ชวนอ่านคำต่อคำ! จากวงเสวนา "ฮ่องกงทำไมต้องประท้วง?" วิเคราะห์หลากแง่มุมสถานการณ์ร้อน

by ThaiQuote, 16 สิงหาคม 2562

คำต่อคำ! อ่านคำวิเคราะห์จากวงเสวนาวิชาการจุฬาฯ สะท้อนเหตุการณ์ประท้วงฮ่องกง หลากมิติ ทั้งกฎหมาย-ประวัติศาสตร์ ทึ่ง!ม็อบไร้แกนนำแต่ยืนระยะด้วยอุดมการณ์!!

แม้สถานการณ์บุกยึดสนามบินนานาชาติฮ่องกงนั้น จะคลี่คลายด้วยคำสั่งศาลห้ามเข้าใกล้พื้นที่ก็ตาม แต่ความคุกรุ่นในความเปราะบางของสถานการณ์ยังมีอยู่ แต่ปลายทางจะเป็นอย่างไร
ยังไร้คำตอบในสายลม...
งานเสวนาวิชาการเรื่อง "ฮ่องกงทำไมต้องประท้วง?" จัดโดย ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์

รศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ส่วนตัวสนใจประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นรัฐชาติ โดยที่มีความน่าสนใจในการที่จะจัดกลุ่มคน ให้เข้าไปอยู่ในประเทศใดๆ หรือมีลักษณะหลายเชื้อชาติ ซึ่งสถานการณ์ฮ่องกงก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก ในแง่มุมประวัติศาตร์ของการรัฐชาติ และความรัฐชาติสมัยใหม่ในเอเชีย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประเทศทั่วๆไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เคยเป็นอาณานิคม ต่างได้รับความเป็นเอกราชและเกิดเป็นรัฐเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี 1940-1950 เป็นรัฐชาติขึ้นมา
ความต่างของฮ่องกงคือการเป็นอาณานิคมต่อเนื่องของอังกฤษจนถึงปี 1997 จากนนั้นส่งมอบคืนให้จีน และนำมาสู่การปกครองที่น่าสนใจต่อฮ่องกง คือ 1 ประเทศ 2 ระบบ และถือเป็นลักษณะพิเศษของการเป็นรัฐชาติที่เกิดขึ้น
และการกลับเข้าสู่รัฐชาติจีนหลังการเปิดประเทศ ไม่ใช่แนวทางเดียวกับสมัยเหมา เจ๋อ ตง ซึ่งเป็นยุคปฏิรูป เรียกให้เข้าใจง่ายๆว่าเป็นคอมมิวนิสต์ที่เข้าสู่ระบบตลาด จึงมีความย้อนแย้งหลายประการเกิดขึ้นกับฮ่องกง ทั้งความเป็นศูนย์กลางการเงินการลงทุน มีความเป็นทุนนิยมที่ชัดเจน แต่อยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ รวมทั้งความเป็นรัฐเอกราชกับการเป็นอาณานิคมก็ต่างจากรัฐชาติอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน และการชุมนุมกลับการเป็นการโหยหาการย้อนกลับไปยุคอาณานิคมของผู้ชุมนุม
แม้คำว่า "1 ประเทศ 2 ระบบ" จะฟังดูเหมือนเป็นสิ่งที่ดี แล้วทำไมคนฮ่องกงยังโหยหาช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ หากมองย้อนไปเมื่อ 22 ปีที่แล้ว คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้ฮ่องกงยอมกลับเข้าสู่อ้อมอกของจีนแผ่นดินใหญ่โดยไม่อิดออดมากนัก เป็นเพราะความเชื่อมั่นในคำสัญญาที่รัฐบาลจีนให้ไว้ แต่ยิ่งเวลาล่วงเลยผ่านไปมากเท่าไหร่
ยิ่งมีสัญญาณของการแผ่อิทธิพลเข้ามาครอบงำของฝั่งแผ่นดินใหญ่ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่เคยมีกลับกลายมาเป็นความรู้สึกที่อยู่ภายใต้การปกคลุมของเงามืดจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ทุกวันนี้ หรือแม้กระทั่งผู้บริหารประเทศเองก็ยังต้องเป็นคนของแผ่นดินใหญ่ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นความไม่พอใจฝังรากลึกอยู่ในใจของชาวฮ่องกง ข้อความที่ระบุบนป้ายประท้วงว่า "Free Hong Kong" จึงเป็นเสมือนสัญญาณของระเบิดเวลาที่กำลังรอเวลาระเบิดในวันข้างหน้า


