5 องค์กรคนข่าว ยื่น กสทช. พิจารณาเยียวยาผลกระทบทีวีดิจิทัล

by ThaiQuote, 22 พฤษภาคม 2562

5 องค์กรสื่อ ยื่นข้อเรียกร้องผ่านกสทช.ให้พิจารณาเยียวยาพนักงานได้รับผลกระทบจากการคืนทีวีดิจิทัล


ตัวแทนศูนย์ประสานงานและติดตามข้อมูลสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสื่อมวลชน” (ศปส.) ภายใต้ 5 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เข้ายื่นหนังสือกับ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.
ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องในการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ประกอบวิชาชีพสื่ือมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562


โดยภายหลังการรับหนังสือ เลขาธิการกสทช. ระบุว่าจะนำข้อเสนอขององค์กรวิชาชีพไปนำเสนอในที่ประชุมอนุกรรมการเยียวยาฯ ที่เป็นประธานให้เป็นหนึ่งในข้อพิจารณา ซึ่งข้อเสนอในการเยียวยาพนักงานที่ได้รับผลกระทบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ก็ได้แสดงความห่วงใยตัั้งแต่ก่อน ม.44 ด้วยซ้ำ โดยขอให้ดูแลเยียวยาพนักงานที่จะได้รับผลกระทบ


ขณะเดียวกัน นายบราเห็ม สลีมิน ในนามเครือข่ายอนาล็อก เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา ตนกับพวกรวม 20 คน ได้ยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล) ขอความเป็นธรรมให้มีมาตรการเยียวยาพนักงานเครือข่ายสถานีอนาล็อก สถานีต่างจังหวัด กรณีนายจ้าง บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จํากัด ในนามสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ได้บอกเลิกจ้างพนักงานต่างจังหวัดทั้งหมด ซึ่งทำให้มีคนตกงาน 113 คน


หนังสือที่ทำถึงพลเอกประยุทธ์ระบุว่า ด้วยเครือข่ายสถานีอนาล็อก สถานีต่างจังหวัด กรณีนายจ้างบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จํากัด ในนามสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ได้บอกเลิกจ้างพนักงานต่างจังหวัดทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 3 เฟส เฟสที่ 1 จํานวน 4 สถานี เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2560 เฟสที่ 2จํานวน 13 สถานี เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2560 เฟสที่ 3 จํานวน 20 สถานี เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2561 โดยทางบริษัทฯ ไม่เคยทําแผนงานระบบทีวีดิจิทัลแจ้งให้พนักงานทราบมาก่อน ซึ่งไม่เป็นไปตามนโยบายของ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐโดยตรงที่กํากับดูแลทีวีระบบกระจาย เสียงและภาพระบบดิจิทัลให้นโยบายไว้ว่าให้สถานีออกอากาศในระบบอนาล็อกควบคู่กับระบบดิจิทัลไปจนถึงอายุ สัมปทานในปี 2566

“ทําให้ พนักงานต่างจังหวัดที่ถูกเลิกจ้าง ทั้งหมด 113 ราย อย่างเช่น พวกกระผมซึ่งมีอายุ 40 กว่าปีขึ้นไปทั้งสิ้น ขาดโอกาสในการหางาน ไม่มีโอกาสขยับขยายหางานใหม่ ครอบครัวที่ต้องดูแลต้องประสบปัญหาเดือดร้อนในทันที และหลังจากนี้ไปจะมีพนักงานต่างจังหวัดอีกมากมายหลายช่องก็จะถูกเลิกจ้างและประสบปัญหาเช่นเดียวกับพวก กระผมกันหมด ด้วยสภาวการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ปัญหาหนี้สิน ความเดือดร้อนเหล่านี้มีที่มาจากบริษัทที่วิ ดิจิทัล และนโยบายของรัฐที่สนับสนุนให้มีทีวีดิจิทัลทั้งสิ้น ซึ่งขณะนี้ทาง กสทช. ก็ได้มีมาตรการเยียวยา ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไปบ้างแล้ว”

ในตอนท้ายของหนังสือระบุว่า ขอความกรุณาต่อท่านนายกรัฐมนตรีได้โปรดพิจารณาถึงปัญหาดังกล่าว และได้โปรดมีมาตรการ เยียวยาพนักงานเครือข่ายสถานีอนาล็อก สถานีต่างจังหวัดจํานวนมากที่ถูกเลิกจ้าง ที่ได้รับความเดือดร้อนจากพิษของดิจิทัลจากนโยบายของรัฐให้ได้รับความดูแลชดเชยเยียวยาด้วย

“พวกผมอยู่ต่างจังหวัดที่โดนเลิกจ้าง สถานีต่างจังหวัดทั้งหมด 37สถานีโดนเลิกจ้างทั้งหมด ทีวีอนาล็อคเดิมจะมีช่อง7ช่อง 3 ช่อง9 ช่อง Thaipbs และช่อง5 เราโดนกลุ่มแรก และปิดก่อนออายุสัมปทานการเดินทางเข้ากทม. พวกผมอาศัยร่วมเงินคนละ100-200 บาท เพื่อให้ตัวแทนไปทำหน้าที่ครับ พวกผมลำบากกันจริง อายุก็เลย40-50ปีแล้ว ทั้งนั้นขาดโอกาสในการหางานใหม่ ด้วยอายุที่เกิน ช่วยแรงงานอย่างพวกผมด้วยเถอะครับ” นายบราเห็ม กล่าว

 

 





ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
กสทช.ยันให้ "หัวเว่ย"ในไทยใช้ได้ไร้ปัญหา