"ความรุนแรงในครอบครัว" พุ่งทะยาน "ฆ่าซ้ำ-เจ็บซ้อน" ไม่ได้หายจากสังคมไทย

by ThaiQuote, 29 ตุลาคม 2562

บนเวที “ฆ่าซ้ำ เจ็บซ้อน ความรุนแรงในครอบครัวพุ่ง เกินตั้งรับ” ที่เป็นวงเสวนาเพื่อรายงานสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของขวบปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ก็ทำให้สังคมเมืองไทยต้องก้มหน้าและรับทราบข้อมูลของการใช้ความรุนแรงภายในบ้าน หรือครอบครัว ด้วยความสลด

เพราะบ้าน น่าจะเป็นที่ถิ่นสุดท้ายที่คอยพักพิงกาย และใจ และคอยโอบอุ้ม คุ้มครอง ให้ความปลอดภัยกับสมาชิกทุกคนที่อยู่ร่วมกัน แต่สำหรับบางครอบครัว หรือจะเอ่ยว่า "ส่วนใหญ่" ก็คงไม่ระคายปากเท่าใดนัก เพราะพวกเขาเหล่านั้น ยังต้องอยู่ในบ้าน ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง

จรีย์ ศรีสวัสดิ์ เปิดฉากเวทีเสวนาในเรื่องนี้เอาไว้ด้วยข้อมูลจากการสำรวจ ตรวจสอบ และวิเคราะห์ และทั้งหมดคือสิ่งที่ใครก็มาหักล้างไม่ได้ว่าในบ้านหรือครอบครัวของเมืองไทย ความรุนแรงยังคงมีอยู่จริง


เธอยกตัวอย่างของหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศรวมทั้งหมด 10 ฉบับตั้งแต่มกราคม - ธันวาคม 2561 ซึ่งเกิดข่าวความรุนแรงในครอบครัว สูงถึง 623 ข่าว สูงกว่าปี 2559 ร้อยละ 35.4 ในจำนวนนี้มีปัจจัยกระตุ้นที่เชื่อมโยงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 108 ข่าว หรือประมาณ 17.3% ทั้งนี้หากแบ่งตามประเภทข่าว พบว่า อันดับ1เป็นข่าวฆ่ากันตาย 384 ข่าว รองลงมา ฆ่าตัวตาย 93 ข่าว การทำร้ายกัน 90 ข่าว ตั้งครรภ์ไม่พร้อม 33 ข่าว และความรุนแรงทางเพศของคนในครอบครัว 23 ข่าว

และในจำนวนข่าวคราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด พบว่า ข่าวสามีฆ่าภรรยา สูงถึง 73.3% รองลงมาคือแฟนหนุ่มฆ่าแฟนสาว 58.2% และที่เกือบถึงครึ่งคือข่าว ลูกฆ่าพ่อแม่ที่สูงถึง 46.5%

"ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือข่าวทั้งหมดที่เกิดความรุนแรงขึ้นในครอบครัว วงศาคณาญาติ ทำให้มีคนเสียชีวิตมากถึง 443 คน สูงกว่าปี 2559 ถึง 173 คน หรือมันมากกว่าถึง 64%" จรีย์ ยิงข้อมูลเข้าเวทีเสวนา และมันเป็นการบ่งบอกที่ชัดแจ้งว่าความรุนแรงในครอบครัวของเมืองไทย ไม่ได้ลดต่ำลง หากแต่จะเพิ่มขึ้นอย่างหนักหน่วง

หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เสริมพร้อมจำแนกพื้นที่ที่มีการฆ่ากันตายมากที่สุดอีกด้วยว่า เบอร์หนึ่งในสถิติทีเกิดขึ้นก็คือ "กรุงเทพมหานคร" เมืองหลวงอันศิวิไลซ์ แต่ก็มีด้านมืดที่หนักหน่วงมากกว่าจังหวัดอื่นๆ รองลงมาคือจังหวัดพิจิตร และถัดมาคือฉะเชิงเทรา แต่ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าที่ผ่านมา ข่าวคราวการฆ่ากันตายมักกระจุกอยู่แต่กับเมืองใดเมืองหนึ่ง หรือในเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น แต่ในปี 2561 การฆ่ากันตายได้แผ่ขยายไปเกือบจะครอบคลุมทุกจังหวัดเลยทีเดียว


ทางออกสำคัญของปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และสังคม ถูกกระตุ้นให้เกิดการแสวงหาแสงสว่างนี้อีกครั้ง ซึ่งประเด็นนี้ อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สะท้อนถึงปัญหาไว้ว่าสังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงของความ "เปราะบาง" และทุกคนไม่สามารถจะใช้วิธีการทำงานเพื่อแก้ปัญหานี้แบบตั้งรับกันได้อีกต่อไป เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้น มากขึ้น และรุนแรงขึ้น มันมากเกินกว่าที่จะใช้วิธีคุ้นชินแบบเดิมเข้ามาแก้ไขปัญหา

อังคณา เสนอแนวทางถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนหยั่งรากลงระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงเอาไว้ 4 ข้อ ประกอบด้วย

1.สร้างความตระหนักให้สังคมเข้าใจในเรื่องความรุนแรงในครอบครัว รณรงค์อย่างต่อเนื่องให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญ ปรับทัศนคติ ความคิด ความเชื่อว่าเรื่องครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ทุกคนต้องเคารพในสิทธิเนื้อตัวของกันและกัน
2.ใช้กลไกชุมชนเป็นฐานลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวโดยผู้นำชุมชนจะเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง กระตุ้นให้คนในชุมชนไม่นิ่งเฉย ได้รับการส่งเสริมพัฒนารู้วิธีการจัดการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวระดับชุมชนได้

3.ควบคุมปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยกระตุ้น ทั้งอาวุธปืน และการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

และ 4.การแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ต้องกลับไปตั้งหลักกันใหม่โดยมุ่งคุ้มครองผู้ถูกกระทำเป็นหลักก่อน เพราะการมุ่งรักษาสถาบันครอบครัวในขณะที่มีการกระทำความรุนแรงนั้น อาจนำมาซึ่งความสูญเสียเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าและบานปลายได้


ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
“อนาคตใหม่” จ่อเสนอกรรมการสถานศึกษา ลดความรุนแรงในโรงเรียน