ทีมวิจัย ม.รังสิต สุดเจ๋ง เปิดตัว 4 ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชา

by ThaiQuote, 23 เมษายน 2562

วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ค้นพบ CBNจากกัญชายับยั้งเซลล์มะเร็งปอด นับเป็นความสำเร็จของการวิจัยพร้อมเปิดสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์แห่งแรกในไทย และ 4 ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบจากสารสกัดกัญชา
1.ยาเม็ดเวเฟอร์จากสารสกัดกัญชา 2.ยาประสะกัญชา 3.น้ำมันกัญชา และ 4.แคนนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ม.รังสิตได้เล็งเห็นคุณค่าและคุณประโยชน์ของกัญชามาอย่างยาวนาน โดยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่ขออนุญาตทำงานวิจัยกัญชาทางการแพทย์อย่างถูกต้อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 และได้รับอนุญาตเป็นรายแรกในปี 2560 โดยมีเป้าหมายเพื่อวิจัยและพัฒนายาและตำรับยาที่พัฒนาจากกัญชาให้มีคุณภาพ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิผล

 

 

ทั้งนี้ ม.รังสิต จึงได้จัดตั้ง “สถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์” ขึ้นมาเพื่อให้สามารถทำงานวิจัยกัญชาได้ทุกมิติ เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติในการบำบัดโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น

ด้าน ผศ.ดร.เภสัชกรหญิง สุรางค์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้วิจัยการศึกษาฤทธิ์ต้านมะเร็งของสารจากกัญชาในสัตว์ทดลอง เปิดเผยว่า โรคมะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งผู้ชายและผู้หญิงทั่วโลก โดยเป็นโรคมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง เนื่องจากธรรมชาติของโรคที่ค่อนข้างดุดันและการไม่ตอบสนองต่อการรักษาในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับโรคมะเร็งปอด
ดังนั้นการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนายาต้านมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพ ยังมีความสำคัญต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเป็นอย่างยิ่ง สารกลุ่ม cannabinoids เป็นสารกลุ่มหลักที่พบในกัญชา โดยมีสาร ∆ 9 -tetrahydrocannabinol (THC) เป็นสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทและมีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของมะเร็งหลายชนิดทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง

 

 

ส่วนสาร cannabinol (CBN) เป็นสารที่เกิดจากการปฏิกิริยาของสาร THC ในระหว่างการเก็บรักษา พบได้มากในกัญชาแห้ง โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่า สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากกัญชา คือ THC และCBN มีฤทธิ์ลดการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ในหลอดทดลองได้ดี ดังนั้นจึงได้ทำการศึกษาในหนูทดลอง พบว่า หนูทดลองที่ได้รับสาร THC และ CBN มีขนาดของก้อนมะเร็งเล็กกว่าหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับสารอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าสาร THC และ CBN จากกัญชามีฤทธิ์ต้านมะเร็งปอดของมนุษย์ได้ทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง
นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบจากสารสกัดกัญชาอีก 4 ผลงาน ได้แก่ ยาเม็ดเวเฟอร์จากสารสกัดกัญชา ยาประสะกัญชา น้ำมันกัญชา และแคนนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก

 

 

สำหรับ ผลิตภัณฑ์แคนนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นช่องปาก เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตัวยาสามารถดูดซึมผ่านทางเยื่อบุช่องปากได้ทันที อีกทั้งยังช่วยลดการถูกทำลายของตัวยาที่ตับ เพื่อช่วยคลายวิตกกังวล ทำให้นอนหลับได้ดี และเร็วขึ้น ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สาร CBN เป็นสารสำคัญที่ตรวจพบได้ในกัญชาแห้ง มีฤทธิ์ทำให้นอนหลับ นอกจากนี้การใช้ร่วมกับสาร THC มีผลส่งเสริมให้การนอนหลับดีขึ้น

 

 

ด้าน “น้ำมันกัญชา (Cannabis Oil) ที่ควบคุมคุณภาพมาตรฐานระดับสากล” กล่าวว่า การคุ้มครองผู้บริโภคที่จะใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชา จะต้องทำการควบคุมคุณภาพมาตรฐานของน้ำมันกัญชาเช่นเดียวกับยา โดยน้ำมันกัญชามีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ คือ THC, CBD และ CBN ซึ่งจะต้องวิเคราะห์หาปริมาณสารสำคัญทั้ง 3 ชนิดในน้ำมันกัญชาที่สกัดได้ เพื่อให้ทราบถึงปริมาณที่ถูกต้อง แน่นอนเพื่อประสิทธิผลในการรักษา ความปลอดภัยของผู้ป่วย

ในส่วนของยาเม็ดเวเฟอร์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชา เป็นยาที่สามารถแตกตัวได้อย่างรวดเร็วในช่องปาก ส่งผลให้ยาถูกดูดซึมและออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น การใช้ยานี้สามารถวางใต้ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม ตัวยาจะดูดซึมผ่านเยื่อบุในช่องปาก โดยไม่ต้องดื่มน้ำตาม จึงเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ป่วยในการใช้ยา ดังนั้น ยานี้จึงเหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการกลืนหรือผู้ป่วยที่มีเยื่อบุช่องปากอักเสบจากการได้รับยาเคมีบำบัด

 

 

ขณะที่ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบสุดท้ายคือ คือ ตำรับยาไทย “ประสะกัญชา” เป็นตำรับยาเข้ากัญชาที่ทางมหาวิทยาลัยได้ขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อนำมาศึกษาวิจัย เป็นตำรับยาเข้ากัญชาที่อ้างอิงจากคัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด) เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยสรรพคุณของสมุนไพร และวิธีการนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ โดยชื่อเรียกตำรับดังกล่าวว่า “ประสะกัญชา” นั้น มีที่มาจากปริมาณของเครื่องยากัญชาที่เข้าในตำรับมีปริมาณครึ่งหนึ่งของเครื่องยาทั้งหมดในตำรับ โดยส่วนประกอบของตำรับยาประสะกัญชา มีดังนี้ ตรีกฏุก (พริกไทย ดีปลี เหง้าขิงแห้ง) จันทน์ทั้ง ๒ (แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาว) ใบสะเดา ใบคนทีเขมา พริกไทยล่อน และใบกัญชา

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ศรีลังกายังเดือด! พบระเบิดอีก 87 ลูก ยอดตายพุ่ง 310 ราย