ส่องความคิด ‘พุทธิพงษ์’ เปิดศูนย์ตรวจข่าวปลอม ลุยส่องต่อข้อเท็จจริง

by ThaiQuote, 22 สิงหาคม 2562

อ่านความคิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผ่านวงเสวนา เผยเปิดศูนย์เพื่อความถูกต้องไม่ใช้ทางการเมือง พร้อมแก้ไขการเผยแพร่ข้อมูล รวมศูนย์การตรวจสอบ

จากรณี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ทำการ จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบข่าวปลอมและได้แต่งตั้ง 'คณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน' โดยนายพุทธิพงษ์ เป็นประธานกรรมการ พร้อมดึงตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นคณะกรรมการ

ซึ่งคณะกรรมการฯดังกล่าว มีทั้งสิ้นมี 25 แห่ง และมีหน่วยงานด้านสาธารณสุข กรมประชาสัมพันธ์ สถาบันการศึกษาชั้นนำในสาขานิติศาสตร์-นิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์ ผู้แทนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย องค์กรด้านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และผู้แทนจากสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทยนั้น

ล่าสุด นายพุทธิพงษ์ ได้เข้าร่วมบรรยายงานเสวนาจิบน้ำชา ครั้งที่ 3/2562 หัวข้อ “Bullying & Fake News ทันเกมสารพัดพิษออนไลน์ สังคมไทย” ร่วมกับ ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

นายพุทธิพงษ์ ได้กล่าวว่า ยอมรับว่าข่าวปลอมเป็นปัญหาของสังคม และยังไม่มีใครที่จะรับหน้าที่ทำเรื่องนี้ เพราะมันไม่ง่าย แม้จะมีการปรึกษากับคุณวสันต์ ภัยหลีกลี้ และสื่อมวลชนก็ตาม พยายามจะแก้ไขเรื่องนี้ รวมทั้งความพยายามทำข้อตกลง พยายามสกัดกั้น แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

 

 

ในอดีตที่ผ่านมา ที่ไม่มีปรากฏการณ์ข่าวปลอมเกิดขึ้นในสังคม เพราะสื่อมวลชนมีจรรยาบรรณในการทำงาน การจะปล่อยข่าวแต่ละชิ้นออกไปนั้น จะมีทั้งบรรณาธิการ หัวหน้าข่าว มีการตรวจสอบก่อนจะปล่อยข่าวสักชิ้นออกไป เพราะมันเป็นชีวิตและหน้าที่ของสื่อมวลชน

“นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าไม่ว่าจะกี่สิบปีที่ผ่านมา เรื่องนี้มันไม่เคยเกิดขึ้น เพราะสื่อมวลชนมีระบบกลั่นกรองไม่ว่าจะสถานการณ์แบบไหน และไม่ว่าจะสายข่าวไหนก็ตาม แต่เมื่อเทคโนโลยีทันสมัยขึ้น ประชาชนทุกคนสามารถเป็นนักข่าวได้ และเป็นผู้สื่อข่าวที่ไม่ต้องกลั่นกรองอะไรเลย ตื่นเช้ามานึกจะด่าใครก็ด่า อยากจะตัดต่อ เขียนอะไรในเรื่องที่มันไม่จริงเท่าไหร่ เติมสีใส่ไข่ ยิ่งมีการส่งต่อกันในวงกว้างและทำให้มีข่าวปลอมจำนวนมากขึ้น” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

การที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้ามาทำงานในเรื่องนี้นั้น นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า การที่ได้พูดคุยกับหลายฝ่ายนั้น ควรที่จะต้องทำ เพื่อแก้ไขปัญหาข่าวปลอมในโลกออนไลน์ เพื่อให้ศูนย์ตรวจสอบข่าวปลอม โดยจะเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบความถูกต้อง จึงเป็นเสมือนภารกิจที่ต้องมีความรอบคอบ เพื่อให้ข้อมูลกับสังคมและคนทั่วไป

นอกจากนี้ ต้องมีความรวดเร็วในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้ทันกับความต้องการของประชาชนและสถานการณ์ เช่น สถานการณ์เรื่องเขื่อน ยาที่ไม่สามารถรักษาได้ทุกโรค ต้องมีข่าวรวดเร็วในการกระจายและเผยแพร่ข้อมูลไม่ให้มีความตื่นตระหนก

