อ่าวนาง..ภูมิใจเสนอ “สายตรวจซาเล้ง” ไอเทมลับ จัดการปัญหาขยะอย่างยั่งยืน

by ThaiQuote, 31 สิงหาคม 2562

เรียนรู้ความสำเร็จของ “อ่าวนาง” แหล่งท่องเที่ยวระดับโลกที่โดนขยะยึดเมือง ใช้ความเข้าใจร่วมกันของคนในชุมชนเป็นสารตั้งต้น ก่อนต่อยอดสู่การจัดการปัญหาขยะอย่างยั่งยืน


โดย...ปกรณ์ ดุลบุตร

 

ชายฝั่งอันดามันเป็นเหมือนของขวัญสุดพิเศษจากธรรมชาติที่มอบให้พี่น้องชาวใต้ในพื้นที่ฝั่งตะวันตก ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์หล่อเลี้ยงชีวิตคนในพื้นที่มายาวนาน ทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา ที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง หรือเพื่อการประมงในเชิงพาณิชย์

ไม่เพียงเท่านั้น ทัศนียภาพที่สวยงามของทะเลฝั่งอันดามันยังเป็นที่ดึงดูดผู้คนให้มาท่องเที่ยว เมื่อมีผู้คนมาเยี่ยมเยือนคนในพื้นที่ได้ให้การต้อนรับด้วยบริการต่างๆ เกิดธุรกิจขึ้นมามากมาย มีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาล สร้างอาชีพสร้างรายได้ นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในพื้นที่

 

แลนด์มาร์กสำคัญของทะเลชายฝั่งอันดามัน “อ่าวนาง” 

 

“อ่าวนาง” คือชายหาดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดกระบี่ ด้วยหาดทรายสีขาวที่ตัดกับน้ำทะเลสีมรกตเป็นเหมือนแม่เหล็กดึงดูดทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้มาเยือนชายหาดแห่งนี้ตลอดทั้งปี ประกอบกับการที่เป็นจุดศูนย์กลางในการต่อเรือไปเที่ยวยังเกาะอื่นๆ ที่มีชื่อเสียง อ่าวนางจึงเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของทะเลชายฝั่งอันดามันที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ

 

 

หากใครที่มีโอกาสไปเที่ยว “อ่าวนาง” จังหวัดกระบี่ จะพบว่านอกจากความสวยงามของชาดหาดแล้ว ดินแดนชายฝั่งอันดามันแห่งนี้มีความ “สะอาด” ผิดไปจากแลนด์มาร์กของแหล่งท่องเที่ยวทั่วไปที่เป็นย่านธุรกิจ มีผู้คน บวกกับร้านค้า ร้านอาหาร ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้มีขยะเกิดขึ้นตามมาเป็นจำนวนมาก

 

 

อ่าวนางยามค่ำคืน

 

 

แต่ทำไม “อ่าวนาง” จึงสะอาดนัก หรือว่าที่นี่จะมีปริมาณขยะน้อยกว่าที่อื่น ข้อสันนิษฐานนี้คงไม่ใช่แน่นอน ตรงกันข้าม มีข้อมูลยืนยันว่าตำบลอ่าวนางมีปริมาณขยะเฉลี่ยสูงถึง 65-70 ตันต่อวัน ดังนั้น การที่ชายหาดอ่าวนางมีความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้ เพราะเกิดจากการดูแล และมีแนวคิดเรื่องบริหารจัดการขยะที่ดีนั่นเอง

 

“ธรรมนูญสุขภาพ” แก้ปัญหาขยะ “อ่าวนาง”

 

ชายหาด “อ่าวนาง” อยู่ในการดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง (อบต.อ่าวนาง) ซึ่งทาง อบต.อ่าวนางให้ข้อมูลว่า ตำบลอ่าวนางมีประชากรประมาณ 13,000-14,000 คน ตามสำมะโนครัวประชากร แต่ด้วยการที่เป็นเมืองท่องเที่ยว จึงมีประชากรแฝงที่เข้ามาทำธุรกิจ ทำให้มียอดรวมผู้คนที่อาศัยอยู่ที่ตำบลนี้สูงราว 30,00-40,000 คน

ด้วยประชากรที่มากจากการเป็นเมืองท่องเที่ยว จึงทำให้อ่าวนางต้องประสบกับปัญหาขยะล้นเมือง โดยข้อมูลจากองค์บริหารงานส่วนตำบลอ่าวนาง (อบต.อ่าวนาง) ระบุว่า ตำบลอ่าวนางมีปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ยวันละ 65-70 ตัน หรือราว 50% ของทั้งหมดในจังหวัดกระบี่ พูดง่ายๆ ก็คือ ขยะทั้งหมดในจังหวัดกระบี่ ครึ่งหนึ่งมาจาก “อ่าวนาง”

แน่นอนว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะ อบต.อ่าวนาง ที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงได้เดินหน้าแก้ปัญหา นำเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ร่วมมือกับสมัชชาสุขภาพจังหวัดกระบี่ จนเกิดเป็น “ธรรมนูญสุขภาพตำบล” ซึ่งก็คือกติกาและแนวทางปฏิบัติเพื่อจัดการขยะร่วมกันของคนในชุมชน จนนำมาสู่ความสำเร็จ “อ่าวนาง” สะอาดขึ้น อยู่ในทิศทางที่ดีในการจัดการขยะอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

ทำความเข้าใจเรื่อง “ธรรมนูญสุขภาพตำบล” อ่าน “อ่าวนาง” ชู “ธรรมนูญสุขภาพ” แก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน 

 

หากเอ่ยถึงความสำเร็จในการจัดการขยะของ “อ่าวนาง” แล้วนั้น มีผลงานหนึ่งที่มีความน่าสนใจและจะไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นก็คือ “สายตรวจซาเล้ง” ที่เป็นหนึ่งโมเดลของการบริการจัดการขยะของ อบต.อ่าวนาง ภายใต้ “ธรรมนูญสุขภาพตำบล”

 

แล้ว “สายตรวจซาเล้ง” คืออะไร

 

เนื่องจากพื้นที่อ่าวนางมีขยะจำนวนมหาศาล เปรียบเสมือนขุมสมบัติของคนเก็บขยะ พวกเขาควบรถซาเล้งตระเวนคัดเลือกของเหลือทิ้งที่ขายได้เปลี่ยนเป็นเงินเพื่อเลี้ยงชีพ
แต่วิธีการทำงานของเหล่าซาเล้งกลับสร้างปัญหาให้กับชุมชน เนื่องจากข้อตกลงที่นี่ คือชาวบ้านต้องเอาขยะใส่ถุงดำ มัดปากถุงให้มิดชิด แล้วเอามาตั้งไว้หน้าบ้าน จากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ อบต.อ่าวนางส่งรถมาจัดเก็บในช่วงเวลา 1 ทุ่มไปจนถึงเที่ยงคืน

 

 

แต่ก่อนที่รถเก็บขยะจะมาถึง เหล่าบรรดาซาเล้งก็จะมาเลือกขยะเพื่อนำไปขาย ใช้มีดคัตเตอร์กรีดถุงดำ รื้อค้นขยะที่มีค่าแล้วจากไป ทิ้งไว้แค่ถุงขยะแหวกขาด สิ่งปฏิกูลทะลักลงมากองเรี่ยราด โสโครก และยากต่อการจัดการให้สะอาดเรียบร้อย

นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจ ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่มอมแมมมอซอ บางคนโพกหัวปิดหน้า สร้างความหวาดระแวงให้ผู้คนในพื้นที่ แน่นอนว่าเมื่อเกิดความไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะเมื่อข้าวของของชาวบ้านสูญหาย กลุ่มซาเล้งมักจะถูกเพ่งเล็งและตกเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่ง

ประกอบกับไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เพราะบางคนคือขาจรจากที่อื่นเพื่อมาเก็บขยะในพื้นที่ ซ้ำร้ายกลุ่มซาเล้งด้วยกันเองยังมีเรื่องกระทบกระทั่งเพราะแย่งพื้นที่ในการเก็บขยะ ทะเลาะเบาะแว้งสร้างความวุ่นวายไม่เรียบร้อย กลายเป็นปัญหาสังคมของอ่าวนางในภาพรวม

 

 

 

จากผู้ร้าย กลายมาเป็นพระเอก

 

องค์การบริหารงานส่วนตำบลอ่าวนางมองเห็นถึงปัญหา จึงหยิบยก “ธรรมนูญสุขภาพตำบล” เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยเรียกเหล่าผู้ประกอบการซาเล้งทั้งหมดมาพูดคุยกัน ทำความเข้าใจถึงปัญหาที่เกิด รับฟังมุมมองจากทุกด้าน จนได้ข้อสรุปคือการขึ้นทะเบียนกลุ่มผู้ประกอบการ จากซาเล้งธรรมดา ยกระดับเป็น “สายตรวจซาเล้ง”

 

 

เพื่อพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส อบต.อ่าวนาง จัดระเบียบซาเล้งทั้งหมด ทำการขึ้นทะเบียน ด้วยการแบ่งพื้นที่ในการทำงานให้ชัดเจน ถ่ายรูป เก็บหลักฐานทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน มีหมายเลขประจำตัว ได้รับอนุญาตจากผู้บริหารท้องถิ่นให้ขนและคัดแยกขยะในพื้นที่อ่าวนางได้โดยไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ได้มีการทำความเข้าใจร่วมกันโดยต้องอยู่ภายใต้กติกา คือ

-ระหว่างดำเนินงานต้องสวมเสื้อกั๊กสีเขียว (มีหมายเลขประจำตัวติดอยู่ด้านหลังเสื้อ) ตลอดช่วงเวลาที่ตระเวนเก็บขยะ

-เมื่อรื้อและเลือกเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องมัดปากถุงให้เรียบร้อย ห้ามกรีดถุงขยะเด็ดขาด

-ต้องร่วมกิจกรรม Big Cleaning Day ทุกเดือน รวมทั้งร่วมกิจกรรมจิตสาธารณะต่างๆ ในพื้นอ่าวนาง

และสุดท้ายอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญ คือการเป็นหูเป็นตา คอยสอดส่องหากพบเห็นสิ่งผิดปกติหรือไม่ชอบมาพากลอย่างใดยามค่ำคืน ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทันที เป็นเหมือน “สายตรวจ” ยามค่ำคืนในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวที่มักจะมีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้นอยู่เสมอ

 

 

 

ความในใจของผู้ปิดทองหลังพระ

 

“อดิศักดิ์ แซ่หลี” หรือพี่อี๊ด หนึ่งในสายตรวจซาเล้ง เปิดเผยว่า ทำอาชีพเก็บขยะขายมาตั้งแต่อายุ 18 เจอมาทุกรูปแบบในจักรวาลของการเก็บขยะ ก่อนหน้าหน้าตระเวนเก็บไปทั่ว คนทั่วไปไม่ค่อยชอบขี้หน้าเพราะมองว่าเป็นต้นเหตุของความสกปรกที่ชอบมารื้อขยะ แถมบ่อยครั้งด้วยรูปแบบการทำงานยังถูกสงสัยว่าเป็นหัวขโมย

“มักจะถูกมองด้วยสายตาที่ไม่ไว้วางใจ หากมีของหาย ซาเล้งอย่างพวกเราก็จะถูกสงสัยเป็นลำดับแรกๆ” พี่อี๊ด กล่าว

ส่วนการขึ้นทะเบียนซาเล้งนั้น พี่อี๊ดระบุว่า เห็นด้วยเป็นอย่างมาก เพราะทำงานได้อย่างเปิดเผย เบอร์ที่ติดหลังเสื้อกั๊กเป็นการแสดงตัวตน หากทำไม่ดีแล้วมีผู้พบเห็นจำเบอร์แล้วไปร้องเรียนได้ทันที การทำงานจึงมีความเป็นระเบียบมากขึ้น ตรวจสอบได้ อีกทั้งมีการแบ่งพื้นที่เก็บชัดเจน ซาเล้งจากที่อื่นเข้ามาเก็บไม่ได้ ไม่มีปัญหาการแย่งเก็บ ส่วนรายได้ก็ค่อนข้างคงที่มากกว่าแต่ก่อน ปัจจุบันแยกแล้วขายได้ประมาณ 100 กิโลกรัมต่อวัน ได้เงินไม่ต่ำกว่า 30,000-40,000 ต่อเดือน

 

 

“พี่อี๊ด” คือซาเล้งชุดแรกที่ทำการลงทะเบียนเป็นสายตรวจ เบอร์ 3 หลังเสื้อกั๊กเป็นการการันตี ซึ่งเจ้าตัวอยู่ในพื้นที่มานานได้เล่าอีกว่า สำหรับเมืองท่องเที่ยวอย่างอ่าวนาง ร้านค้า ร้านอาหาร และสถานบันเทิงต่างๆ กว่าจะเลิกก็ดึกมาก ยามค่ำคืนก็จะมีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ อาชีพเก็บขยะทำงานดึกก็เลยรับหน้าที่ช่วยตรวจตรา เป็นหูเป็นตาให้ตำรวจ

สุดท้าย พี่อี๊ดได้บอกสั้นๆ ว่า

“อยากให้เมืองสะอาด”

แต่เมื่อถามกลับไปว่า หากเมืองสะอาด ไม่มีขยะ ก็จะส่งผลกระทบให้รายได้ลดลง!

เมื่อได้ฟังคำถาม เจ้าของเสื้อกั๊กเบอร์ 3 ยิ้มแล้วตอบว่า

“เมืองท่องเที่ยวยังไงก็ต้องมีขยะ คำว่าสะอาดหมายถึงความเรียบร้อย เป็นระเบียบ และมีการจัดเก็บที่เป็นระบบ”

............................................

 

 

ปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนตำบลอ่างนาง มี “สายตรวจซาเล้ง” หรือซาเล้งที่ขึ้นทะเบียนไว้ทั้งหมด 52 ราย หากคำนวณง่ายๆ ว่าแต่ละคันแยกขยะออกไปขายได้วันละ 100 กิโลกรัม ก็เท่ากับช่วยนำขยะออกจากระบบได้ถึงกว่าวันละ 5 ตัน นับว่ากลุ่มซาเล้งคือส่วนสำคัญในการลดขยะ เป็นผู้ปิดทองหลังพระอย่างแท้จริง

 

 

สำหรับอ่าวนางแล้ว นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ และหากจะมองหาปัจจัยของความสำเร็จที่เกิดขึ้นของโครงการนี้ คงต้องยกความดีความชอบให้กับ “ธรรมนูญสุขภาพ” ซึ่งคือหัวใจหลักในการทำหน้าที่เป็นตัวกลาง “เชื่อมโยงความเข้าใจ” ของคนในชุมชนกับภาคส่วนที่กำกับดูแล และจากความเข้าใจนี้เองจึงนำไปสู่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกจุด

 

แม้จะเป็นเพียงจุดเล็กๆ ของความสำเร็จ แต่ก็เป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดีในการก้าวสู่แนวทางการจัดการขยะอย่างยั่งยืนของชุมชน “อ่าวนาง”

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
“อ่าวนาง” ชู “ธรรมนูญสุขภาพ” แก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน