กนอ.เฝ้าระวังนิคมฯพื้นที่เสี่ยง สั่งเกาะติดปริมาณน้ำใกล้ชิด

by ThaiQuote, 20 ตุลาคม 2560

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการ กนอ. เฝ้าระวังอุทกภัย ตลอด 24 ชั่วโมง และ ติดตามข้อมูลข่าวสารการพยากรณ์อากาศ จาก กรมชลประทาน และ กรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด ยังไม่มีนิคมอุตสาหกรรมใดได้รับผลกระทบ “ขณะนี้ปริมาณน้ำ โดยรอบนิคมฯในพื้นที่ต่างๆ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ กนอ. สั่งการให้ยกระดับเฝ้าระวัง โดยให้มีการเตรียมพร้อมเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ ในพื้นที่และเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงได้มีการสื่อสาร ข้อมูลการตรวจสอบระดับน้ำ สถานการณ์น้ำ รอบนิคมฯให้กับผู้ประกอบการอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ นิคมฯ ที่อยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น นิคมฯ บางปะอิน นิคมฯ บ้านหว้า (ไฮเทค) นิคมฯ สหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ ซึ่งส่วนใหญ่ได้สร้างเขื่อนคอนกรีตที่มีประสิทธิภาพและมีความมั่นคงแข็งแรงของคันป้องกันน้ำท่วมที่เพียงพอต่อการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที”นายวีรพงศ์ กล่าว ทั้งนี้แนวทางการเตรียมรับมือ กนอ.จะจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมศูนย์ปฏิบัติการ กนอ.ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานงานกับนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร update สถานการณ์ และประสาน ความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน รวมถึงกำกับให้นิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งปฏิบัติตามแผนป้องกันน้ำท่วม ได้แก่ 1) จัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเวรตลอด 24 ชั่วโมง 2) ติดตามข้อมูล ข่าวสาร และพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง 3) ให้มีการสื่อสารข้อมูลการตรวจสอบระดับน้ำ/สถานการณ์ของน้ำ รอบนิคมฯให้แก่ผู้ประกอบการ ในนิคมอุตสาหกรรมอย่างสม่ำเสมอ 4) สำรวจและเสริมความมั่นคงแข็งแรงของคันดินป้องกันน้ำท่วม 5) เตรียมความพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วม เครื่องสูบน้ำระบายน้ำและเครื่องจักรอุปกรณ์ 6) จัดหาเครื่องสูบน้ำสำรอง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง กระสอบทราย และอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมใช้งาน 7) ขุดลอกและพร่องน้ำในลำรางระบายน้ำและบ่อเก็บกักน้ำฝนภายในนิคมฯ โดยระวังไม่ให้กระทบต่อชุมชนใกล้เคียง 8) ตรวจสอบระดับน้ำของจุดเฝ้าระวังโดยรอบพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ และประสานงานกับกรมชลประทาน/ กรมอุตุนิยมวิทยา อย่างใกล้ชิด 9) บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมชลประทาน ทหาร และท้องถิ่น เพื่อรองรับสถานการณ์ 10) ฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดเหตุอุทกภัยของนิคมฯ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เป็นประจำทุกปี 11) ตรวจสอบคันดินรอบนิคมอุตสาหกรรมให้อยู่ในสภาพที่ได้มาตรฐาน 12) จัดเตรียมอุปกรณ์สำรองฉุกเฉิน เขื่อนกั้นน้ำติดตั้งเร็ว จำนวน 2,188 ชุด มีความสูงประมาณ 1.20 เมตร มีความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งจะสามารถติดตั้งได้รวดเร็วในทุกสภาพพื้นที่ ดังนั้น กนอ. จึงมั่นใจว่ามาตรการทั้งหมดข้างต้นจะสามารถรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่อง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ

Tag :