การประท้วงที่กำลังลุกลามในฮ่องกง เป็นอีกหนึ่งบททดสอบที่ท้าทายความอดทนของรัฐบาลจีนที่กำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากทั้งในประเทศและนานาชาติ หลังจากที่จีนออกมาระบุว่า การชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกง เป็นการก่ออาชญากรรมรุนแรง และบ่งชี้ถึงการก่อการร้าย ซึ่งถูกมองว่าเป็นการส่งคำเตือนอย่างรุนแรงที่สุดไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมที่อาจปูทางไปสู่การใช้กองกำลังความมั่นคงแห่งชาติของจีนในการปราบปราม เช่นเดียวกับที่จีนเคยใช้ข้ออ้างของการก่อการร้ายในการกวาดล้างกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในซินเจียง และทิเบตมาแล้ว จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากรัฐบาลของชาติตะวันตก และกลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนจำนวนมาก ในขณะที่ล่าสุดก็เริ่มมีกระแสเรียกร้องออกมาจากสื่อจีนให้รัฐบาลเข้าไปจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วงอย่างเด็ดขาดมากกว่าเดิม หลังมีข่าวออกมาว่านักข่าวจีนถูกกลุ่มผู้ประท้วงจับกุมจากเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในสนามบินฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองยังคงว่า สถานการณ์ในฮ่องกงจะไม่รุนแรงเท่าครั้งเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่จตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 ซึ่งรัฐบาลจีนได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมจนทำให้เกิดการสูญเสียเป็นจำนวนมาก แม้จีนจะไม่เคยออกมาเปิดเผยจำนวนอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการคาดการณ์กันว่าอาจมีผู้เสียชีวิตเป็นหลักพัน หรืออาจจะถึงหลักหมื่นคน เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเจ็บปวดให้กับชาวจีนเป็นอย่างมาก และก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลพรรคอมมิวนิสต์จีนมาอย่างยาวนาน จนกลายมาเป็น "ตราบาป" ที่ไม่มีวันลบเลือน ซึ่งรัฐบาลจีนไม่ต้องการแม้จะเอ่ยถึง

ถึงตอนนี้ยังคงไม่มีใครตอบได้ว่าสถานการณ์ครั้งนี้จะจบลงอย่างไร ท่ามกลางกระแสข่าวที่ออกมาเป็นระลอก ๆ ว่าจีนกำลังเคลื่อนกำลังพลเข้ามาในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งติดกับฮ่องกง เพื่อเตรียมเข้าสลายการชุมนุม ขณะเดียวกันก็มีการปล่อยภาพการฝึกซ้อมของทหารออกมาเป็นระลอก ๆ แม้จีนจะออกมาปฏิเสธว่าจะไม่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของฮ่องกง แต่ก็เป็นที่น่าจับตาว่า เมื่อสถานการณ์เริ่มลุกลามกลายมาเป็นการเรียกร้องเอกราชแล้ว จีนจะทำรับมือกับเหตุการณ์นี้อย่างไร ในขณะที่ความรุนแรงย่อมไม่ใช่คำตอบที่ดี แต่จะถอยก็สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นแบบอย่างที่อันตราย ซึ่งอาจนำไปสู่กระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยหรือแบ่งแยกดินแดนในเขตปกครองอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไต้หวัน และมาเก๊า ที่กำลังคุกรุ่นรอวันปะทุอยู่เช่นเดียวกัน

 