“เราจึงต้องเชิญเครือข่ายต่างๆ ไม่ว่าจะภาคประชาสังคม ภาคประชาชน เพราะเราไม่ได้ต้องการให้ศูนย์ฯ นี้เป็นเหมือนที่คนกลัวกันว่าจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ทางการเมือง ถัดมา ต้องการจะสร้างความยั่งยืนให้ศูนย์หรือหน่วยงานคงอยู่ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเปลี่ยนกี่รัฐบาลก็ตาม และการที่ดึงภาคประชาชนและประชาสังคมเข้ามา เพื่อป้องกันประธานที่จะเข้ามาในอนาคต ใช้หน่วยงานนี้เป็นเครื่องมือตอบโต้ทางการเมือง

ส่วนตัวเชื่อมั่นในแนวคิดของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ที่เชิญมาร่วมงาน หากในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงแนวทาง หน่วยงานและผู้ทรงคุณต่างๆก็คงรับไม่ได้ และหากมีวันนั้น ก็จะมีคนที่ปกป้องแนวคิดและนโยบายที่ตั้งกันเอาไว้”

และที่สำคัญการทำงานครั้งนี้ เป็นเสมือนหน่วยงานประสานกลาง นายพุทธิพงษ์ ต้องการให้สามารถติดต่อประสานงานกันได้ตลอดเวลา กระทรวงดิจิทัลฯ จึงจะสร้างเครือข่ายกลางสำหรับติดต่อหน่วยงานภาครัฐให้รวมศูนย์ ให้สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลข้อเท็จจริง ให้ทันกับเหตุที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานั้นๆ และสามารถส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องต่อสังคม

 

 

รวมทั้งในเรื่องติดตามตรวจสอบการปล่อยข่าวปลอม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าวว่า ในส่วนนี้จะแยกออกไปอย่างชัดเจน ให้ฝ่ายผู้มีอำนาจกฎหมายในมือ ทั้งตำรวจ กระทรวงดิจิทัลฯ ที่มี พ.ร.บ.ไซเบอร์ ดำเนินการ

รวมทั้งการทำงานในครั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ในกรณีที่ถูกปลอมบัญชีผู้ใช้ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก และโซเชียลต่างๆ เพราะที่ผ่านมา เมื่อเกิดความเสียหาย ประชาชนไม่มีช่องทางในการแจ้งความหรือแก้ไข หากไปแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ก็ใช้เวลานาน มีเพียงดารา หรือ คนดัง เท่านั้นที่ไปแจ้งความ

ในการมีศูนย์ตรงนี้นั้น นายพุทธิพงษ์ ชี้ว่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ประชาชนขอคำปรึกษาในความเสียที่เกิดขึ้นได้ รวมทั้งปัญหาเรื่องการ Bully หรือการกลั่นแกล้ง จึงต้องการเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากออนไลน์ ซึ่งโครงสร้างของคณะกรรมการมีกรอบในการทำงานเกี่ยวกับ Bully และการทำงานตรงนี้ได้รับความสนใจจากตัวนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังมีคณะกรรมการย่อยสำหรับการดำเนินการ

เพื่อเป็นคณะกรรมการที่ไปศึกษา ให้ความรู้ข้อมูลหรือบรรจุหลักสูตรการใช้หลักพินิจพิเคราะห์ต่อเด็ก เยาวชน ในการเสพข่าว รวมทั้งการที่มีหน่วยงานนี้ขึ้นมา นอกจากสิ่งที่พูดมาข้างต้นนั้น นายพุทธิพงษ์ ยังยืนยันว่า หน่วยงานนี้ยังมีประโยชน์ในการปกป้องทั้งสังคม การลงทุน เศรษฐกิจ และเรื่องการเมือง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าวด้วยว่า ภายใน 2 สัปดาห์หน้านี้ จะมีการดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่ปล่อยข่าวปลอมและสร้างผลกระทบให้กับสังคมโดยรวมอย่างจริงจัง เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับประชาชนได้เห็นถึงโทษและภัยของข่าวปลอม ตลอดจนเป็นการสร้างความรู้ให้กับประชาชนในการเลือกรับข่าวสารที่ถูกต้องด้วย