รู้จัก ‘ป่าพรุหนองจำรุง’ จากพื้นที่ตกสำรวจสู่แหล่งเรียนรู้ระดับประเทศ

by ThaiQuote, 11 กรกฎาคม 2562

เที่ยวป่าพรุแห่งเดียวของภาคตะวันออก ‘หนองจำรุง’ แหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศสู้โลกร้อน

โดย...วรากร เข็มทองวงศ์

เรือท้องแบนขนาดบรรจุ 12 คนเคลื่อนช้าบนพื้นน้ำที่เต็มไปด้วยบัวหลวง กลางสายฝนพร่ำเย็น ภารกิจหลักในครั้งนี้คือการสำรวจบึงสำนักใหญ่หรือหนองจำรุง ต.ซากพง อ.แกลง จ.ระยอง พื้นที่ที่ได้รับการบำรุงเอาใจใส่ เพื่อเป็นแหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทป่าพรุ ที่ถูกเรียกว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ แหล่งพักพิงของคนและสัตว์ ทั้งหากินและหาใช้


การอนุรักษ์พื้นที่แห่งนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2545 จากการประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยในการใช้พื้นที่แห่งนี้ สร้างเป็นมหาวิทยาลัย และมีความตั้งใจที่ยอมรับการตั้งศูนย์รวมพรรณไม้ภาคตะวันออก ตามแนวทางขององค์การสวนพฤษศาสตร์แทน จากวันแรกที่พื้นที่มีเบื้องต้น 1193 ไร่ ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของสวนพฤกษศาสตร์ระยอง จากที่มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 3800 ไร่ และยังมีพรรณไม้เก่าแก่ที่เรียกว่า เสม็ดขาว ขึ้นอยู่ด้วย

เรือนำเที่ยวพาลัดเลาะเข้าไปชมในจุด ที่เรียกว่าเป็นดงเสม็ดขาว ไม้โบราณประจำถิ่น ที่มีความสำคัญ ในการชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าพรุแห่งนี้ ที่สำคัญ การรักษาป่าพรุ คือ หนึ่งในองค์ประกอบในการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน และปัญหาระบบวิเวศเชิงพื้นที่อีกด้วย


เพราะด้วยคุณสมบัติเฉพาะของป่าพรุ ที่นอกเหนือการหน้าที่หลักในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของน้ำทะเลแล้ว ป่าพรุเหล่านี้ ยังมีหน้าที่ดักตะกอนและแร่ธาตุ รวมทั้งพรรณไม้ในป่าป่าพรุนี้ สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ได้มากถึง 5800 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เปอร์เฮกเตอร์ ซึ่งเมื่อเทียบกับป่าเขตร้อนทั่วไปถือว่ากักเก็บได้มากกว่าหลายเท่าตัว

ตลอดการเข้าชมพื้นที่นอกจากพืชพันธุ์ที่มีความสำคัญจำนวนมาก ยังได้พบกับ แพหญ้าหนังหมา พืชน่าสนใจที่ลอยอยู่เหนือน้ำ หนาจนสามารถขึ้นไปเดินได้ และเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดความสมบูรณ์ ซึ่งป่าพรุแห่งนี้ถือว่า สอบผ่านได้อย่างดีเยี่ยม


วัชนะ บุญชัย หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์ระยอง ได้อธิบายว่า พื้นที่ชุ่มน้ำมีความสำคัญอย่างมาก และมีประโยชน์ ด้วยแนวคิดให้ประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์จากป่าพรุ และสร้างให้เป็นแหล่งเรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำ รวมทั้งพรรณไม้ท้องถิ่นภาคตะวันออก

‘เรามีระบบนิเวศป่าเสม็ดขาว ที่เหลือเพียงแห่งเดียวในภาคตะวันออก ซึ่งเรมีหน้าที่ในการอนุรักษ์และจัดการสวนแห่งนี้ตามแผนนโยบายของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ในความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น เพราะมันมีพรุ มีแพหญ้า สามารถกักเก็บคาร์บอนฯได้ ซึ่งมีความหนาของชั้นพื้นผิวร่วม เมตรครึ่งของตัวแพหญ้าหนังหมา’


เมื่อแรกมาสำรวจหลังจากรับมาทำงานสร้างศูนย์วิจัย วัชนะพบสภาพพื้นที่เป็นบึงแต่ไม่ใช่บึงเพราะมองไม่เห็นพื้นใต้บึง จึงรู้ทันทีว่าสถานที่ที่ตกสำรวจของพื้นที่ชุ่มน้ำ แม้จะตรวจสอบทางภาพถ่ายทางอากาศก็ไม่เห็นน้ำ เพราะมองเห็นแต่หญ้า และเกือบจะเสียพื้นที่ไป เพราะนักการเมืองไม่รู้ว่าพื้นที่นี้มีค่ามหาศาล และต้องการผลักดันเป็นมหาวิทยาลัยประจำจังหวัด เมื่อรู้ความเป็นจริงว่า ใต้หญ้าที่เป็นแพหญ้าหนังหมา เป็นบึงน้ำกว่า 3800 ไร่ บวกกับประชาพิจารณ์ของประชาชนในพื้นที่ ไม่ได้ต้องการมหาวิทยาลัย แต่ต้องการให้เกิดสวนสวนพฤษศาสตร์แทน จึงเป็นที่มาของการถือกำเนิดของพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้