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายจีนและผู้เขียนหนังสือ china 5.0 ได้เล่าในวงเสวนาว่า อย่างที่ทราบกันจุดเริ่มต้นการชุมนุมประท้วงครั้งนี้มาจาก กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก่อนปี 1997 ฮ่องกงเป็นอาณานิคมของอังกฤษก็จะมีการใช้กฎหมายภายใน ตามแบบอังกฤษ แต่เดิมนั้น หากมีผู้ร้ายหนีเข้ามาในฮ่องกง การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนนั้น จะใช้ในกลุ่มประเทศที่มีสมเด็จพระราชินีเป็นประมุข เมื่อมาถึงยุค1ประเทศ 2 ระบบ มีความพยายามที่จะปรับปรุงกฎหมายอังกฤษ ให้เป็นกฎหมายภายในของฮ่องกง ซึ่งมีการระบุเพียงว่า การส่งผู้ร้ายข้ามแดน จะกระทำต่อเมื่อมีการทำสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน ที่ผ่านมา ฮ่องกงทำสนธิสัญญาดังกล่าวกับ 20 ประเทศ ตั้งแต่หลังปี 1997 เป็นต้นมา มีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจำนวน 100 คนประเทศที่ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา
ประเด็นสำคัญคือ ฮ่องกง อยู่ภายใต้เงื่อนไข 1 ประเทศ 2 ระบบ ของอธิปไตยของประเทศจีน และมีกฎหมายของตัวเองที่เรียกว่าธรรมนูญการปกครองฮ่องกง (hong kong basic law) จนกว่าจะมีการทำสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกัน จันไม่สามารถร้องขอให้ฮ่องกงส่งผู้ร้ายข้ามแดน และที่ผ่านมามีความพยายามเจรจาในการทำสนธิสัญญาดังกล่าวมาโดยตลอด แต่การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของจีนแผ่นดินใหญ่ และตัวจีนเองที่ผ่านมาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เท่าไหร่ รัฐบาลในปักกิ่งเพียงดูแลด้านการทหารและการต่างประเทศเท่านั้น พร้อมให้สัญญาว่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลา 50 ปี
แต่เมื่อมีคดีการฆาตกรรมแฟนสาวของหนุ่มฮ่องกงเกิดขึ้นที่ไต้หวัน จึงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นการชุมนุม เนื่องจากจีนร้องขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน และมีการจะเสนอให้แก้ไขกฎหมายฮ่องกง พิจารณาคดีส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเป็นกรณีๆไป
อย่างไรก็ดี กระบวนการยุติธรรมของจีนแผ่นดินใหญ่ในตลอด 40 ปีที่ผ่านมานั้น มีการพัฒนามาโดยตลอด นักวิชาการต่างชาติได้ให้ความเห็นไว้ว่า 90 % ของคดีความนั้นไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่เป็นประเด็นและมีปัญหาบ่อยครั้งซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยคือ คดีทางการเมือง ในความหมายที่ว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีธงในการดำเนินการที่ชัดเจน เพราะระบบตุลาการหรือศาลของจีน ไม่ได้เป็นอิสระ แต่อยู่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ในระบบศาลมีคณะกรรมการพรรค หากมีใบสั่งลงมา ศาลก็ต้องทำตาม จึงเป็นความกังวลในสังคมฮ่องกงว่า หากใครก็ตามที่เป็นศัตรูกับรัฐบาลจีน เกรงว่าจะถูกใช้กลไกนี้ในการร้องขอตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน
แต่สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องที่เป็นข้อสังเกตคือ ฝ่ายสนับสนุนการประกาศใช้กฎหมายนี้ บอกว่า การส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยหลายประเทศก็ทำสนธิสัญญาดังกล่าว เช่น ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส เป็นต้น และที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาในการใช้เป็นข้ออ้างเรื่องการเมือง แต่ยังมีบางชาติ อย่าง ออสเตรเลียที่เพิ่งที่ตกญัตติการส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อสภาไป
ข้ออ้างในการชุมนุมครั้งแรกเมื่อ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา คือประเด็นส่งผู้ร้ายข้ามแดนนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมอ้างว่า แม้จะเป้นการส่งตัวในกรณีกระทำความผิดในจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่นับรวมการกระทำความผิดในฮ่องกง แต่มีความกังวลกันว่า จีน อาจจะหาช่องทางในการแทรกแซงได้ แม้ในที่สุดสภาฮ่องกงจะยกเลิกการออกกฎหมายดังกล่าวตั้งแต่ 15 มิ.ย. แต่การชุมนุมยังยืดเยื้อต่อมาจนถึงวันนี้
ความไม่ชัดเจนของ 1 ประเทศ 2 ระบบ คือตัวแปร?
ดร.อาร์ม แสดงความเห็นที่น่าสนใจไปอีกในเรื่อง 1 ประเทศ 2 ระบบ คือ ความไม่ชัดเจน อันดับแรก ถ้าจับตามคำพูดของเติ้ง เสี่ยว ผิง อดีตผู้นำจีน ว่า 50 ปีนับจากวันกลับเข้าสู่จีน ฮ่องกงจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ไม่มีคำตอบว่า หลังครบ 50 ปีไปแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับฮ่องกง
ถัดมา การเลือกตั้งผู้บริหารแบบเสรี ยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลปักกิ่ง แม้ในธรรมนูญปกครองฮ่องกงมีการระบุชัดเจนในมาตรา 45 และ 68 ว่า จุดหมายปลายทางก็คือ Universal Suffrage หรือ สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป ทั้งผู้บริหาร สภานิติบัญญัติ ทั้งนี้ยังมีข้อความระบุกำกับไว้ว่า อย่างค่อยเป็นค่อยไป ที่จะพัฒนาไปสู่จุดหมายนั้น
แต่ปัญหาคือ กฎหมายไม่ได้มีการระบุเวลาในการทำตามเป้าหมายที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเมื่อไหร่ รวมทั้งรัฐบาลปักกิ่ง สภาประชาชน เคยกล่าวถึงการเลือกตั้งของฮ่องกงด้วยสิทธิการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2007 โดยยึดตามสัญญา แต่ปัญหาคือแคนดิเดตต้องผ่านการเห็นชอบจากปักกิ่ง ทำให้มีประเด็นว่าไม่เป็นการเลือกตั้ง รวมทั้งการพยายามผลักดันกฏหมายเลือกตั้ง 2ใน3 โดยไม่สามารถผ่านสภา เพราะกลุ่มหัวก้าวหน้าไปเห็นด้วย
การเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในฮ่องกง เมื่อปี 2014 ชาวฮ่องกงก็เคยออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยแบบเต็มใบมาแล้ว หลังจากที่ในปี 2007 รัฐบาลจีนได้เคยรับปากว่าจะยินยอมฮ่องกงสามารถเลือกตั้งผู้บริหารของตนเองได้ในปี 2017 แต่เอาเข้าจริง จีนกลับประกาศว่าผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในฮ่องกงต้องผ่านการสกรีนจากรัฐบาลในปักกิ่งเสียก่อน ซึ่งฮ่องกงมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมและไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงทำให้กฎหมายดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาฮ่องกง จนที่สุดเลยต้องใช้ระบบเดิมมาจนทุกวันนี้

