตย์กับความเป็นไปได้ในบ้านเรา ที่มีการพูดถึงกันมาหลายปีดีดัก แต่ก็ยังเกิดอย่างเป็นรูปธรรมไม่ได้สักที วันนี้เราจะมาพูดถึง Solar Roof คือการเปลี่ยนพลังงานแสงแดดอันแรงกล้าของบ้านเรามาเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ภายในบ้าน แต่เมื่อพูดถึงเรื่องต้นทุนในการติดตั้งระบบนี้ บางก็ว่ากันเป็นหลักแสน บางก็ว่าถึงหลักล้าน มันจริงอย่างที่เขาล่ำลือกันหรือไม่ มาลองคำนวณกันดูครับ


จากข้อมูลของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ให้ข้อมูล Solar Roof คือการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน หรืออาคารต่างๆ เมื่อตัวแผงรับพลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานนี้จะเข้าเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าให้สามารถใช้งานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านได้ทุกชนิด แต่ระบบไฟฟ้าในบ้านจะเชื่อมต่อทั้งจาก Solar Roof และไฟของการไฟฟ้า

จุดเด่นของ Solar Rooftop ที่นำไปติดตั้งบนหลังคาบ้าน จะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะในเวลากลางวันระบบจะใช้ไฟฟ้าจาก Solar Roof ก่อน เมื่อการใช้งานไฟฟ้าในบ้านเกินที่ Solar Roof ผลิตได้จะหันไปใช้ระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าอัตโนมัติ

และที่ดีไปกว่านั้น หากเข้าโครงการที่สามารถขายไฟกลับไปให้ ”การไฟฟ้า” ได้ หมายถึงไฟฟ้าที่ผลิตจาก Solar Roof จะสามารถขายคืนให้การไฟฟ้าได้ (มิเตอร์จะหมุนกลับทิศ) สำหรับบ้านพักอาศัยผู้ขายต้องเป็นเจ้าของอาคารหรือได้รับการยินยอมจากเจ้าของอาคารสามารถขายคืนได้ไม่เกิน 10 kWp ในราคา 6-7 บาท/หน่วย (ราคานี้อาจมีการเปลี่ยนแปลง)

ผลลัพธ์คือก็จะได้ประโยชน์ถึง 2 เด้งเลยทีเดียว คือนอกจากประหยัดค่าไฟในบ้านแล้วยังขายไฟฟ้าให้รัฐมีรายได้กลับเข้ากระเป๋าเราอีก


ทีนี้มาดูเรื่องต้นทุนในการติดตั้ง ระบบ Solar Rooftop บ้านเรากันครับ

การติดตั้งระบบ Solar Rooftop เช่น ขนาด 5 kWp ต้องใช้พื้นที่หลังคาในการติดตั้ง 35 ตารางเมตรต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 300,000 บาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 6,500 หน่วย/ปี รายรับจากการขายคืนได้ 45,000 บาท/ปี จะใช้เวลาคุ้มทุนประมาน 10 ปี ซึ่งหากมองตัวเลขนี้แล้วก็มากโขอยู่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนติดตั้งระบบ Solar Roof ต้องมีการเตรียมความพร้อม ได้แก่

1.ความพร้อมโครงสร้างหลังคาว่าสามารถติดตั้งระบบ Solar Roof ได้หรือไม่
2. คำนวนต้นทุนการลงทุนรวมถึงค่าบำรุงรักษา และค่าเสื่อมอุปกรณ์
3. ปริมาณหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตขั้นต่ำต่อปี ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม เช่น ภูมิอากาศ มุมองศา ฯลฯ

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ให้คำปรึกษาและบริการติดตั้งระบบ Solar Roof ตามบ้าน อาคาร โรงงานต่างๆ บางเจ้ามีแอปพลิเคชั่นสำหรับการดูแลควบคุมระบบไฟฟ้าภายในบ้าน นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ทำงานร่วมกับบริษัทพลังงานหมุนเวียนร่วมกันทำโครงการเกี่ยวกับ Solar Roof


การใช้ Solar Roof จะช่วยประหยัดในระยะยาว เพราะนอกจากผลิตเองได้ ยังสามารถซื้อพลังงานไฟฟ้าผ่าน แอปพลิเคชั่น (ภายในโครงการ) ได้อัตโนมัติ ซึ่งราคาจะถูกกว่าหน่วยไฟฟ้าของการไฟฟ้าปกติ รวมถึงหากผลิตไฟฟ้าได้เยอะยังสามารถขายไฟฟ้าให้คนอื่นที่อยู่ในระบบด้วยกันได้

ทั้งนี้การนำร่องโครงการ Sun Share Project จะเริ่มในบางส่วนของ 2 โครงการแรกที่เปิดขาย ได้แก่ โครงการ เวนิว ติวานนท์-รังสิต กับ โครงการเวิร์ฟ ติวานนท์-รังสิต โดยลูกค้าจะใช้งานได้ประมาณไตรมาส 4/2562

โดยมีการส่งเสริมโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา 3 กลุ่ม และกำหนดให้ขายไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (Fit) โดยมีระยะเวลาสนับสนุน 25 ปี และ รับซื้อทั้งการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยจะการประกาศโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาจากภาครัฐออกมาให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมเป็นระยะๆ