การใช้ประโยชน์ร่วมกับชุมชนเพื่อการหวงแหนพื้นที่ในทางอ้อม จึงมีการย้อนกลับไปในอดีต สู่นิราศเมืองแกลง ของกวีเอกสุนทรภู่ ที่พูดถึงการสานเสื่อเมื่อ 200 ปีก่อน ด้วย กกกระจูด ซึ่งมีมากในพื้นที่บึงสำนักใหญ่ และเป็นสินค้าที่ต้องส่งเข้ากรุงเทพฯแทนการเสียภาษีด้วยเงิน ในยุคปัจจุบัน การสานกกกระจูด สามารถสร้างรายได้ ที่เข้าขั้นตั้งตัวและมั่นคง รวมทั้งยั่งยืนต่อชุมชนที่นี่ได้อย่างน่าชื่นชม ทั้งในรูปแบบเสื่อแบบดังเดิม เครื่องสานในรูปแบบต่างๆ เช่น กระเป๋า แจกัน เป็นต้น

นอกเหนือจากการลงพื้นที่ชมป่าพรุบึงสำนักใหญ่แล้วนั้น ยังมีการจัดเวทีเสวนา โลกระอุ ป่าพรุช่วยได้ เพื่อเป็นการเพิ่มเติมความรู้ให้มีความตระหนักถึความสำคัญของป่าพรุ โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งงแวดล้อม (สผ.) และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่ง สหประชาชาติ (UNDP) ประเทศไทย ต้องการนำเสนอความรู้ในการอนุรักษ์ป่าพรุแก่สื่อมวลชนทั้งจากส่วนกลางและท้องถิ่น

สุชาติ สัยละมัย ผู้เชี่ยวชาญวิชาการสถานบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และผู้จัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำประเทศไทยปี 2560 อธิบายเพิ่มเติมว่า ความโดดเด่นของป่าพรุเมืองไทย แม้จะมีน้อย แต่เป็นของดี ทั่วประเทศมีป่าพรุที่ยืนยันสถานะอยู่ 22 แห่ง มีการกักเก็บอินทรีย์ได้ตามมาตรฐานวิชาการ หนึ่งในพรุที่คนส่วนใหญ่รู้จัก คือ พรุคำชะโนด หรือ ป่าคำชะโนด จ.อุดรธานี


‘ในกระบวนการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของป่าพรุนั้น รากที่อยู่ในดินของป่าพรุมีลักษณะที่สามารถลอยตัวขึ้น เมื่อมีน้ำท่วมเข้ามาและกลับมาเกาะดินอีกครั้งเมื่อน้ำหายไปแล้ว รากของพืชจึงเป็นตัวสำคัญในการกักเก็บ พืชที่อยู่ในบึงหรือที่ชุ่มน้ำนั้น จะมีโครงสร้างที่จับกันเป็นก้อน เช่น พืชประเภทไหลต่างๆ มีความสามารถในกรชะล้างหน้าดิน ทำให้ไม่เกิดความตื้นเขินของลำน้ำ คาร์บอนฯที่สะสมในดินของป่าพรุมีถึง 57ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เปอร์เฮกเตอร์’

ส่วน สมศักดิ์ สุขวงศ์ นักวิชาการอาวุโสวนศาสตร์ชุมชน และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาสภาวะอากาศเป็นเรื่องที่หนักหนาพอสมควร ในการแก้ไขปัญหา และไทยเป็นประเทศเล็กๆ ในท่ามกลางกุ่มประเทศที่ปล่อยคาร์บอนฯ แต่มองกลับกันการแก้ไขปัญหานี้คือ เราจะอยู่กับมันอย่างไร ป่าพรุคือคำตอบ

ปัญหาอย่างหนึ่งของป่าพรุคือไฟไหม้ ที่มักจะมีปัญหาที่เห็นบ่อยครั้งในโซนภาคใต้บ้านเรา ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน แม้ป่าพรุจะมีประโยชน์แต่ก็มีอันตรายในเรื่องนี้ เพราะการกักเก็บอินทรีย์ต่างๆของป่าพรุ ซึ่งมีสารบางชนิดสามารถติดไฟได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถติดไฟบผิวน้ำได้ด้วย เป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่งที่เราก็ต้องระมัดระวังในการอนุรักษ์รักษาป่าพรุ

ทนงศักดิ์ จันทร์ทอง ผู้ประสานงานโครงการฯจากศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า ผู้มีประสบการร์ในการดูแลป่าพรุควนเคร็ง พื้นที่นครศรีธรรมราช-พัทลุง บอกว่า การจะรักษาป่าพรุนั้น จะต้องให้ความรู้กับเครือข่ายที่มีความตระหนักและเห็นคุณค่าของป่าพรุ ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ เช่น ในช่วงของหน้าไฟ อย่างที่ควนเคร็งต้องทำงานร่วมกับ 8 อำเภอ 13 ตำบล ที่เกี่ยวข้องกับพรุแห่งนี้ เพื่อหาพื้นที่เสี่ยง ทั้งต้นตอเชื้อเพลิง พื้นที่ทำมาหากินที่อาจจะเป็นสาเหตุของไฟ และ การปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน

ทั้งนี้ สำหรับ บึงสำนักใหญ่ หรือ หนองจำรุง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ประเภทป่าพรุ พรรณไม้เดิมที่พบมาก คือ เสม็ดขาว จากจากการสำรวจและการศึกษา พบพรรณไม้รวม 364 ชนิด 290 สกุล 105วงศ์ แยกเป็นพรรณไม้ทั่วไป 163 ชนิด และพรรณไม้น้ำ 201 ชนิด ซึ่งเป็นพรรณไม้ที่นำเข้าไปปลูกอีก 31 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นพืชหายาก 2 ชนิด ได้แก่ สรัสจันทร และสร้อยสุวรรณา

นอกจากนี้ รอบบึงพบไม้ต้นที่ขึ้นในพื้นที่อีกหลายชนิด เช่น จิกนา ปอทะเล สนุ่น อะราง ตะแบกนา Lagerstroemia เสม็ดขาว เป็นต้น

ขณะที่ในพื้นที่บึงที่น้ำท่วมถึงและพื้นที่ชื้นแฉะริมน้ำพบพรรณไม้น้ำค่อนข้างหลากหลาย เช่น กระจูด หญ้าแขม ผักตบชวา จอก จอกหูหนู ผักกระเฉด ไมยราบยักษ์ ไมยราบ บัวหลวง ผักบุ้ง ผักแพงพวย หนามพุงดอ หนวดปลาดุก บอน กกสามเหลี่ยม แห้วทรงกระเทียม หวายลิง ธูปฤาษี เป็นต้น

นอกจากนี้ สัตว์ป่าที่พบ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 4 ชนิด ใน 4 วงศ์ 4 สกุล ซึ่งเป็นสัตว์ที่สำรวจพบโดยตรง 1 ชนิด คือ หนูท้องขาว และอาศัยอยู่บริเวณเกาะในบึงจำรุง 3 ชนิด ได้แก่ กระต่ายป่า พังพอนเล็ก และค้างคาวปีกถุงเคราดำ
พบนกไม่น้อยกว่า 67 ชนิด ใน 35 วงศ์ 56 สกุล ซึ่งเป็นนกที่สำรวจพบโดยตรงในการศึกษาครั้งนี้ 59 ชนิด ส่วนมากจะเป็นนกที่อาศัยอยู่ตามชายทุ่งและตามสวน เช่น นกเขาใหญ่ นกเขาชวา นกกระปูดใหญ่ นกขมิ้นน้อยสวน นกปรอดสวน นกกระจิบหญ้าสีเรียบ นกกางเขนบ้าน เป็นต้น

และพบชนิดนกน้ำที่อาศัยอยู่บริเวณรอบบึง เช่น นกกาน้ำเล็ก นกอ้ายงั่ว นกยางเปีย นกยางควาย นกยางไฟหัวน้ำตาล เป็ดแดง นกกวัก เป็ดคับแค เป็นต้น

ขณะที่พันธุ์ปลานั้น พบว่ามีความหลากชนิดจำนวน 37 ชนิด (species) ใน 15 ครอบครัว (families) ปลาที่พบมีความหลากชนิดมากที่สุดในครอบครัว Cyprinidae จำนวน 13 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 35.13 รองลงมา ได้แก่ Belontiidae จำนวน 5 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 13.51 รองลงมา ได้แก่ Bagridae และChannidae จำนวนครอบครัวละ 3 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 8.11 รองลงมา ได้แก่ Clariidae และMastacembelidae พบครอบครัวละ 2 ชนิด แต่ละครอบครัวคิดเป็นร้อยละ 5.41 ครอบครัว และอีก 9 ครอบครัว พบเพียงครอบครัวละ 1 ชนิด แต่ละครอบครัวคิดเป็นร้อยละ 2.70

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
พบ “หมีหมา” บาดเจ็บป่าสุราษฎร์ ทีมสัตวแพทย์ระดมช่วย แต่ไม่รอด!