 


น.ส.ประภาภูมิ เอี่ยมสม ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ วอยซ์ออนไลน์ บอกเล่าประสบการณ์ในการทำข่าวในพื้นที่การชุมนุมว่า ความแตกต่างของการประท้วงร่มเหลืองปี 2014ซึ่งเป็นการประท้วงในเรื่องการบรรจุแบบเรียนภาคบังคับของจีนในฮ่องกง กับครั้งนี้ เพราะหลังปี 2014 การเคลื่อนไหวของการเรียกร้องประชาธิปไตยดูซบเซาลง และการชุมนุมรอบนี้ ทำให้ประชาชนมีความหวังในการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งของฮ่องกง การลงพื้นที่ทำข่าวหลังการเริ่มปราบปรามการชุมนุมครั้งแรก ประชาชนมีความฮึกเหิม แม้จะมีการระงับร่างกฎหมาย และแสดงความชัดเจนของประชาชนที่ไม่กลัวรัฐบาล รวมทั้งแสดงออกซึ่งความหวัง และให้มีการถอดถอนร่างกฎหมายออกไปไม่ใช่การระงับเท่านั้น
แต่มีจุดเปลี่ยนในวันที่ 1 ก.ค. ครบรอบการส่งมอบคืนฮ่องกง จุดเปลี่ยนความหวังเป็นความสิ้นหวัง ในการบุกรัฐสภา จำนวนประชาชนที่ออกมาร่วมชุมนุมกว่า 2 ล้านคนไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมาย แต่รัฐบาลไม่ตอบสนองความต้องการ จึงมีการยกระดับขึ้นเพื่อให้การชุมนุมสัมฤทธิ์ผล ทำให้การยกระดับครั้งนี้ มันกลายเป็นการก่อการจลาจล จนถึงขั้นปิดสนามบินอย่างที่ภาพออกมาทางสื่อมวลชนทั่วไป
ในการสัมภาษณ์ผู้ร่วมชุลนุม ถึงความพร้อมในการป้องกันตัว ซึ่งหลายคนยืนยันว่า ครั้งนี้ยิ่งไม่มีแกนนำหลัก แต่ใช้วิธีการด้วยความถนัดของแต่ละคน ในการแจ้งเตือนการป้องกันการปราบปราม จึงทำให้การชุมนุมยืนระยะอยู่ได้ รวมทั้งกลุ่มที่ต้องการใช้ความรุนแรงในการยกระดับ และแสดงออกเพื่อฮ่องกงอย่างชัดเจน รวมทั้งไม่มีการทิ้งกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง เพราะถือว่าเป็นพวกเดียวกัน

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ไฟประท้วงที่ลุกโชน ถอดรหัส "3ข้อเรียกร้อง" ของหนุ่มสาวฮ่องกง