อีอีซี ชี้ ขาดแรงงานภาคอุตฯ กว่า 4.7 แสนคน

by ThaiQuote, 5 มิถุนายน 2562

อัพเดตล่าสุด กับความคืบหน้าของ อีอีซี หรือ เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่วันนี้เริ่มขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลังภายหลังจากที่โครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนกำลังเดินหน้าไป แน่นอนแม่เหล็กอีกตัวหนึ่งของ อีอีซี พื้นที่ซึ่งถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นฐานของอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตคือ บุคลากรที่มีคุณภาพ

โดย“อภิชาติ ทองอยู่” ประธานคณะทำงานศูนย์ประสานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก(EEC-HDC) ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า อีอีซี จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจระดับการลงทุน 1.5 ล้านล้านบาทเกิดขึ้นภายใน 5 ปีนับจากนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะผลักดันให้ GDP ประเทศโตขึ้นสูงกว่าร้อยละ 5 จากตัวเลขปัจจุบันมูลค่าการลงทุนที่นักลงทุนยื่นเสนอมานั้นอยู่ที่ราว 7 แสนล้านบาท โดยมีความต้องการคนทำงานใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมระบบราง / เดินสมุทร / โลจิสติก และกลุ่มอื่นๆได้แก่ หุ่นยนต์ / ดิจิทัล / สมาร์ทอิเลกทรอนิกส์ / ยานยนต์สมัยใหม่ / การบิน / การท่องเที่ยว /การแพทย์ครบวงจร /อาหารเพื่ออนาคต / ไบโอเคมิคัล / เกษตรก้าวหน้า / การศึกษา /ความมั่นคง”

นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่น่าตกใจไม่น้อย คือ การขาดแคลนของบุคลากรทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดย อีอีซียังมีต้องการบุคลากรกว่า 4.7 แสนคนใน 5 ปีข้างหน้าในทุกอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งต้องเร่งการผลิต และต้องยกระดับมาตรฐานที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการใช้มาตรฐานต่าง ๆ ในแต่ละสาขาการผลิตมาช่วยพัฒนากำหนดให้ทันความเปลี่ยนแปลง และใช้สถาบันและผู้เชี่ยวชาญเข้าช่วยเสริม ทำงานคู่กับหน่วยงานที่พัฒนามาตรฐานในไทยที่มีอยู่ให้ช่วยเร่งยกระดับบุคลากรสาขาต่าง ๆ ให้สูงได้ระดับมาตรฐานสากลในทุกสาขาวิชาชีพ

ทั้งนี้ EEC-HDC ได้ทำการศึกษาสำรวจความต้องการตามอุตสาหกรรมเป้าหมายและนำเสนอตัวเลขดังกล่าวต่อรัฐบาลแล้ว พร้อมดำเนินการจัดปรับการศึกษาให้เป็นแบบ Demand driven ที่ต้องมีอุตสาหกรรมมารองรับการร่วมจัดการศึกษาและให้ทุนผู้เรียน โดยทางอุตสาหกรรมจะได้ incentive จากภาครัฐในกรณีการสนับสนุนการศึกษา ที่เราพัฒนามาจาก “สัตหีบโมเดล” สู่ “อีอีซีโมเดล” การจัดทำยุทธศาตร์และแผนปฏิบัติการรวมเพื่อกระจายความร่วมมือไปยังสถานศึกษาทุกระดับตั้งแต่การศึกษาพื้นฐาน อาชีวะ และมหาวิทยาลัย โดยมีคณะประสานงานทุกระดับร่วมขับเคลื่อน
สำหรับเรื่องดังกล่าว เริ่มมีความชัดเจน แล้ว เช่น การแบ่งความรับผิดชอบมหาวิทยาลัยต่างๆ ข้อตกลงกับเอกชนและมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่จะมีบทบาท อาทิ ม.บูรพา รับผิดชอบด้าน การท่องเที่ยว / ออโตเมชั่น (เป็นศูนย์พัฒนาและบริการฝึกอบรม) ,ม.เกษตร รับผิดชอบเรื่อง พาณิชย์นาวี และระบบเจ้าภาพร่วม อาทิ ม.ศรีปทุม-ม.บูรพา รับผิดชอบเรื่อง ดิจิทัล ,ยานยนต์สมัยใหม่ ม.จุฬา- ม.พระจอมเกล้าฯระยอง , ระบบราง ม.บูรพา-วท.ชล –ม.ราชมงคลธัญบุรี ฯลฯ

