สำรวจผลกระทบ “เขื่อนพระนครศรีอยุธยา” 1 ในแผนบริหาร “ลุ่มน้ำเจ้าพระยา”

by ThaiQuote, 8 มิถุนายน 2562

อะไรคือความคุ้มค่า? หากมี “เขื่อนพระนครศรีอยุธยา” เครื่องมือการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ความสำคัญของมรดกโลก หรือวิถีชีวิตและชุมชน

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา อีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งต้องเร่งบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซาก ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ซึ่งกรมชลประทานได้จัดทำแผนรวมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก โดยมีโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ซึ่งครม.ได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 8 ม.ค.62 กรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 21,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2562-66 และเขื่อนพระนครศรีอยุธยา ที่มีมูลค่าของโครงการประมาณ 2,300 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้เชื่อมโยงกัน

 

 

“ โครงการเขื่อนพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 13 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วยพื้นที่ อ.บางไทร อ.บางบาล อ.บางปะหัน อ.บางปะอิน อ.ผักไห่ อ.พระนครศรีอยุธยา อ.มหาราช และ อ.เสนา ส่วนในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ประกอบด้วย อ.ไชโย อ.ป่าโมก อ.โพธิ์ทอง อ. เมือง และ อ.วิเศษชัยชาญ โดยมีพื้นที่หัวงานโครงการตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พื้นที่หัวงาน 76.93 ไร่ ระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลบ.ม./วินาที จากปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยในพื้นที่ดังกล่าว 10,970 ล้าน ลบ.ม./ปี แก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยเฉพาะน้ำท่วมที่เกิดซ้ำซากและมีแนวโน้มระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ชุมชน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม” อรรถพร ปัญญาโฉม รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 ได้กล่าวระหว่างการนำสื่อมวลชนลงสำรวจพื้นที่ วัดกษัตราธิราชวรวิหาร 1ในพื้นที่ขอบเขตโบราณสถาน ซึ่งกรมศิลปากรได้กำหนดเพิ่มในปี 2540 จากพื้นที่เดิมของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

 

“อรรถพร” ยังกล่าวอีกว่า จากการศึกษาผลกระทบในระยะแรก พบว่า มีชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบประมาณ 158 ครัวเรือน ในพื้นที่เขต ม.4,ม.5 และ ม.8 ของ ต.บ้านใหม่ ดังนั้นจึงมีการขยับพื้นที่โครงการไปยังพื้นที่การเกษตร ด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ ทำให้ลดผลกระทบของชุมชน เหลือเพียง 31 ครัวเรือน ซึ่งจะต้องมีการทำความเข้าใจกับคนที่ได้รับกระทบอีกครั้งหนึ่ง รวมไปถึงการทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการเดินเรือ โดยได้มีการออกแบบโครงสร้างใหม่ เพื่อเพิ่มช่องเดินเรือ ลดปัญหาที่จะส่งกระทบต่อการเดินเรือให้เหลือน้อยที่สุด

ทั้งนี้เรื่องความจำเป็นของเขื่อนพระนครศรีอยุธยานั้น นอกเหนือการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่บ้านเรือนและการเกษตรแล้ว วรวิทย์ บุณยเนตร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล ยังบอกอีกว่า สามารถป้องกันกลุ่มโบราณสถานสำคัญในพื้นที่ประวัติศาสตร์ของพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมได้อีกด้วย
“แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ไหลผ่านหน้าวัดกษัตราธิราชวรวิหาร ถือเป็นช่วงที่แคบที่สุดคือมีความกว้างประมาณ 83 ม. โดยปกติจะมีน้ำไหลผ่านบริเวณนี้ 1,200 ลบ.ม./วินาที แต่หากเป็นฤดูน้ำหลาก ช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.ซึ่งเป็นช่วงมรสุม อาจมีปริมาณน้ำไหลผ่านมกกว่า 2,000 ลบ.ม./วินาที เช่นเดียวกับปี 2560 ทำให้น้ำเอ่อล้มตลิ่งเข้าท่วมภายในบริเวณวัด เนื่องจากแม่น้ำช่วงดังกล่าวระบายน้ำไม่ทันนั่นเอง” วรวิทย์กล่าวเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

ขณะที่บริเวณวัดไชยวัฒนาราม ซึ่งเป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ และจะต้องใช้งบประมาณการป้องกันอุทกภัยเฉพาะส่วนของวัดไชยวัฒนารามเอง แต่ละปีในหลักร้อยล้านบาท

 

 

ดังนั้นนี่จึงเป็นความพยายามของกรมชลประทาน ที่จะบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่ที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้นให้น้อยที่สุด ด้วยเครื่องมืออย่าง โครงการคลองน้ำหลากบางบาล-บางไทร และ เขื่อนพระนครศรีอยุธยา
แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีเสียงต่อต้านด้วยความกังวลใจของชาวบ้าน ที่ยอมรับได้ต่อการสร้างคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร แต่คลางแคลงใจหากจะต้องมีเขื่อนพระนครศรีอยุธยา เพิ่มขึ้นอีกโครงการในพื้นที่ของพวกเขา
ขณะที่กรมชลประทานเองพยายามยกประโยชน์ของโครงการดังกล่าว ซึ่งหาก 2 โครงการนี้แล้วเสร็จประสิทธิภาพของการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนคือ

 

 

1.การบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่พระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตองล่างได้เฉลี่ย 1.9-2.5 ล้านไร่/ปี รวมทั้งเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำสำหรับพื้นที่เกษตรกรรมจากเดิม 1.5 แสนไร่ เป็น 229,138 ไร่ คลอบคลุม 2 จังหวัด 7 อำเภอ คือ อ.พระนครศรีอยุธยา บางบาล บางไทร บางปะอิน ผักไห่ และ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง

2.มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค 15 ล้าน ลบ.ม.คลอบคลุมพื้นที่ 48 ตำบล 3 เทศบาล 362 หมู่บ้าน

3.เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำเลี่ยงตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ถนนบนคันคลองเป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยง อ.บางบาล-บางไทร ซึ่งมีระยะทางประมาณ 22.5 ก.ม. และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด ที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง
บทสรุปของโครงการเขื่อนพระนครศรีอยุธยาจะเป็นอย่างไร เมื่อมีเสียงแว่วถามหาความคุ้มทุนของโครงการ หากวัดกันที่เหตุผลเรื่องการบริหารจัดการน้ำประโยชน์ที่ได้เรียกว่าคุ้มเกินคุ้ม แต่หากจะพูดเรื่องของวิถีชีวิตและชุมชน ก็มีเสียงสะท้อนจากพื้นที่ว่าพวกเขาพร้อมยอมตายบนแผ่นดินเกิดของตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม โครงการเขื่อนพระนครศรีอยุธยา ขณะนี้ยังเป็นเพียงขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน ยังจะต้องเดินทางอีกยาวไกล กว่าจะถึงขั้นตอนการอนุมัติการก่อสร้างที่ต้องใช้เวลา 5-7 ปี และกว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จก็อาจใช้เวลาเป็น 10 ปี เมื่อถึงเวลานั้นปัญหาเรื่องน้ำในอนาคตจะเป็นผู้กำหนด และเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าโครงการนี้คุ้มที่จะลงมือทำหรือไม่