ฎีกาฯ แก้โทษ คุณหญิงจารุวรรณ คุก 9 เดือน รอลงอาญา 2 ปี

by ThaiQuote, 27 สิงหาคม 2562

ศาลฎีกา พิพากษาแก้ "คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา" คดีเบิกงบฯไม่ตรงข้อเท็จจริง ผิด มาตรา 157 ลดโทษ 1ใน 4 เหลือจำคุก 9 เดือน ปรับ 15,000 บาท และให้รอลงอาญา 2 ปี จาก อุทธรณ์ ที่สั่งจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา

วันนี้ (27 ส.ค.62) ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลนัดอ่านคำพิพากษาฎีกา คดีหมายเลขดำ 2054/2559 ที่พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง "คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา" อายุ 73 ปี อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ "นายคัมภีร์ สมใจ" อายุ 73 ปี อดีต ผอ.สำนักบริหารงานและทรัพยากรบุคคล สตง. เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีที่จัดให้มีการสัมมนา ที่ จ.น่าน วันที่ 31 ต.ค.46 ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการสัมมนากันจริง แต่จัดสัมมนาเพื่อให้ข้าราชการที่มีรายชื่อเข้ารับการสัมมนานั้น ได้ไปร่วมงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานที่จัดขึ้นในวันเดียวกันแล้วให้เบิกค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในงบเดียวกัน 294,440 บาท ทำให้ สตง.เสียหาย ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิด "คุณหญิงจารุวรรณ" และ "นายคัมภีร์"

ในศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พ.ย.58 ว่าจำเลยทั้งสอง มีความผิดตามมาตรา 157 ให้จำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ จากนั้นคุณหญิงจารุวรรณ และนายคัมภีร์ ได้ยื่นสมุดบัญชีเงินฝากคนละ 200,000 บาทขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี

ขณะศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 23 ก.พ.60 เห็นว่า การจัดและอนุมัติโครงการสัมมนากระทำไป เพื่อให้ข้าราชการ สตง. ไปร่วมการถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน และการทอดผ้ากฐินสามัคคี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง แต่เบิกจ่ายงบประมาณ สตง. ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของส่วนราชการ พ.ศ.2545 โดยไม่มีการสัมมนาที่แท้จริง จึงเป็นการเบิกจ่ายโดยไม่มีสิทธิ ทำให้ สตง.เสียหาย โดยจำเลยทั้งสองร่วมรู้เห็นตั้งแต่ต้น จึงเป็นความผิด ตาม ม.157

ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น ศาลเห็นว่าจำเลยทั้งสองรับราชการที่ สตง.มางานจนดำรงตำแหน่งระดับสูง นับว่าได้ทำคุณประโยชน์ให้กับราชการ ประกอบกับจำเลยทั้งสองมีอายุมากประมาณ 70 ปีมีเหตุควรปราณี ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกคนละ 2 ปีจึงหนักเกินไป พิพากษาแก้โทษให้จำคุกเหลือคนละ 1 ปี แต่กรณีไม่สมควรรอลงอาญา

ขณะที่ระหว่างฎีกา "คุณหญิงจารุวรรณ" และ "นายคัมภีร์" อดีต ผอ.สำนักบริหารงานฯ ได้ประกันตัวคนละ 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ซึ่งก่อนหน้านี้ มีการเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกามาแล้ว 2 ครั้งเมื่อวันที่ 30 ม.ค.62 และวันที่ 22 เม.ย. เนื่องจาก นายคัมภีร์ จำเลยที่ 2 มีอาการภาวะหัวใจล้มเหลว แล้วเสียชีวิตในเวลาต่อมาวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ด้วยภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยวันนี้ (27 ส.ค.) "คุณหญิงจารุวรรณ" จำเลยที่ 1 มาศาล ซึ่งมีครอบครัวและกลุ่มญาติ มาให้กำลังใจร่วมลุ้นผลคำพิพากษาด้วย ขณะที่ "นายไพบูลย์ นิติตะวัน" หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ก็ร่วมติดตามฟังคำพิพากษาด้วยเช่นกัน ส่วน "นายคัมภีร์" อดีต ผอ.สำนักบริหารงานฯ จำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยได้เสียชีวิตแล้ว "ศาลฎีกา" จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

คดีในส่วนของ "คุณหญิงจารุวรรณ" จำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า พฤติการณ์ตามทางนำสืบ ก็ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับทราบอยู่แล้ว ว่าการจัดสัมมนานั้นเป็นเวลาทับซ้อนกับช่วงเวลา ที่จะเดินทางไปถวาย ผ้าพระกฐินพระราชทานและผ้ากฐินสามัคคีที่วัดในจังหวัดน่าน 3 แห่ง โดยที่การจัดสัมมนานั้นก็จัดในสถานที่และสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้เป็นไปตามคำนิยามของการสัมมนาระเบียบการคลัง ซึ่งไม่สามารถเบิก เงินที่เป็นค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายได้ จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าในการจัดทำโครงการดังกล่าว มีเงินคืนหลวงนับแสนบาทนั้นก็ไม่อาจลบล้าง ความผิดที่ ได้มีการเบิกจ่ายเงินซึ่งไม่มีสิทธิ์ได้ ดังนั้นการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ตามฟ้อง ฎีกาที่จำเลยต่อสู้คดีนั้นฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่ฎีกาจำเลยที่ 1 ขอให้รอการลงโทษนั้น ศาลพิเคราะห์พฤติการแล้วเห็นว่า ระหว่างปฏิบัติหน้าที่นั้น จำเลยที่ 1 ก็ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย และได้เคยประกอบคุณงามความดี ขนาดที่พฤติการณ์ความผิดนี้แม้จะเกี่ยวข้องกับจริยธรรมคุณธรรมของเจ้าพนักงานด้วย แต่เมื่อเห็นว่าการเบิกจ่ายเงินนั้น จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้นำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวของตนเอง อีกทั้งจำนวนเงินในคดีนี้ก็มีจำนวนไม่มาก กับเป็นการกระทำความผิดครั้งแรกจึงสมควรให้โอกาสจำเลย ในการรอการลงโทษไว้ แต่เห็นควรให้เพิ่มการลงโทษปรับ จำเลยที่ 1 ด้วย

จึงพิพากษาแก้เป็นว่า คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาจึงเห็นควรลดโทษให้หนึ่งในสี่คงจำคุกเป็นเวลา 9 เดือน โดยโทษปรับจำนวน 20,000 บาทนั้น เมื่อลดโทษ 1 ใน 4 แล้วคงปรับเป็นเงิน 15,000 บาท โดยโทษจำคุกนั้นให้รอการลงโทษเป็นเวลา 2 ปี


ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ข่าว springnews

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
ประวัติ “ม.ร.ว.ถนัดศรี” นักรีวิวอาหารคนแรกของเมืองไทย