เลิกได้แล้ว ละครน้ำเน่า “ศก.พังเพราะคสช.”

by ThaiQuote, 11 สิงหาคม 2562

บทบรรณาธิการ ThaiQuote

ภายหลังผ่านพ้นกระบวนการทางสภา ที่มาจากการเลือกตั้ง จนถึงการเข้าบริหารประเทศของรัฐบาลชุดใหม่ ประชาชนต่างหวังว่าประเทศจะเดินหน้า ก้าวข้ามความขัดแย้ง มุ่งสู่อนาคตที่สวยงาม

แต่เหตุใด วันนี้ … เรายังได้ยินคำพูดเดิมๆ ข้อความเดิมๆ ที่นักการเมืองทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ มักหยิบยกขึ้นมาโพนทะนา ชี้หน้ารัฐบาล คสช. ว่า เป็นตัวการให้ประเทศถอยหลัง เศรษฐกิจประเทศซบเซามาจนถึงปัจจุบัน
เหตุผลเพียงเพราะว่า รัฐบาลชุดปัจจุบัน ยังคงนำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และแกนนำรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจหลายคน เป็นกลุ่มคนกลุ่มเดียวกับรัฐบาล คสช. ทำให้บรรดานักการเมืองวันนี้ หันกลับไปหยิบประเด็นทางเศรษฐกิจตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว มาโจมตี แทนที่จะทำการบ้านมองหาประเด็นใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆ มาผลักดันให้รัฐบาลทำงาน

ที่สำคัญข้อกล่าวหาทางเศรษฐกิจ ที่นักการเมืองหลายๆคนออกมาพูด ก็เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะบางคนดูเหมือนตั้งใจพูดบิดเบือนข้อเท็จจริง เพียงเพื่อหวังผลทางการเมือง เป็นเรื่องที่น่าเศร้า…

ดูข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 2557 นับตั้งแต่ คสช. เข้ายึดอำนาจบริหารประเทศ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ก็เห็นตัวเลขที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบจากก่อนหน้านั้น ช่วงที่นักการเมืองปั่นกระแสจนเกิดจลาจลเผาบ้านเผาเมือง วันนั้นหากปล่อยสถานการณ์เป็นไปตามยถากรรม มันอาจเลวร้ายเกินจะจินตนาการ
อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาสแรก ปี 2557 อยู่ในอัตราติดลบ แต่พุ่งสูงขึ้นเป็น 3.1 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาส 4 หลังจากนั้นยังคงเติบโตอยู่ในระดับ 3-4 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นสูงสุดถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาส 1 ปี 2561


มีนักการเมืองบางคนพยายามบอกว่า อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจไม่เติบโตนั้น จึงไม่เป็นความจริง แต่อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำนั้น เกิดจากการบริหารจัดการเงินเฟ้อให้เป็นไปตามกรอบเป้าหมาย

มาดูตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปี 2557 สำรวจโดยมหาวิทยาหอการค้าไทย ระบุบพุ่งขึ้นสูงถึง 70.5 ในไตรมาส 4 ภายหลังรัฐบาลคสช. เข้าบริหาร ที่สำคัญสถาบันจัดอันดับเรทติ้งทางเศรษฐกิจ ยังคงเรทติ้งประเทศไทยไว้ที่ BBB+ ล่าสุดการจัดอันดับเมื่อเดือน ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา ยังปรับมุมมองคาดการณ์ หรือ outlook จากคงที่ (stable) เป็น บวก หรือ positive

อีกหนึ่งประเด็นที่ รัฐบาลบิ๊กตู่ ถูกโจมตี คือ ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากทวีปยุโรป โยงไปว่า คนจากยุโรปเกลียดรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร
เมื่อพิจารณาจากรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ชี้ชัดว่า ตั้งแต่ปลายปี 2557 เป็นต้นมา ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3 ล้านคนทุกปี และนักท่องเที่ยวจากทวีปยุโรป ก็ยังมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะมีที่หายไปก็คือรัสเซีย แต่สาเหตุเนื่องจากรัสเซียมีปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ลดฮวบเมื่อ 2-3 ปีก่อน ทำให้ประเทศนี้ซวนเซเลยทีเดียว

 

 