ซึ่งการจัดทำ Solar Roof สามารถจัดแบ่งกลุ่มเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
• ขนาดเล็กสำหรับที่พักอาศัย ไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ ราคารับซื้อ 6.96 บาท/หน่วย
• ขนาดกลาง มากกว่า 10 กิโลวัตต์ และไม่เกิน 250 กิโลวัตต์ ราคารับซื้อ 6.55 บาท/หน่วย
• ขนาดมากกว่า 250 กิโลวัตต์ และไม่เกิน 1,000 กิโลวัตต์ ราคารับซื้อ 6.16 บาท/หน่วย

สำหรับผู้ที่สนใจเริ่มอยากติดตั้งก็สามารถใช้โปรแกรมคำนวณอย่างง่าย สำหรับระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน http://www.ces.kmutt.ac.th/pvroof/index.php โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกค่าตั้งต้นการคำนวณได้ทั้งจากพื้นที่ในการติดตั้งที่มีอยู่ หรือกำลังการติดตั้งที่ต้องการ และเลือกชนิดของแผงเซลล์ ราคาระบบที่สามารถจัดซื้อได้เริ่มตั้งแต่ 1 กิโลวัตต์ สามารถตรวจสอบเงินลงทุนระบบเซลล์แสงอาทิตย์ทั้งหมดที่ต้องจ่าย พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อปี จำนวนเงินที่ขายไฟฟ้าได้ต่อปี และจำนวนปีที่คืนทุน เพื่อให้รู้ว่าเราจะคุ้มทุนภายในกี่ปี เรามีตัวอย่างการคำนวนให้ดู ดังนี้

ตัวอย่างผลการคำนวณเบื้องต้นโดยเลือก

พื้นที่ : กรุงเทพมหานคร / ระบบเซลล์แสงอาทิตย์แบบผลึกเดี่ยว (14-20%) / ขนาดพื้นที่ 10 ตารางเมตร / ราคาระบบ 7,000 บาท/กิโลวัตต์

จากผลการคำนวณเบื้องต้น จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 112,000 บาท โดยสามารถผลิตกระแสไฟฟ้า 2,185 กิโลวัตต์-ชม./ปี และรัฐรับซื้อในราคา 6.96 บาท/กิโลวัตต์-ชม. ในระยะเวลา 25 ปี ผลตอบแทนคิดเป็นเงินทั้งหมด 380,190 บาท และสามารถคืนทุนในระยะเวลาประมาณ 7.36 ปี

นอกเหนือจากโปรแกรมคำนวณเบื้องต้นของทางภาครัฐ ก็ยังมีเครื่องมือซึ่งพัฒนาโดยภาคเอกชนที่เป็นที่รู้จักกันดีเช่น Google โดยใช้ระบบฐานข้อมูลบน Google Earth ซึ่งเป็นภาพถ่ายผ่านดาวเทียม และการทำภาพสามมิติของพื้นที่หลังคา และเงาของโครงสร้าง ต้นไม้รอบตัวบ้าน และแนวการเคลื่อนตัวของดวงอาทิตย์ตลอดทั้งปี สำหรับช่วยเจ้าของบ้านที่อยากจะตัดสินใจถึงความคุ้มค่าในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีโครงการที่อยู่อาศัยโครงการใหม่ๆ หลากหลายที่ ที่เริ่มนำแนวคิดการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในโครงการ ทั้งโครงการบ้านพักอาศัย และคอนโดมิเนียม โดยเล็งเห็นความสำคัญของการนำพลังงานทดแทนมาใช้ ยกตัวอย่างเช่น

โครงการบ้านจัดสรรของ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่เริ่มโครงการ Sena Solar Roof บ้านฟรีโซลาร์รูฟ โดยทำการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้ฟรีที่หลังคาบ้านในโครงการ (เฉพาะแปลงที่ได้รับการอนมุติจากการไฟฟ้า) เพื่อให้ลูกบ้านที่ซื้อบ้านไปสามารถมีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้รัฐ ระบบเซลล์แสงอาทิตย์แบบฟิล์มบาง (Thin Film) ที่ขนาดกำลังไฟ 3.5 กิโลวัตต์/หลัง/1 มิเตอร์ โดยใชอัตรารับซื้อจากภาครัฐที่ 6.85 ต่อหน่วย , เฉลี่ยปริมาณไฟที่ผลิตได้ต่อวันที่ 4.5 ชม.

นอกจากนี้ ในสูตรการคำนวณรายรับจากการขายไฟต่อเดือน 3.5 kw x 6.85 บาท/หน่วย x 4.5 ชม./วัน x 30 วัน = 3,200 บาท/เดือน ซึ่งจะเป็นเงินที่เข้ากระเป๋าของเจ้าของบ้าน หรือติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ไว้ที่พื้นที่ส่วนกลางเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในพื้นที่ส่วนกลางต่างๆ ภายในโครงการช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าส่วนกลางได้

บทสรุปส่งท้าย ต้องยอมรับกันเสียทีว่า Solar Roof มีส่วนช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าในบ้าน แถมยังขายไฟฟ้าหารายได้เพิ่มได้อีก แต่ข้อเสียคือต้นทุนยังสูงถ้าอยากทำระบบนี้ใช้เงิน 300,000 บาทขึ้นไป หากรวมกับระบบที่เก็บไฟฟ้าไว้ต้องเสียเงินเพิ่มอีก รวมแล้วหลักล้านบาท แต่ถือว่าดีต่อเงินในกระเป๋าและรักษาโลกในระยะยาวในการลดใช้พลังงานอื่นๆ เพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า


ที่มา สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน, กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน