โรงไฟฟ้าชุมชน…ประชาชนได้อะไร?

by ThaiQuote, 23 กันยายน 2562

โดย...กองบรรณาธิการ ThaiQuote

เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันปริมาณความต้องการไฟฟ้าในประเทศมีการขยายอย่างตัวอย่างต่อเนื่อง ด้วยผลจากเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ในขณะที่แผนการจัดหาไฟฟ้าของประเทศยังมีข้อจำกัดในการเลือกเชื้อเพลิง เนื่องจากเป็นห่วงกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงมีแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนในท้องถิ่น เพื่อเป็นทางเลือกให้มีโรงไฟฟ้ากระจายในทุกพื้นที่ของประเทศ

โรงไฟฟ้าชุมชน เป็นอย่างไร?

โรงไฟฟ้าชุมชน คือ โรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีศักยภาพในท้องถิ่นตนเอง เช่น พลังงานลม น้ำ แสงอาทิตย์ หรือชีวมวล การปลูกพืชพลังงาน เป็นแหล่งพลังงานโดยมีชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการโรงไฟฟ้าด้วยตนเอง


รูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชน ควรดำเนินการแบบไหนดี?

ทางด้านชมรมนักวิทยาการพลังงานรุ่นใหม่ (ชวพม.) ได้ระดมความคิดเรื่อง : โรงไฟฟ้าชุมชน…ประชาชนได้อะไร?” เป็นเวทีระดมสมองจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมความเห็นเสนอนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน นำไปเป็นแนวทางการกำหนดหลักเกณฑ์การส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนของรัฐบาลต่อไป โดยคุณสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) มองว่า นโยบายการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อสร้างรายได้ ลดรายจ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชนฐานรากนั้นถือเป็นนโยบายที่ดี ดังนั้นนิยามโรงไฟฟ้าชุมชน โดยชุมชน


เพื่อชุมชน โดยรูปแบบการลงทุนที่เสนอคือ ตั้งเป็นบริษัท ไฟฟ้าประชารัฐ จำกัด ที่ร่วมทุนระหว่างรัฐ 40% และบริษัทชุมชนประชารัฐ 60%

สำหรับหน่วยงานรัฐที่จะมาร่วมลงทุนนั้นได้แก่ รัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน กฟภ. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นต้น ส่วนบริษัทชุมชนประชารัฐนั้นก็จะมาจากวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะประกอบด้วยสมาชิกในชุมชนไม่น้อยกว่า 7 คน โดยต้องไม่อยู่ในครอบครัวเดียวกันเป็นต้น 

 

แนวคิดโรงไฟฟ้าชุมชน คุณสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)

แนวคิดโรงไฟฟ้าชุมชน คุณสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)


แนวคิดโรงไฟฟ้าชุมชน คุณสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)
ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น ควรจะใช้เชื้อเพลิงจากพืชพลังงานที่ปลูกในชุมชน เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยใช้เงินลงทุนขนาด 2-3 เมกะวัตต์อยู่ที่ 222-390 ล้านบาท ซึ่งจากการประเมินศักยภาพสายส่งจะสามารถรองรับการผลิตไฟชุมชนได้ทั้งหมดทั่วประเทศ 4,000 เมกะวัตต์หรือคิดเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนได้ราว 1,563 แห่งแบ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพขนาด 1-3 เมกะวัตต์ 564 แห่ง โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 3 เมกวัตต์ 999 แห่ง ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้าควรอยู่ระหว่าง 5.22-5.84 บาท/หน่วย แต่ระยะแรกคาดว่าจะเกิดได้ราว 700 เมกะวัตต์

แนวคิดโรงไฟฟ้าชุมชน คุณ นที สิทธิประศาสน์ ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก

แนวคิดโรงไฟฟ้าชุมชน คุณ นที สิทธิประศาสน์ ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก


แนวคิดโรงไฟฟ้าชุมชน คุณ นที สิทธิประศาสน์ ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก
ส่วนคุณ นที สิทธิประศาสน์ ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล มองว่า รูปแบบลงทุนของโรงไฟฟ้าชุมชนควรมาจากชุมชน 30% และภาคเอกชน 70% และเชื้อเพลิงต้องไม่ใช้พืชเกษตรที่ได้จากการแปรรูปแล้วเช่น แกลบจากโรงสีข้าว กากอ้อยจากโรงงานน้ำตาล แต่ต้องเน้นเชื้อเพลิงจากเศษวัสดุทางการเกษตรที่ไม่เป็นเชิงพาณิชย์มาก่อนเช่น ซังข้าวโพด ใบอ้อย ฟางข้าว ฯลฯ โดยใช้เงินลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 3 เมกะวัตต์ จะอยู่ที่ราว 280 ล้านบาท ขณะที่ราคารับซื้อไฟฟ้าควรเป็นในรูปFiT จะมากกว่า 4.24 บาท/หน่วย และอยากให้รัฐทำเป็นโครงการนำร่อง ที่มีการยกเว้นกฏระเบียบ บางข้อ แบบเดียวกับโครงการ sandbox ของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)

แนวคิดโรงไฟฟ้าชุมชน  คุณรังสฤษฏ์ คุณชัยมัง ประธานมูลนิธิวิสาหกิจพลังงานชุมชน

แนวคิดโรงไฟฟ้าชุมชน คุณรังสฤษฏ์ คุณชัยมัง ประธานมูลนิธิวิสาหกิจพลังงานชุมชน


แนวคิดโรงไฟฟ้าชุมชน คุณรังสฤษฏ์ คุณชัยมัง ประธานมูลนิธิวิสาหกิจพลังงานชุมชน
ส่วนอีกท่านหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย คือแนวคิดของ คุณรังสฤษฏ์ คุณชัยมัง ประธานมูลนิธิวิสาหกิจพลังงานชุมชน ที่มองว่า โรงไฟฟ้าชุมชนจะต้องให้ชุมชนถือหุ้น100% เพราะเป็นของชุมชน และที่เหมาะสมและควรทำก่อนคือพื้นที่ห่างไกลสายส่งไฟฟ้า และไม่มีไฟฟ้าใช้ เช่น บนเกาะ พื้นที่ชุมชนชายขอบ ที่มีอยู่กว่า50,000ครัวเรือน และควรสร้างเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ไม่เกิน50กิโลวัตต์ โดยเงินลงทุนก็ไม่ต้องใช้มากแค่ 3-6 ล้านบาท เพราะเป็นโรงไฟฟ้าในระดับหมู่บ้านโรงไฟฟ้าชุมชนประมาณ 3-6 ล้านบาทโดยชุมชนสามารถที่จะเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าได้เองทั้งหมด 100% ด้วยการยืมเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า หรือกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาดำเนินการก่อน และเมื่อขายไฟฟ้าได้ค่อยทยอยชำระคืน ภายในระยะเวลา 6 ปี สำหรับค่าไฟฟ้าFIT4.24 บาทต่อหน่วย และบวกเพิ่มให้อีก 1 บาท รวมเป็น 5.24 บาทต่อหน่วย เพราะเป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนค่าขนส่งสูงกว่าพื้นที่ปกติ

ข้อดีของโรงไฟฟ้าชุมชน คืออะไร ?
1. ช่วยลดปัญหาของเหลือใช้ทางการเกษตรได้ เพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
2. ใช้เงินลงทุนไม่สูงมากนัก แต่เสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าในท้องถิ่น
3. สร้างความเข้มแข็งและการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานของชุมชน ด้วยการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ชุมชนที่ไม่มีไฟฟ้าได้มีไฟฟ้าใช้ในราคาถูก
5. เป็นพลังงานสะอาด ไม่ก่อมลพิษ ช่วยลดภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ โดยการใช้พลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้าแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล จึงช่วยลดการพึ่งพาและการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ

6. สามารถเข้าร่วมโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism : CDM) เพิ่มรายได้แก่ชุมชนด้วยการขายคาร์บอนเครดิตอีกทางหนึ่ง
7. ของเหลือจากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้านำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ขี้เถ้าซึ่งมีสารฟอสฟอรัสอยู่มาก ก็นำมาผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้ในการเกษตรของ ชุมชนได้ เพื่อลดต้นทุนให้เกษตรกรได้

แล้วชาวบ้านในชุมชนจะได้ประโยชน์อะไร?


ประการแรกเลย ทำให้ชุมชนมีพลังงานไฟฟ้าใช้ในพื้นที่อย่างยั่งยืน ส่วนที่เหลือยังสามารถขายให้รัฐบาลเป็นรายได้กลับมาสู่ชุมชนอีกด้วย

ประการที่สอง ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชน จากการขายไฟฟ้าให้รัฐ นอกจากนี้ ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนที่เหลือจากการเผาไหม้คือ ขี้เถ้า ซึ่งมีสารฟอสฟอรัสเป็นจำนวนมาก และสามารถนำมาใช้ในการผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้ในการเกษตรของ ชุมชนได้ โดยมีการจัดทำโครงการให้ความรู้แก่ ชุมชนโดยรอบในเรื่องการผลิตปุ๋ยชีวภาพจากขี้เถ้าทำให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ไปใช้เพื่อลดต้นทุนทาง การเกษตรได้

สร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน จำเป็นจะต้องได้รับเงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าตามต้นทุนที่เป็นจริงหรือในรูปของ Feed in Tariff ระยะยาว ในอัตรา 5.22-5.84 บาทต่อหน่วย เพื่อให้คุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าในส่วนค่าเอฟที ที่จัดเก็บกับประชาชน 7-8 สตางค์ต่อหน่วย


แต่ประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ ซึ่งกรณีโรงไฟฟ้าชุมชนขนาด 1 เมกะวัตต์ จะใช้พื้นที่ปลูก 10 ไร่ ทำให้เกิดรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนหักค่าใช้จ่ายแล้ว อยู่ที่ประมาณ 1-1.6 แสนบาทต่อครัวเรือนต่อปี ถือเป็นรายได้ที่ไม่น้อยเลยทีเดียว ไฟฟ้าที่ผลิตได้ จะจ่ายให้ชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ ก็ต้องกันพื้นที่ไว้ เช่น พื้นที่ปลูกข้าว ก็ต้องกันไว้ให้ปลูกพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์ แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องมีการจัดโซนนิ่งรับซื้อเชื้อเพลิงเฉพาะในชุมชนก่อน และประกันราคารับซื้อเชื้อเพลิงจากชุมชนด้วย


แต่ที่สำคัญ คือ ประชาชนทั่วไปต้องยอมรับว่าการสนับสนุนจะมีผลให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นบ้าง เช่น หากโรงไฟฟ้าชุมชนเข้าระบบ 500- 1,000 เมกะวัตต์ที่เป็นแบบ Firm (จ่ายไฟ 24 ชม.) หรือ NON-FIRM จะกระทบค่าไฟฟ้าเพิ่มประมาณ 20 สตางค์ต่อหน่วย ถ้ามองแบบภาพรวม เพื่อจะช่วยพี่น้องประชาชนฐานรากในชุมชนต่างๆให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ที่ดีขึ้น ก็ถือว่าไม่ได้กระทบอะไรมากมาย ถ้าเรามองในแง่ดี ก็ถือเป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นช่วยโลกเราได้อีกทางหนึ่งด้วย


สุดท้ายนี้ ต้องบอกว่าอันที่จริงแนวคิดทำโรงไฟฟ้าชุมชนเคยมีการพูดถึงมานานพอสมควรแล้ว แต่ไม่มีรัฐมนตรีคนไหนส่งสัญญาณชัดเจนเท่านี้ และสร้างความมั่นใจถึงขนาดเป็นศูนย์กลางพลังงานอาเซียน ฉะนั้นถ้าแผนงานของคุณสนธิรัตน์มีโอกาสทำสำเร็จเห็นผลจริง ต้องขอเอาใจช่วยเต็มที่ โครงการนี้จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงของผู้นำอย่างภาครัฐ และทุกภาคส่วนพร้อมที่จะร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมกัน เพื่อประโยชน์ของประชาชนและการพัฒนาประเทศ ชาวบ้านฐานรากจะได้สุขสบาย ชุมชนห่างไกลได้มีไฟฟ้าใช้ทั่วถึงกว่านี้แน่นอน

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
"สนธิรัตน์"ผนึกกำลัง”ธ.ก.ส.-กองทุนหมู่บ้าน" หนุนโรงไฟฟ้าชุมชน