ด้านข้อมูลการลงทุนภาคเอกชน ก่อนและหลังการรัฐประหาร เป็นอีกสถิติหนึ่งที่ควรมีการนำมาเปิดเผย โดยไตรมาสแรกของปี 2557 สำนักเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่าติดลบอย่างรุนแรง และขยับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 ขณะที่อัตราการขยายตัวของการลงทุนรวมที่แท้จริง ทั้งการลงทุนของภาครัฐและเอกชนก็ปรับเพิ่มขึ้นทันที จากติดลง 2.2 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2557 เป็น 4.4 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2558 และเป็นบวกตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

 

อีกเรื่องที่นักการเมืองจ้องตาเป็นมัน ที่จะหยิบยกมาถล่มรัฐบาล คือ ราคาพืชผลการเกษตรที่ตกต่ำ ซึ่งแน่นอนว่าสินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่อ่อนไหว ราคาขึ้นลงอยู่กับปัจจัยราคาตลาดโลกด้วย

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำรวจพบว่า ปี 2557 รายได้เกษตรกรหดตัวที่ติดลบ 5.7 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากนั้นก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2559 เพิ่มขึ้น 2.9 เปอร์เซ็นต์ ปี 2560 เพิ่มขึ้น 3.7 เปอร์เซ็นต์และปี 2561 ก็เพิ่มขึ้น 1.0 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะกลุ่มชาวนามีรายได้ที่เพิ่มขึ้นถึง 17.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2561

 

 

มองให้ลึกลงไปอีก ในปีแรกๆที่คสช เข้าบริหาร สต็อกข้าวในโกดังจากโครงการรับจำนำข้าวเหลืออยู่หลายสิบล้านตัน ย่อมกดดันราคาข้าวในประเทศ หลังจากนั้น ค่อยๆทยอยระบายออก จนส่งผลให้ราคาข้าวปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่ทำราคาสูงสุดในปี 2561 ส่วนที่เห็นจะหนักหน่อยคือราคายางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งก็เห็นความพยายามแก้ไขกันพอสมควร

เรื่องสัดส่วนหนี้สาธารณะ ต่อ จีดีพี เป็นอีกเรื่องที่น่าจะมาอธิบายกัน เพราะมีการพูดกันไปเรื่อยเปื่อยว่า รัฐบาลที่แล้วใช้เงินเยอะ จนทำให้ประเทศเป็นหนี้มหาศาล บ้างก็ลามไปถึงว่า อนาคตประเทศจะล้มละลาย

เมื่อพิจารณาการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ ระหว่างปี 2557- 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่รายได้ของรัฐบาลก็เติบโตไปในทิศทางเดียวกัน คือที่5.6 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ขณะเดียวกันมองในแง่ของภาระการชำระหนี้ต่องบประมาณในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก็อยู่ที่ระดับร้อยละ 7.7 ซึ่งต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังของประเทศที่กำหนดชำระหนี้เอาไว้ที่ร้อยละ 15 ของงประมาณ โดยผลที่ว่าทำให้องค์กรจัดอันดับระหว่างประเทศ จัดอันดับให้ไทยมีความสามารถในการชำระหนี้ในระดับดีที่สุด
แน่นอนว่ารัฐบาล คสช. ไม่ได้ทำดีไปเสียหมดทุกเรื่อง แต่ก็ไม่ได้แย่ไปหมดเสียทุกอย่าง การพูดบิดเบือน หรือ พูดไม่ครบถ้วน มันไม่ทำให้ประเทศดีขึ้น รังทำให้ประเทศเสียหาย

ประชาชนยังมีความหวังว่า บรรดานักการเมืองน้ำดี โดยเฉพาะนักการเมืองรุ่นใหม่ จะไม่ใช้วิธีการเดิมๆแบบพวกรุ่นเก่าๆ ที่หยิบเอาบางเรื่องมาพูด หรือพูดไม่หมด พูดความจริงไม่ถึงครึ่ง เพียงแค่หวังผลทางการเมืองชั่วครั้งชั่วคราว นักการเมืองรุ่นใหม่ ลองมองหาแนวทางทำการเมืองแบบใหม่ๆ ผลักดันให้รัฐบาลทำในสิ่งที่ดีๆเพื่อประเทศชาติกันดีกว่าจริงไหม…