ขณะที่ด้านการประสานงานกับต่างประเทศ เชื่อมผ่าน 2 ทางคือ สถาบันเชื่อกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการบุคลากรตามความต้องการ กับทาง EEC HDC จัดเชื่อมให้กับ 6 ประเทศเครือข่ายคือ สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ จีน และญี่ปุ่น

นอกจากการปรับการศึกษาในสถาบันเครือข่ายให้ร่วมกับอุตสาหกรรมทั้ง 12 กลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังมีการอบรมระยะสั้น สำหรับคนในวัยทำงาน โดยแบ่งเป็น 3 แบบคือ New Skill, Up skills, Re skill เพื่อยกปรับระดับทักษะในการทำงานให้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันมีการปรับระบบการศึกษาเป็นระบบ credit Bank ให้ผู้เรียนได้ทำงานและเรียนไปด้วย ไม่เสียโอกาสในการทำงานและหารายได้ รวมถึงช่วยสถาบันการศึกษาปรับระบบให้ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่เป็นจริงด้วย

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวจะเกิดประโยชน์กับประชาชน และเยาวชนของประเทศ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ในพื้นที่ อีอีซี เท่านั้น เนื่องจาก 1.การปรับฐานการศึกษาใน อีอีซี ทั้งระบบให้มีการพัฒนาบุคลากรตรงตามความต้องการของงานที่ต้องการ ดังนั้น การตกงาน ว่างงาน จะหายไปจากบริบทของการศึกษา

2.ยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล เพื่อพัฒนาคุณภาพและทักษะฝีมือ ตลอดจนการสื่อสาร เพื่อพัฒนาสู่การมีงานทำในกลุ่มบุคลากรที่มีรายได้สูง

3.สร้างความพอเพียงด้านบุคลากร ทั้งในเชิงปริมาณ -คุณภาพ ตอบโจทย์การลงทุนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจประเทศให้เป็นไปตามการพัฒนาที่วางไว้

4.พัฒนาระบบการศึกษาทั้งแนวตั้งและแนวราบ ในแง่ของการพัฒนาการศึกษาทุกระดับให้สอดรับกันตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงมหาวิทยาลัย และเน้นการอาชีวศึกษา ที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมและการพัฒนาประเทศ รวมถึงพัฒนาคุณภาพให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในแบบ 4.0 และโครงสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่

5.เยาวชนทุกคนในระบบการศึกษาแบบ “อีอีซี โมเดล” จะมีความรู้ที่มีมาตรฐานการเรียนการสอนที่ตรงตามความต้องการในตลาดความต้องการของงานและมีพัฒนาการต่อเนื่อง ตลอดจนได้รับการอุดหนุนทางการศึกษาจากกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และมีหลักประกันในการมีงานทำรายได้สูงหลังจบการศึกษา

6.ประเทศโดยรวมจะลดความสูญเปล่าด้านการศึกษา ช่วยให้ระบบการศึกษาได้พัฒนาปรับตัวไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของความรู้และเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้าไปไม่หยุดยั้ง รวมทั้งสร้างโอกาสให้สถาบันการศึกษาพ้นออกจากวิกฤติและการถูก disruption และช่วยเชื่อมสถาบันการศึกาเข้ากับอุตสาหกรรมและสถาบันที่ก้าวหน้าของโลกจากต่างประเทศ สร้างโอกาสการพัฒนาให้กับการพัฒนาคุณภาพทั้งระบบการศึกษาไทย

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
กนอ.อวดตัวเลข นักลงทุนแห่จองพื้นที่อีอีซี